ระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาค กับคำถามว่า ... เพื่ออะไร

ระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาค  กับคำถามว่า ... เพื่ออะไร

คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ทำการศึกษาในการจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจขึ้นในภูมิภาคทั้ง 4 ภาค โดยให้หลักเกณฑ์การพิจารณาพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษขึ้นใหม่นั้นต้องมีพื้นที่ที่เชื่อมโยงของการพัฒนาตั้งแต่ 3 จังหวัดขึ้นไป

นอกจากนี้ยังต้องมีตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์มีความได้เปรียบพื้นที่ที่มีศักยภาพและความพร้อมในการพัฒนา มีเครือข่ายกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สามารถเชื่อมโยงในลักษณะห่วงโซ่มูลค่า และที่สำคัญลักษณะการพัฒนาที่เป็นระเบียบจะช่วยสร้างรายได้ให้กับภาคธุรกิจและประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งประชาชนและภาคส่วนในพื้นที่ยอมรับและสนับสนุน

สาเหตุของการจัดตั้งครั้งนี้ เป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ที่ดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน แต่ตอนนี้กลับมาสร้างระเบียงเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมา ผมไม่แน่ใจในสาเหตุว่าทำไม อาจเป็นเพราะที่ผ่านมาความก้าวหน้าในการลงทุน การค้า และการพัฒนาในพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้ผลอย่างที่วางไว้ หรือคนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา เห็นความก้าวหน้าของ EEC ที่มีโครงสร้างพื้นฐานลงไปมากมาย รวดเร็ว ก็อยากมีอย่างนั้นบ้าง โดยไม่ได้มองในทุกมิติให้ครบ ซึ่งผมไม่รู้ว่าใครกลุ่มไหนอยากจะให้เป็น ก็ขอให้การศึกษาจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาคทั้ง 4 ภาคดูให้ดี ๆ และถามทุกภาคส่วนให้ชัด ๆ ไม่เช่นนั้นจะเหมือนพื้นที่ EEC ตอนนี้ที่คนในพื้นที่ยังไม่มีคำตอบให้เขาชัด ๆ ว่าเขาได้อะไร เดี๋ยวก็มีปัญหา คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า หรอกครับ

ในเบื้องต้นที่ ครม. เห็นชอบให้พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือประกอบด้วยจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบไปด้วยจังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย ระเบียงเศรษฐกิจภาคกลาง-ตะวันตก ประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งผมแปลกใจมากว่าทำไมต้องเป็นจังหวัดเหล่านี้และแค่นี้ จะว่าสร้างบนพื้นฐานการเชื่อมโยงในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้วก็ไม่น่าใช่ เพราะไม่ค่อยเห็นการเชื่อมโยงทางห่วงโซ่อุปทานมากนัก เนื่องจากประเทศไทยเป็นพื้นที่เล็ก ทรัพยากรถูกดึงไปส่วนกลางหรือแหล่งผลิตใกล้ ๆ กรุงเทพเกือบหมด ไม่เหมือนประเทศจีนที่เมืองเขาใหญ่ ๆ แตกต่างกันมาก และอยู่ห่างกันมาก

ตอนนี้ผมยังคิดไม่ออกว่าเหตุผลที่มีการเรียกร้องให้มีระเบียงภูมิภาคเหล่านี้จริง ๆ คืออะไร สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการทำธุรกิจ เช่น ภาษี และการขออนุญาตกิจกรรมเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ยุ่งยาก และมีข้อห้าม เช่น ผังเมือง ฯลฯ ผมก็เข้าใจพวกเขาเต็มเปี่ยมครับ แต่ต้องมีกลยุทธ์ในการลุยกับหน่วยงานราชการดี ๆ ถ้าการเป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษฯ แล้วไปยกเลิกอำนาจตามกฎหมายของเขา ต้องมี พรบ. ของตนเองเหมือน EEC และลองไปถาม EEC ดูครับว่า แม้ว่าจะมี พรบ. ของตนเองแล้ว การลงทุนในกิจกรรมทางธุรกิจได้รับสิทธิเหนือคนอื่นมากน้อยอย่างไร และต้องสร้างจิ๊กซอว์อื่น ๆ เพิ่มมากขนาดไหนเพื่อให้เกิดความสนใจ ทั้ง ๆ ที่มีพื้นฐานเดิมจากอีสเทิร์นซีบอร์ดมามหาศาลก็ตาม ก็ยังเห็นเลขาธิการ สกพอ. น้ำหนักลดลงทุกปี

ผมทราบว่ามติ ครม. เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2564 ได้มอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพในการเดินต่อเรื่องนี้ และให้ สศช. ศึกษาการกำหนดหลักเกณฑ์การตั้งระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาคฯ ก็อยากจะฝากไว้อย่างหนึ่งครับว่า ถ้าจะสร้างให้เป็นแบบ EEC ก็ให้นึกว่า การสร้าง EEC คือ การสร้างเมืองใหม่ สร้างชุมชนใหม่ ไม่ใช่สร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่ นะครับ

ผมมีคำถามที่สงสัยอยู่ไม่กี่ประเด็นที่เกี่ยวกับ EEC จากเหตุการณ์นี้ คือเราจะเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจใหม่นี้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและ EEC อย่างไร และในเชิงยุทธศาสตร์ของไทยที่กำหนดให้ EEC เป็นฮับการลงทุนของ ASEAN เพราะที่เราได้ทุ่มทรัพยากร พลังกาย พลังใจ และเดินทางไปชวนเขามาดู สร้างชื่อ EEC จนติดหู ติดตา ของนักลงทุนทั่วโลกไปแล้ว และการสร้างระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในทุกภาคของประเทศนั้นจะส่งผลต่อภาพ EEC อย่างไร

บทความโดย ดร.สมชาย หาญหิรัญ สมาชิกวุฒิสภา