หุ่นยนต์-เอไอโจทย์ท้าทาย ทักษะ-รายได้ของแรงงาน

หุ่นยนต์-เอไอโจทย์ท้าทาย    ทักษะ-รายได้ของแรงงาน

เมื่อเทคโนโลยีก้าวล้ำไปข้างหน้า แรงงานที่มีทักษะการทำงานในระดับสูงด้านการคิดวิเคราะห์ (analytical) และการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ (interpersonal) จะสามารถพัฒนาและปรับตัว เพื่อทำงานร่วมกันกับหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์

ในทางกลับกัน แรงงานที่มีทักษะต่ำและค่าแรงถูก (low-skilled and low-wage workers) จะโดนแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์

การมุ่งเน้นพัฒนาแรงงานที่มีทักษะการทำงานในระดับสูง จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจระดับมหภาค สามารถยกระดับไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมระดับสูงและเทคโนโลยีดิจิทัล (high value-added & digital economy)

ในขณะที่การมีทักษะและความสามารถที่จำเป็นต่อการทำงาน จะมีความสำคัญสำหรับแต่ละคนที่จะมีโอกาสทำงานในอาชีพที่มีอนาคตมั่นคง และช่วยให้คนที่มาจากครอบครัวยากจน สามารถหลุดจากวัฏจักรของความยากจนได้ (vicious circle of poverty)

งานวิจัยของผู้เขียนซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับเลือกให้ตีพิมพ์ในหนังสือ “Digitalization and Sustainable Economic Development” ของ Asian Development Bank Institute แสดงให้เห็นว่า จังหวัดที่มีสัดส่วนอาชีพที่มีทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ และทักษะการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์มากกว่า จะมีความสัมพันธ์ทางบวกกับ GDP ของจังหวัดเฉลี่ยต่อหัว นั่นคือ รายได้เฉลี่ยของจังหวัดสูงกว่า
 

ในขณะที่เมื่อพิจารณาในระดับปัจเจกบุคคล ผู้ประกอบอาชีพที่มีทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ และทักษะการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์มากกว่า จะมีรายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงสูงกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ จะเป็นทักษะสำคัญอย่างมากในการกำหนดรายได้ในระดับสูง

นทางกลับกัน อาชีพที่ใช้ทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ และทักษะการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ในระดับต่ำ ซึ่งส่วนมากจะเป็นคนที่ด้อยโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพ เป็นแรงงานไร้ทักษะหรือทำงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะการวิเคราะห์มาก จะถูกแย่งงานโดยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาชีพที่มีลักษณะการทำงานไม่ซับซ้อนหรือไม่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ สามารถใช้อัลกอริทึมมาทำงานได้แม่นยำมากกว่า และเทคโนโลยีที่กำลังมีราคาถูกลงเรื่อย ๆ สามารถเข้ามาทำงานแทนได้
 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ไทยได้ลดจำนวนสาขาและการจ้างงาน แต่มุ่งลงทุนในด้านเทคโนโลยี เพื่อปรับตัวให้เข้ากับยุค digital disruption ในขณะที่ เราได้เห็นตัวอย่างในต่างประเทศที่ระบบคลังสินค้าใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนแรงงานมนุษย์ทั้งหมด และระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่ต้องมีคนขับ เราได้เห็นข่าวนักศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศไทย พัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถทำอาหารแบบง่าย เช่น ข้าวผัดหรือไข่เจียว หรือ ข่าวของผู้ประกอบไทยพัฒนาหุ่นยนต์ชงชาไข่มุกที่สามารถกดคำสั่งเลือกประเภทชานมและระดับความหวาน บางคนเคยมีประสบการณ์ซื้อขายหุ้นผ่านระบบอัจฉริยะ high-frequency algorithm trading ยิ่งไปกว่านั้น ทุกคนที่ใช้อินเตอร์เน็ตมีประสบการณ์ได้รับคำแนะนำจากปัญญาประดิษฐ์ในการแสดงผลและแนะนำเพื่อนบน social media เลือกซื้อของหรือสั่งอาหารทางออนไลน์ เลือกดูหนังฟังเพลง streaming หรือ แสดงผลการค้นหาโดย deep learning algorithms เป็นต้น

ถึงแม้ในขณะนี้ยังไม่ทราบชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงที่มีผลอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างแรงงานไทยจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ผลการวิเคราะห์ในงานวิจัยตีพิมพ์ของผู้เขียนพบว่า แรงงานไทยเกือบร้อยละ 10 หรือ 3 ล้านกว่าคน มีโอกาสมากกว่า 95% ที่อาชีพของตนจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์

หากนิยามอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง คือ มีโอกาสมากกว่า 70% ในการถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ งานวิจัยของผู้เขียนพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานไทย หรือ กว่า 17 ล้านคน ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงที่จะว่างงาน อันเกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ทั้งนี้ ผลงานวิจัยโดย ดร. เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู และ ดร. วรประภา นาควัชระ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น่าจะมีความแม่นยำมากกว่าผลวิเคราะห์ของผู้วิจัย เพราะเป็นการคำนวณโดยปรับวิธีวิเคราะห์และพัฒนาแบบจำลอง Machine Learning ให้สอดคล้องโดยตรงกับลักษณะแรงงานไทย ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่า หากตลาดแรงงานไทยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแรงงานและยังคงมีองค์ประกอบทักษะแรงงานเหมือนอย่างปัจจุบัน จำนวนแรงงานที่จะเสี่ยงต่อภาวะการไร้งาน (joblessness) คิดเป็นจำนวนสูงถึง 12 ล้านคน หรือ ประมาณ 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานไทยทั้งหมด

อุปมาดังเช่น ปรากฏการณ์ El Niño–Southern Oscillation (ENSO) ทำให้เราพยากรณ์ว่า ปีนี้ประเทศไทยจะเจอน้ำท่วม แต่ไม่รู้ว่าจะท่วมหนักขนาดไหน ถึงแม้จะคาดการณ์ได้ว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยงภัยสูง หรือ ภัยคุกคามจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จะทำให้เราเผชิญแนวโน้มภัยแล้งและน้ำท่วมเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่า จะหนักหนาขนาดไหน ซึ่งความรุนแรงของผลกระทบก็ขึ้นกับความสามารถในการปรับตัวของประเทศ ภายใต้การบริหารจัดการทิศทางการพัฒนาประเทศที่ชี้นำโดยภาครัฐ

จึงสามารถอุปมานได้ว่า ในที่สุดแล้ว ไม่ว่าขนาดของผลกระทบจากหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นจริง จะมีขนาดรุนแรงเพียงใดก็ตาม ก็น่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนเดียวกันว่า แรงงานไทยจำนวนมากหลายล้านคน มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ จึงเป็นผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจทั้งระดับจุลภาคและมหภาค เพียงแต่ภาครัฐจะสามารถช่วยให้ทั้งประเทศสามารถปรับตัวได้รวดเร็วเพียงใด เพื่อบรรเทาผลกระทบหรือสามารถพลิกฟื้นวิกฤตให้เป็นโอกาสได้หรือไม่

หากระบบเศรษฐกิจไทยไม่สามารถพัฒนาทักษะแรงงานได้ทันและเพียงพอ จะกลายเป็นทั้งข้อจำกัดและความเสี่ยงในการพัฒนาประเทศที่ปัจจุบันมีผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ร้อยละ 20 ของประชากรในปี ค.ศ. 2021 และกำลังจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นร้อยละ 32 หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากร ในปี 2040 ในขณะที่คนวัยทำงานมีจำนวนลดลง แต่แรงงานจำนวนมากจะไม่มีงานทำ และเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนยากจน 


นอกจากนี้ ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า ประเทศไทยไม่ได้มีความตื่นตัวที่จะยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจแบบ inclusive growth เลย จึงเป็นเรื่องน่ากังวลมาก เพราะหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ทำให้ประเทศไทยมีแนวโน้มที่ความเหลื่อมล้ำจะยิ่งขยายกว้างมากขึ้น ในขณะที่คนส่วนใหญ่จะไม่สามารถแข่งขันได้หรือจะอยู่รอดอย่างยากลำบากในโลกอนาคต 

บทความโดย

ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย
นักวิชาการอิสระและอดีตนักวิจัยแลกเปลี่ยนด้านระบบสาธารณสุข
Harvard T.H. Chan School of Public Health

บรรณานุกรม 

เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู และ วรประภา นาควัชระ. 2562. บทบาทของการค้าและเทคโนโลยีต่อการปรับเปลี่ยนของโครงสร้างตลาดแรงงานของไทย. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์นำเสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.). มิถุนายน 2562. 
https://elibrary.trf.or.th/project_content.asp?PJID=RDG6110019 

Jithitikulchai, T. 2020. Labour Skills, Economic Returns, and Automatability in Thailand. Southeast Asian Journal of Economics, 8(2): 51-90. 
https://so05.tci-thaijo.org/index.php/saje/article/view/248065/168423