ยูเรเซีย ตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย เผยไม่กระทบผู้ส่งออกไทย

ยูเรเซีย ตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย เผยไม่กระทบผู้ส่งออกไทย

ยูเรเซีย ตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย 12 ต.ค.นี้ หลังมีระดับการพัฒนาประเทศเกินเกณฑ์ ทำสินค้าไทยต้องกลับไปเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ จากในช่วงได้สิทธิได้ลดภาษี 25% คาดกระทบผู้ส่งออกไทยไม่มากนัก เหตุคู่แข่งถูกตัดสิทธิเหมือนกัน

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค.64 เป็นต้นไป สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศ คือ รัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน อาร์เมเนีย และคีร์กีซ ได้ประกาศตัดสิทธิทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) ที่ให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไทย  74 ประเทศ เพราะมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจสูงเกินเกณฑ์ที่กำหนด โดยไทยอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง ส่งผลให้สินค้าที่ไทยเคยได้รับสิทธิ ต้องกลับไปเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ (เอ็มเอฟเอ็น) จากในช่วงที่ได้จีเอสพี สินค้าไทยได้รับการลดภาษีลง 25% ของอัตราภาษีเอ็มเอฟเอ็นของแต่ละสินค้า

        ดังนั้นผู้ส่งออกที่ใช้สิทธิจีเอสพีส่งออกไปยูเรเซีย จะต้องเร่งส่งออก โดยสินค้าต้องถึงประเทศปลายทางภายในวันที่ 11 ต.ค.64 หากสินค้าเดินทางถึงประเทศปลายทางภายในวันที่ 11 ต.ค.64 แต่ยังไม่มีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form A (สำหรับใช้สิทธิส่งออกภายใต้จีเอสพี) ไปแสดงขณะนำเข้า ผู้ประกอบการสามารถขอสงวนสิทธิโดยจ่ายภาษีเอ็มเอฟเอ็นไว้ก่อน และนำ Form A ไปแสดงเพื่อขอคืนภาษีตามสิทธิภายใน 12 เดือนนับจากวันที่นำเข้า

 

“การตัดจีเอสพีจะไม่กระทบกับผู้ส่งออกไทยไปตลาดยูเรเซียมากนัก เพราะคู่แข่งสำคัญถูกตัดสิทธิเช่นกัน ทำให้ไม่มีใครคงความได้เปรียบ อีกทั้งแต่ละปีไทยใช้สิทธิจีเอสพีส่งออกไปยูเรเซียไม่มากนักราว 130-160 ล้านดอลลาร์ แต่กรมได้แจ้งให้ผู้ส่งออกทราบล่วงหน้าหลายเดือนแล้ว เพื่อให้ปรับตัวเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน ซึ่งผู้ส่งออกไทยส่วนใหญ่ปรับตัวมานานแล้ว และสามารถแข่งขันด้วยสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ไม่ได้แข่งขันด้านราคาต่ำเพียงอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา แต่ก็ได้สอบถามถึงความต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือแล้ว”  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปี 63 ไทยใช้สิทธิส่งออก 133.92 ล้านดอลลาร์ลดลง 3.81% เทียบกับปี 62 ที่ 139.22 ล้านดอลลาร์ สินค้าใช้สิทธิสูง เช่น สับปะรดกระป๋อง , พืช/ผลไม้ปรุงแต่ง, ข้าวที่สีบ้างแล้ว/สีทั้งหมด, ซอสและของปรุงแต่งรสสำหรับทำซอส, ยางธรรมชาติที่กำหนดไว้ในทางเทคนิค, ปลาทูน่ากระป๋อง/แปรรูป, เนื้อปลาแบบฟิลเลสด แช่เย็น แช่แข็ง, น้ำผลไม้/น้ำพื่ชผักอื่นๆ, มำนาวและมะนาวฝรั่ง เป็นต้น ขณะที่ช่วง 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 64 ใช้สิทธิ68.62 ล้านเหรียญฯ ลดลง 10.35% จากช่วงเดียวกันของปี 63

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ไทยถูกตัดสิทธิจีเอสพีแล้วรวม 4 ระบบ โดยวันที่ 1 ม.ค.58 ถูกตัดสิทธิ 3 ระบบ ได้แก่ สหภาพยุโรป ตุรกี และแคนาดา เพราะมีระดับการพัฒนาประเทศเกินเกณฑ์ที่กำหนด โดยเป็นประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางระดับสูง ตามการจัดของธนาคารโลก และวันที่ 1 เม.ย.62 ญี่ปุ่นตัดจีเอสพีไทย และให้ใช้สิทธิพิเศษลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน - ญี่ปุ่น แทน และแม้ว่าไทยถูกตัดสิทธิไปแล้ว แต่การส่งออกไปประเทศเหล่านี้ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และความต้องการซื้อสินค้า แม้สินค้าไทยต้องกลับไปเสียภาษีนำเข้าตามอัตราปกติ ที่สูงขึ้นกว่าในช่วงที่ได้รับสิทธิ