ธปท.พร้อมงัดมาตรการ ’อุ้ม’ ธุรกิจฝ่าโควิด

ผู้ว่าการธปท. พร้อมออกมาตรการช่วยภาคธุรกิจปรับตัวรับยุคหลังโควิดเน้นดิจิทัลและสิ่งแวดล้อม รับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทำไม่ครอบคลุม เพราะต้องเลือกลุ่มเดือดร้อนที่มีโอกาสพลิกฟื้น เพื่อลดแผลเป็นให้น้อยสุด

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ระบุ มาตรการต่างๆที่ธปท.ดำเนินการออกมาเพื่อช่วยภาคธุรกิจ ประชาชน โดยเน้นกลุ่มรายย่อยยอมรับว่าไม่เพียงพอกับระยะข้างหน้าที่จะต้องมีการปรับตัวหลังยุคโควิด เพื่อการเศรษฐกิจข้างหน้าเติบโตอย่างยั่งยืนในโลกใหม่ ดังนั้น ธปท.พร้อมมีมาตรการเพิ่มเติมและจูงใจปรับตัวช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ โดยการปรับตัวที่จำเป็นและต้องการวางรากฐานในอนาคตมี 2 กระแสมาแรงและเร็ว คือกระแสเรื่องดิจิทัล ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ๆ มีผู้เล่นใหม่ การเตรียมตัวจึงเป็นโจทย์สำคัญทุกภาคส่วน อีกเรื่องคือสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลกระทบเร็วและแรงกว่าที่คาด ไม่ใช่แค่โลกร้อนเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม แต่รวมถึงภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบ จากการออกนโยบายต่างๆของประเทศพัฒนาแล้ว ถ้าไม่ปรับตัวก็ได้รับผลกระทบ และที่สำคัญคือไทยต้องออกจากวิกฤติด้วยแผลเป็นน้อยสุด รองรับกระแสโลกใหม่

“ภาคธุรกิจภายใต้บริบทใหม่ จะต้องวางแผนการเงิน การลงทุน ให้น้ำหนักดิจิทัลและสิ่งแวดล้อม ส่วนประชาชนต้องเร่งวางแผนการเงิน จัดเตรียมเงินสำรองไว้ใช้จ่าย ต้องเพิ่มความสำคัญให้เท่าทันกระแสดิจิทัล ที่มีการหลอกลวงเพิ่มขึ้น ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับตัวรองรับบริบทใหม่ ธปท.ก็ต้องปรับตัว 3 ด้าน คือ ดูแลบรรยากาศ ปรับกฎเกณฑ์ เพิ่มสมดุลให้เกิดนวัตกรรมใหม่ และให้ความสำคัญการแก้ปัญหาเข้าถึงสินเชื่อให้เอสเอ็มอี ส่วนภาครัฐที่มีขยายเพดานหนี้ 70% ถือเป็นเรื่องดี แต่ต้องใส่ใจการใช้งบให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส”

อย่างไรก็ตาม วิกฤติโควิด 19 ที่เกิดขึ้น เชื่อว่าไทยเคยผ่านวิกฤติหนักหน่วง ไม่ว่าวิกฤติปี 40 น้ำท่วมปี 54 จึงมองว่าภาคอุตสาหกรรมไทยจะผ่านพ้นไปได้ เพราะมีการปรับตัวเร็ว แต่จะพ้นอย่างไรให้รอดมากสุด ลดแผลเป็นน้อยสุด ต้องเข้าใจบทบาทและข้อจำกัดของกันและกัน

ส่วนมาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยุคโควิด 19 ต้องยอมรับว่าวิกฤติโควิดหนักส่งผลวงกว้าง ตัวเลจจีดีพีติดลบมากสุด 22 ปี ภาคบริการและภาคท่องเที่ยวเป็นตัวอย่างที่ดี ผลสำรวจธปท. พบผู้ประกอบโรงแรม 65% มีสภาพคล่องไม่เกิน 3 เดือน ต้องขายกิจการ ภาคการผลิตไตรมาส 2 ปี 63 ตกต่ำ การผลิตส่งออกถูกกระทบจากปัจจัยอื่นๆทั้งขาดแคลนชิ้นส่วน และการแพร่ระบาดในโรงงาน ส่วนภาคครัวเรือน คือการจ้างงานถูกกระทบอย่างรุนแรง จำนวนผู้ว่างงานไตรมาส 2 ปี 64 รวมกันอยู่ที่ 3.5 ล้านคน ในกลุ่มที่ทำงาน 4 ชม. ส่วนผู้ว่างงานระยะยาวอยู่ที่ 2 แสนคน มากกว่าก่อนช่วงโควิด 

สิ่งที่ธปท.ได้ทำช่วงที่ผ่านมา คือการทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่หุบร่ม โดยการออกมาตรการออกมา ทำให้ระบบธนาคารพาณิขย์ยังทำงานได้ดีระดับหนึ่ง สินเชื่อโตใกล้เคียงกับก่อนโควิด โดยเดือนก.ค. ขยายตัว 4% มีเม็ดเงินสินเชื่อใหม่ 5 แสนล้านบาทเข้าไปในระบบ ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่น่าจะโตไม่ถึง 1% ถือว่าระบบธนาคารพาณิชย์ทำได้ดีระดับหนึ่ง และโตสุดในภูมิภาค ถือว่ายังไม่หุบร่ม ส่วนภาระหนี้เดิม ลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือสูงสุดเดือนก.ค. สูงสุด 6 ล้านบัญชี มูลค่า  4 ล้านล้านบาท แต่การปล่อยสินเชื่อโดยกลไกปกติก็ยังไม่เพียงพอ และไม่ทั่วถึง ดังนั้นจึงไม่ได้พึ่งพากลไกตลาดเพียงอย่างเดียว โดยต้องดำเนินมาตรการที่ผ่อนปรนกับบริบท ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ จึงได้เห็นอัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลง 0.5-0.7%

 

ส่วนการช่วยเหลือเอสเอ็มอียังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่ก็มีการปรับมาตรการมาใช้การค้ำประกันของ บสย. และเริ่มเห็นสินเชื่อเอสเอ็มอีขยายตัว 1% ในเดือนก.ค. จึงเห็นได้ว่า ธปท.ไม่นิ่งนอนใจ พร้อมจะออกหรือปรับตามความจำเป็น แต่เมื่อรวมกันทั้งหมดมีเพียงพอทั่วถึงทุกคนหรือไม่ ต้องยอมรับว่าไม่ได้ทั้งหมด ด้วยวิกฤติกว้างหนัก ต้องจัดสรรทรัพยากรไปยังกลุ่มกระทบที่มีโอกาสพลิกฟื้น ถ้าไปใช้ไม่ถูกจุดผู้เดือดร้อนหนักจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ และจะเห็นการหุบร่ม การเรียกหนี้คืน การขายทรัยพย์ออกจากระบบเหมือนปี 2540 การดูแลช่วยเหลือลูกหนี้จึงจำเป็น ไม่เช่นนั้นจะกระทบกว้างยาว โดยทำให้ลูกหนี้รอดมากสุด

 

ส.อ.ท.ดันธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงิน

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สุพันธุ์ มงคลสุธี ระบุ การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้ตระหนักถึงปัญหาและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน พ่อค้าแม่ค้า นักธุรกิจผู้ประกอบการ รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ซึ่งความช่วยเหลือด้านการเงิน ส.อ.ท.ยังคงส่งเสริมสมาชิกให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในรูปแบบต่างๆเน้น 2 แนวทาง คือการผลักดันสินเชื่อรูปแบบ Supply Chain Financing และการระดมทุนในตลาดทุนสำหรับธุรกิจและ SME หรือ SME Board 

รวมทั้งการส่งเสริมสมาชิกให้สามารถนำนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม, การ Re-Skill, Up-Skill บุคลากรภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการสรรหาบุคลากรให้ตรงอุตสาหกรรม ,การยกระดับธุรกิจด้วย Digital Transformation ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการไปปรับใช้กับธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตต่อไปได้