กรมชลฯ เดินหน้าบริหารจัดการน้ำเต็มอย่างเต็มศักยภาพ

กรมชลฯ เดินหน้าบริหารจัดการน้ำเต็มอย่างเต็มศักยภาพ

กรมชลประทาน สั่งทุกโครงการชลประทานรับมือสถานการณ์น้ำหลาก กำหนดพื้นที่ กำหนดคน กำหนดเครื่องจักรเครื่องมือ ประจำจุดเสี่ยง พร้อมปฏิบัติงานได้ทันที

ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา รายงานถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (1 ต.ค.64) ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 50,982 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกรวม 25,140 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 12,659 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 5,963 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกรวม 12,212 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้วรวม 15.16 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 90 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 6.97 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 87 ของแผนฯ

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (1 ต.ค.64) ที่สถานีวัดน้ำ C.2 จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ในเกณฑ์ 2,666 ลบ.ม./วินาที และมีปริมาณน้ำหลากจากแม่น้ำสะแกกรังไหลผ่านสถานีวัดน้ำ Ct.19 จังหวัดอุทัยธานี ในอัตรา 392 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ด้วยการตัดยอดน้ำเข้าระบบคลองชลประทานทั้งสองฝั่งรวม 376 ลบ.ม./วินาที

ทำให้ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ 2,784 ลบ.ม./วินาที ประกอบกับช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ อ.ลำสนธิ และ อ.ไชยบาดาล จ.ลพบุรี ส่งผลให้เขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในอัตรา 1,207 ลบ.ม./วินาที

 

ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (C.29A) อยู่ในอัตราประมาณ 2,950 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักเพิ่มขึ้นเล็กน้อย กรมชลประทาน ได้ทำการแจ้งเตือนไปยังพื้นที่ได้รับผลกระทบบริเวณท้ายอ่างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่ เตรียมพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยงพร้อมปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา ที่สำคัญได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามนโยบายของรัฐบาล จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานกาณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด

หากต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้านหรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา