"กรมเจ้าท่า" เปิดเวทีถกแผน แลนด์บริดจ์อันดามัน-อ่าวไทย

"กรมเจ้าท่า" เปิดเวทีถกแผน แลนด์บริดจ์อันดามัน-อ่าวไทย

กรมเจ้าท่าลุยศึกษาพื้นที่ศักยภาพ เล็งผุด 3 ท่าเรือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และภาคใต้ฝั่งอันดามัน หนุนโลจิสติกส์เชื่อมแลนด์บริดจ์ คาดเคาะพื้นที่ภายในปี 2565

ต้นทุนด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ประเทศไทยมีสัดส่วนเฉลี่ยที่ 13% ของจีดีพี ตามข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แผนการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของประเทศ เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ประหยัดพลังงาน และสอดคล้องไปกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มีแผนปฏิรูปประเทศ เร่งพัฒนาท่าเรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งสินค้าและการค้าขายในภาพรวม ครอบคลุมฝั่งทะเลอ่าวไทย และอันดามัน

กรมเจ้าท่าในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล และหัวหอกในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ ได้ผลักดัน “โครงการศึกษาเพื่อกำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการขนส่งทางน้ำ บริเวณแม่น้ำ ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน” นำไปสู่การสำรวจพื้นที่ศักยภาพ พัฒนาท่าเรือรองรับการขนส่งในแม่น้ำ ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ตลอดจนพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์)

อย่างไรก็ดี กรมเจ้าท่าได้จัดประชุมสัมมนาเพื่อแนะนำโครงการศึกษาดังกล่าว ระหว่าง 28 -29 ก.ย. 2564 ผ่านระบบออนไลน์ โปรแกรม Zoom (VDO Conference) พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณารายละเอียดในโครงการให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการขนส่งทางน้ำมากที่สุด

อ่านข่าว : อธิบดีกรมเจ้าท่า ยื่นลาออกราชการ อ้างปัญหาสุขภาพ

โดยสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่าด้านวิชาการ เป็นประธานการประชุม พร้อมร่วมหารือกับผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนสถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน และผู้ประกอบการด้านการขนส่งทางน้ำและท่องเที่ยว

นอกจากการจัดประชุมสัมมนาในครั้งนี้ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ทรานส์คอนซัลท์ จำกัด บริษัท เอ 21 คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท อินฟรา พลัส คอนซัลติ้ง จำกัด จะดำเนินการศึกษาโครงการฯ ภายใน 450 วัน ครอบคลุมพื้นที่ศึกษาโครงการทั่วทั้งบริเวณท้องทะเลอาณาเขต (Territorial Sea) ริมชายฝั่ง เกาะแก่ง ทะเลสาบที่น้ำทะเลเข้าถึง ปากแม่น้ำขึ้นไปจนถึงบริเวณที่อิทธิพลจากน้ำทะเลจะไปถึงได้ ทั้งชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน

รายงานข่าวจากกรมเจ้าท่า ระบุว่า การศึกษาโครงการนี้ไม่ใช่เป็นโครงการศึกษาท่าเรือน้ำลึกในโครงการแลนด์บริดจ์ เนื่องจากโครงการท่าเรือน้ำลึกอยู่ในขั้นตอนของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. เป็นผู้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม แต่โครงการที่กรมเจ้าท่ากำลังศึกษาอยู่นี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าไปช่วยสนับสนุนการขนส่งเชื่อมต่อกับพื้นที่แลนด์บริดจ์ ศึกษาเพื่อพัฒนาท่าเรือจุดใหม่ๆ รองรับการขนส่งสินค้า

สำหรับผลลัพธ์ของการศึกษา จะมีการเสนอพื้นที่ศักยภาพในการพัฒนาท่าเรือทางทะเล ครอบคลุม 3 บริเวณ คือ บริเวณภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และภาคใต้ฝั่งอันดามัน บริเวณละไม่น้อยกว่า 3 จุด พร้อมจัดลำดับความสำคัญเพื่อคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมบริเวณละ 1 จุด ทั้ง 3 บริเวณ มาทำการสำรวจและออกแบบเบื้องต้น เพื่อเตรียมพัฒนาท่าเรือที่มีศักยภาพจำนวน 3 ท่าเรือ

\"กรมเจ้าท่า\" เปิดเวทีถกแผน แลนด์บริดจ์อันดามัน-อ่าวไทย

ขณะที่เป้าหมายสูงสุดของการศึกษากำหนดพื้นที่มีศักยภาพเหมาะสมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการขนส่งทางน้ำนั้น จะต้องเป็นบริเวณที่เหมาะสมในการพัฒนาท่าเรือประเภทต่างๆ เช่น ท่าเรือสินค้าตู้ สินค้าเทกอง สินค้าเหลว ปิโตรเลียมและแก๊ส รวมทั้งต้องสามารถรองรับการพัฒนาท่าเรือโดยสารและการท่องเที่ยว มีโครงข่ายเชื่อมโยงท่าเรือโดยสารและการท่องเที่ยวต่างๆ และสามารถเชื่อมต่อการขนส่งด้วยคมนาคมโครงข่ายอื่นๆ อย่างสะดวก

ทั้งนี้ โครงการศึกษาฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 โดยเบื้องต้นมีกรอบการดำเนินงาน แบ่งออกเป็น การจัดสัมมนาเพื่อแนะนำโครงการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ หลังจากนั้นจะจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นในช่วงเดือน ม.ค. - มี.ค.2565 สัมมนาถ่ายทอดองค์ความรู้ ครั้งที่ 1 ในเดือน ม.ค. - มี.ค.2565 สัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ในเดือน มิ.ย. - ก.ค.2565 และสัมมนาถ่ายทอดองค์ความรู้ ครั้งที่ 2 ในเดือน ก.ค. - ก.ย.2565 

เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงคมนาคมได้ลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน

    คาดว่าภายในปีหน้าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และเริ่มการประกวดราคาโดยคาดว่าภายใน 30 เดือน จะได้ตัวเอกชนร่วมลงทุน และใช้เวลาก่อสร้างอีก3 ปี โครงการแล้วเสร็จในปี 2568