หาจุดสมดุล อุ้มราคาน้ำมัน ภารกิจท้าทายของรัฐบาล

หาจุดสมดุล  อุ้มราคาน้ำมัน ภารกิจท้าทายของรัฐบาล

นโยบายการตรึงราคาน้ำมัน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้กลไกกองทุนในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ

นโยบายการตรึงราคาน้ำมันเป็นแนวทางที่หลายรัฐบาลดำเนินการต่อเนื่องมามากกว่า 40 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤติน้ำมันเมื่อปี 2520 ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรัฐบาลได้มีการจัดตั้งกองทุนรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ผู้ค้าน้ำมันส่งเงินเข้ากองทุนรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ค้าน้ำมัน ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้กลไกกองทุนในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ และหลังจากนั้นกองทุนลักษณะดังกล่าวได้มีพัฒนาการต่อเนื่อง

จนกระทั่งปัจจุบันมีการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเป็นเครื่องมือในการดูแลรักษาเสถียรภาพของระดับราคาขายปลีกน้ำมัน เชื้อเพลิงภายในประเทศ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2548 และรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในช่วงนั้นได้เข้ามาดูแลราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด โดยได้มีการกู้เงินเพื่อนำมาพยุงราคาน้ำมันดีเซลจนทำให้รัฐบาลมีภาระหนี้ถึง 90,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการประเมินทิศทางราคาน้ำมันผิดพลาดเพราะราคาไม่ลดลงและรัฐบาลไม่สามารถยกเลิกการพยุงราคาน้ำมันดีเซลได้เพราะกังวลกระทบต้นทุนการขนส่ง

ในขณะที่ราคาน้ำมันดีเซล 30 บาท เป็นระดับราคาที่ถูกใช้มาตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2554 ซึ่งในขณะนั้นมีข้อเสนอหลายแนวทางเพื่อพยุงราคาน้ำมันนับตั้งแต่การชดเชยราคาน้ำมันและการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน โดยมีข้อเสนอให้มีการกู้เงินเพื่อมาอุดหนุนน้ำมันแต่มีแรงคัดค้านเพราะจะเป็นภาระของรัฐบาลในอนาคต และหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันก็มีการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแลราคาทั้งน้ำมันและก๊าซหุงต้มมาอย่างต่อเนื่อง

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก โดยในปี 2563 ความต้องการใช้น้ำมันลดลงจนทำให้ราคาน้ำมันต่ำลงเป็นประวัติการณ์ และเมื่อสถานการณ์การระบาดในหลายประเทศดีขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเทศกลับมาเกือบเป็นปกติ และทำให้ความต้องการใช้น้ำมันในปี 2564 เริ่มปรับตัวเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงหลังโควิด-19 ก็เป็นไปได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ว่าจะเลือกใช้แนวทางใดในการพยุงราคาน้ำมันดีเซลเพื่อให้อยู่ในระดับที่ต้องการเป็นเรื่องยาก เพราะย่อมส่งผลกระทบถึงด้านอื่นไม่ว่าจะเป็นการกระทบต่อฐานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลกรณีมีการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และผลกระทบต่อภาระการคลังหากต้องมีการกู้เงินเพื่อนำมาพยุงราคาน้ำมัน และช่วงที่ประชาชนได้รับผลกระทบอยู่ก็จำเป็นต้องพยุงราคาน้ำมัน แต่ต้องดำเนินการในระดับที่เหมาะสม