องค์การสะพานปลา เล็งบูม "อ่างศิลา " หลังโควิด

องค์การสะพานปลา เล็งบูม "อ่างศิลา "  หลังโควิด

ตลาดปลาอ่างศิลา เป็นรูปแบบในการพัฒนาสะพานปลาโฉมใหม่ ที่องค์การสะพานปลา(อสป.ตั้งใจ ให้เป็นแลนด์มาร์กของ จ.ชลบุรี ที่เชื่อมต่อกับแหล่งท่องเที่ยวแห่งอื่น สอดรับกับนโยบายเขตการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

ปรีดา ยังสุขสถาพร ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา (อ.ส.ป.) เปิดเผยว่า หลังจาก อ.ส.ป.เปิดตลาดปลากลางทะเลที่ ต.อ่างศิลา อ.เมือง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2564 ได้รับความสนใจมากจากผู้ค้าและลูกค้า โดยผู้ค้าได้เช่าแผงของตลาดเต็ม 100% รวม 318 แผง และช่วงวันจันทร์-ศุกร์ มีลูกค้าเข้ามาจับจ่าย ซื้อสินค้ากว่า 2,000 คน ต่อวัน และวันเสาร์-อาทิตย์ มีลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 8,000 คนต่อวัน

 

องค์การสะพานปลา เล็งบูม \"อ่างศิลา \"  หลังโควิด

“ตลาดอ่างศิลาเป็นสถานที่จำหน่ายอาหารทะเลทุกรูปแบบเน้นความสะอาดและมีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยจุดขายเป็น "Fish Marketing Organization” พัฒนาและยกระดับให้เป็นตลาดสินค้าสัตว์น้ำที่มีมาตรฐานสากล ถูกสุขลักษณะเทียบชั้นตลาดปลาหรือตลาดสัตว์น้ำในต่างประเทศได้ เพราะต้องการเจาะกลุ่มนักเดินทาง นักท่องเที่ยว อีกทั้งอยู่ใกล้กรุงเทพฯ และเดินทางไป-กลับได้ ซึ่งทำให้ ตลาดปลาแห่งนี้คึกคักมากในช่วงแรก"

 

ทั้งนี้ เมื่อเกิดโควิด-19 ระบาดทำให้ลูกค้าลดลงเหลือ 200-300 คนต่อวัน ซึ่งทำให้พ่อค้าและแม่ค้าอยู่ไม่ได้ อ.ส.ป. จึงช่วยด้วยการงดจัดเก็บค่าเช่าแผง เพื่อให้ยังมีการค้าขายอยู่จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 5 เดือนแล้ว โดย อ.ส.ป.ต้องขาดรายได้ประมาณ 6 หมื่นบาทต่อเดือน และมีพ่อค้าแม่ค้าบางรายหยุดตั้งแผง เพราะขายไม่ได้ทำให้สินค้าเน่าเสีย และ อ.ส.ป.ต้องยอมแม้ว่าจะผิดเงื่อนไขที่ห้ามหยุดการขาย

องค์การสะพานปลา เล็งบูม \"อ่างศิลา \"  หลังโควิด

“ผมเชื่อมั่นศักยภาพของตลาดอ่างศิลาว่าจะเป็นแลนด์มาร์คอีกแห่งหนึ่งของชลบุรี แต่ต้องรอเวลาให้โควิด-19 ซาลง ซึ่ง อ.ส.ป.ได้เตรียมแผนโปรโมทให้ตลาดกลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะปกติมีลูกค้าประจำอยู่แล้วจากกรุงเทพฯ และยิ่งการท่องเที่ยวกลับมาช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า คาดว่าจะทำให้ตลาดฟื้นได้ แม้ว่าจะไม่คึกคักมากเพราะการท่องเที่ยวยังไม่กลับมา 100% แต่สถานการณ์จะค่อยๆ ดีขึ้น”

นอกจากนี้ ตลาดดังกล่าวตั้งอยู่กลางทะเล แดดร้อน ทำให้ลูกค้านิยมมาซื้อของในช่วงเย็น ดังนั้น อ.ส.ป.จึงอยู่ระหว่างการพิจารณาแผนเพื่อดึงลูกค้าให้เข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้าได้ช่วงกลางวัน ส่วนช่วงเย็นที่มีลูกค้ามากอยู่แล้วนั้น จะโซนร้านอาหารบริการสำหรับลูกค้าที่ต้องการนั่งรับประทานชมวิว โดยจะเป็นแหล่งรวมร้านค้าอร่อยในชลบุรีมาไว้บริเวณเดียวกัน และคาดว่าจะเป็นที่ถูกใจของลูกค้าเพราะปัจจุบัน อ.ส.ป.ได้ปรับสถานที่สวยงามนั่งมองพระอาทิตย์ตกได้ทุกมุม ภายใต้คอนเซ็ปต์ "แกะกุ้ง กินปู ดูปลา อ่างศิลา”

องค์การสะพานปลา เล็งบูม \"อ่างศิลา \"  หลังโควิด

“ร้านอาหารดังกล่าวเปิดดำเนินการได้ทันที โดยรองรับลูกค้านั่งรับประทานได้ถึง 20.00 น.และใช้เวลาเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ใช้เวลา 1 ชั่วโมง แต่สถานการณ์โควิดและรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวส์ประกอบกับ จ.ชลบุรี เป็นเขตพื้นที่สีแดง การเปิดรับประทานอาหาร จนถึง 20.00 น. จะทำให้ลูกค้าเดินทางกลับบ้านไม่ทัน"

 

สำหรับอ่างศิลาเหมาะสมมากที่จะเชื่อมโยงกับธุรกิจในแผนอีอีซี โดยอยู่กึ่งกลางระหว่าง “สนามบินสุวรรณภูมิ” กับ “สนามบินอู่ตะเภา” ซึ่งเดินทางสะดวกและเชื่อมโยงกับอีอีซี ยังเป็นส่วนหนึ่งส่งเสริมรายได้เกษตรกรชาวประมง รวมทั้งยกระดับมาตรฐานสินค้าตามที่ อ.ส.ป.กำลังทำโครงการส่งเสริมอาชีพกลุ่มแม่บ้านชาวประมงในลักษณะ OEM โดยมีนโยบายจัดทำการส่งเสริมอาชีพกลุ่มแม่บ้านชาวประมง

 

ทั้งนี้ เพื่อแปรรูปสินค้าประมงภายใต้ “FMO BRAND” และคัดเลือกกลุ่มแม่บ้านเข้าอบรมเพื่อส่งเสริมให้ความรู้การประมง การดำเนินธุรกิจ การสร้างสินค้าประมงที่มีมาตรฐานมีคุณภาพ โดยองค์การสะพานปลาให้เงินทุนในการดำเนินธุรกิจ และมีการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพตาม “FMO BRAND” และจัดจำหน่ายทางช่องทางออนไลน์และออฟไลน์