บสย.เล็งค้ำประกันผู้กู้สินเชื่อนอนแบงก์

บสย.เล็งค้ำประกันผู้กู้สินเชื่อนอนแบงก์

บสย.เตรียมเข้าค้ำประกันสินเชื่อให้ธุรกิจนอนแบงก์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินกู้ เชื่อจะช่วยกดดอกเบี้ยจากผู้ประกอบธุรกิจนอนแบงก์ให้ต่ำลง

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)เปิดเผยว่า บสย.เตรียมเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อที่ปล่อยโดยผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ หรือ นอนแบงก์ ซึ่งเชื่อว่า จะช่วยกดดอกเบี้ยของผู้กู้จากนอนแบงก์ให้ต่ำลง

ปัจจุบันกฎหมายของบสย.สามารถให้การค้ำประกันสินเชื่อของนอนแบงก์ได้แล้ว เพียงแต่รอกระทรวงการคลังออกประกาศกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อนอนแบงก์เช่น คุณสมบัติของนอนแบงก์ที่บสย.สามารถเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อได้ ซึ่งจะต้องมีความน่าเชื่อถือ เพื่อลดความเสี่ยงในการเข้าไปค้ำประกันของบสย.

การขยายการค้ำประกันไปยังนอนแบงก์นอกจากจะเป็นตลาดใหม่ของบสย.แล้ว ยังจะเป็นการช่วยเหลือประชาชนรายย่อยให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ในระบบได้มากขึ้น แทนที่จะไปใช้บริการสินเชื่อนอกระบบ”

 

ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้ารายย่อย หรือกลุ่มลูกค้าฐานราก ที่จำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบธนาคารได้ เนื่องจาก ไม่เข้าเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อของธนาคาร ก็จะมาใช้บริการนอนแบงก์เช่น การนำรถจักรยานยนต์ไปจำนำทะเบียนกับนอนแบงก์เพื่อนำเงินสดไปใช้หมุนเวียนในชีวิตประจำวัน หรือนำไปลงทุนค้าขาย

สำหรับภาพรวมของการให้การค้ำประกันสินเชื่อSMEsของบสย.นั้น คาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้ยอดการค้ำประกันของบสย.จะทะลุหลัก 2 แสนล้านบาท โดยปัจจุบันยอดค้ำประกันของบสย.ก็อยู่ในระดับเกือบ2 แสนล้านบาทแล้ว โดยประมาณ 1 แสนล้านบาท มาจากการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท. และอีกประมาณ 8-9หมื่นล้านบาท มาจากการค้ำประกันตามปกติของบสย.ทั้งนี้บสย.เพิ่งได้ขยายกรอบวงเงินค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท.ออกไปอีก 1 แสนล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นธนาคารรัฐอีกแห่งหนึ่ง ได้ประกาศบุกตลาดสินเชื่อนอนแบงก์ด้วยการร่วมทุนในสัดส่วน 49%ในบริษัทเงินสดทันใจ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของกลุ่มศรีสวัสดิ์ โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ ต้องการกดอัตราดอกเบี้ยในตลาดสินเชื่อนอนแบงก์ในธุรกิจจำนำทะเบียนรถยนต์และจักรยานยนต์ให้ต่ำลง เพื่อช่วยเหลือคนที่มีรายได้น้อยที่ต้องการสินเชื่อ

ทั้งนี้ ลูกค้ากลุ่มนี้ต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยจากนอนแบงก์ในอัตราที่สูงมากถึง 24-28%ต่อปี ซึ่งธนาคารออมสินมองว่า น่าจะเป็นอัตราที่สูงเกินไปทั้งที่ผู้กู้ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน คือ รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ในการกู้ด้วย ดังนั้น บริษัทร่วมทุนดังกล่าว จึงได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อประเภทนี้ ไม่เกิน 14.99%ต่อปี หรือลดลงราวครึ่งหนึ่งของอัตราดอกเบี้ยในตลาด

 

เธอกล่าวด้วยว่า นอกจากการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้นแล้ว บสย.ยังได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการเกี่ยวกับการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่มีปัญหา โดยจัดตั้งเป็นคลินิกหมอหนี้เพื่อให้คำปรึกษามาตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับบสย.

ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการเข้ามาขอคำปรึกษารวม 6,264 ราย ในจำนวนนี้ทางศูนย์ได้ให้คำปรึกษาไปแล้ว 1,255 ราย โดยแบ่งรูปแบบการขอรับคำปรึกษา เป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกต้องการสินเชื่อ มีจำนวน846 ราย ,กลุ่มที่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้246 ราย และกลุ่มที่ต้องการคำปรึกษาเพื่อพัฒนาธุรกิจ 163 ราย