“นักวิชาการ” ชี้แนวโน้มหนี้สาธารณะไทยยังเพิ่ม แนะเร่งปรับภาษี - ดึงลงทุน

“นักวิชาการ” ชี้แนวโน้มหนี้สาธารณะไทยยังเพิ่ม แนะเร่งปรับภาษี - ดึงลงทุน

การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดเป็นเรื่องสำคัญรัฐบาลได้มีการขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% เพื่อรองรับความจำเป็นในการลงทุน กรณีที่จำเป็นต้องมีการกู้เงินเพิ่มเติมในอนาคต นักวิชาการชี้ การฟื้นเศรษฐกิจต้องทำเป็นระบบวางแผนทั้งระยะสั้น-ยาว ควบคู่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยถึงกรณีรัฐบาลปรับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 70% ว่าเป็นผลมาจากการกู้เงินเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 จากการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน พ.ศ.2563 และเพิ่มเติมในปี 2564 รวมวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท

ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมที่จะกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปี 2565 ที่กำหนดวงเงินขาดดุลงบประมาณไว้ที่ 7 แสนล้านบาท ส่วนในการจัดทำงบประมาณปี 2566 นั้นวงเงินขาดดุลงบประมาณคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากการจัดเก็บรายได้ยังมีแนวโน้มที่ต่ำกว่าเป้า

 

2 ปีหนี้สาธารณะเพิ่มเกือบ 20% 

ทั้งนี้การเกิดวิกฤติโควิด-19 ในระยะเวลา 2 ปีส่งผลต่อสถานะการคลังของไทยมากเนื่องจากระดับหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 41 – 42% มาอยู่ที่เกือบ 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หรือเพิ่มขึ้นกว่า 20% แม้จะมีการขยายเพดานหนี้ออกไปเพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้กับภาครัฐ แต่หากไม่สามารถเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวและจีดีพีของประเทศเติบโตได้ในที่สุดแล้วรัฐบาลก็หลีกเลี่ยงการกู้เงินเพิ่มขึ้นได้ยากและอาจทำให้หนี้สาธารณะขยับใกล้เพดานที่ขยายออกไปได้อีก

“ก่อนจะมีวิกฤติโควิด-19 ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 6.8 ล้านล้านบาท ขณะที่เมื่อเจอโควิด-19 หนี้เราเพิ่มขึ้นมาเกือบ 20% และจีดีพีก็ไม่ขยายตัว คือใส่เงินลงไปมากกว่า 1 ล้านล้านบาทแล้ว ขนาดการใช้เงินของเราก็ประมาณ 10% ของจีพีดี แต่เศรษฐกิจในปีนี้ยังแทบไม่ขยายตัวหากเทียบกับหลายประเทศจำนวนเม็ดเงินที่มีการใส่ลงไปในระบบเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 นั้นสัดส่วนใกล้เคียงกันแต่ของเขาฟื้นได้แต่เราไม่ฟื้น รัฐบาลต้องไปดูว่าการหมุนของเงินมีปัญหาอย่างไรต้องแก้ไขอย่างเป็นระบบ ออกมาเป็นแพคเกจการใช้เงินต้องมีประสิทธิภาพให้เศรษฐกิจโตได้”

แนะแก้ปัญหาเป็นระบบทั้งวางแผนระยะสั้น - ยาว 

ทั้งนี้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของภาครัฐต้องมองรอบด้านและแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้

1.การแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้น ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยใช้เงินกู้ฯที่เหลืออยู่ประมาณ 3 แสนล้านบาท ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยยังมีความจำเป็นที่จะต้องให้น้ำหนักไปกับการจัดหาและการฉีดวัคซีนซึ่งอาจกันวงเงินออกมาอีกประมาณ 3 – 4 หมื่นล้านบาทเพื่อมาจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติมสำหรับการฉีดให้ประชากร 80% ของประเทศให้ครบ 2 เข็ม และฉีดเข็ม 3 ให้กับกลุ่มคนที่มีความจำเป็นต้องมีการรับวัคซีนฉีดเข็ม 3 โดยมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจในประเทศเดินหน้าได้โดยไม่ต้องกลับมีการล็อกดาวน์อีก และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มที่ในไตรมาสที่ 4 โดยเน้นที่การกระตุ้นการท่องเที่ยวของคนในประเทศ การเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยของคนที่มีกำลังซื้อโดยควรเอาโครงการช็อปดีมีคืนที่เป็นการลดหย่อนภาษีให้กับคนที่เข้าร่วมโครงการของรัฐโดยแม้รัฐจะสูญเสียรายได้บางส่วนแต่จะมีเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจในช่วงสั้น และภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ก่อนซึ่งมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากกว่า  

แนะรัฐวิสาหกิจเพิ่มการลงทุน 

อีกเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นคือการขับเคลื่อนการใช้จ่ายของภาครัฐและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งการใช้จ่ายของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจถือว่ามีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วงที่มีการฟื้นตัวจากวิกฤติ อย่างไรก็ตามผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงคือรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องเศรษฐกิจจะต้องลงไปกำชับผลักดันในส่วนนี้อย่างจริงจังซึ่งในระยะหลังไม่เห็นบทบาทในส่วนนี้มากนัก

“การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระยะสั้น ต้องเห็นความต่อเนื่อง โดยแผนการขับเคลื่อนควรออกมาเป็นแพคเกจ รองนายกฯเศรษฐกิจต้องมีบทบาทในการเข้าไปขับเคลื่อน ประสานการทำงานข้ามกระทรวงเศรษฐกิจให้เกิดภาพของความเชื่อมั่นเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว” นายมนตรี กล่าว

2.การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะกลาง - ระยะยาว ภาครัฐมีความจำเป็นที่จะต้องหาทางเพิ่มรายได้ของประเทศให้เพิ่มขึ้น โดยส่วนที่มีความสำคัญคือการดึงดูดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศให้มากขึ้น รวมทั้งนโยบายที่จะดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ สำนักงานข้ามชาติในประเทศไทยมากขึ้น โดยประเทศไทยมีข้อได้เปรียบหลายอย่างที่จะสามารถผลักดันให้เป็นที่ตั้งของสำนักงานของบริษัทต่างชาติได้ ทั้งเรื่องค่าเช่าสำนักงาน ค่าครองชีพที่ถูกกว่าประเทศอื่นๆ และโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นพื้นที่ที่ควรส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามชาติ

หนุนลดภาษีดึงต่างชาติดึงลงทุนไทย 

ทั้งนี้ทั้งการตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามชาติ และการดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาลงทุนเพื่อเพิ่มการลงทุนทางตรง (FDI) นั้นมาตรการทางภาษียังมีความสำคัญ หากมีการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเพื่อจูงใจการลงทุนก็จะช่วยดึงดูดการลงทุนได้มาก โดยอัตราภาษีนั้นต้องเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคแล้วต้องแข่งขันได้

ขณะที่มาตรการส่งเสริมการดึงดูดการลงทุนการลงทุนและอยู่อาศัยในประเทศไทยระยะยาวที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการแล้วนั้นมองว่ามาตรการที่ไม่ดึงดูดการลงทุนและย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยในประเทศไทยก็คือเงื่อนไขในการกำหนดให้ซื้อและถือครองพันธบัตรรัฐบาลซึ่งถือเป็นการลงทุนที่นักลงทุนหรือผู้มีรายได้สูงให้ความสนใจเนื่องจากในปัจจุบันการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆเปิดกว้างมาก ควรมีการปรับปรุงหามาตรการอื่นๆที่จูงใจมากกว่าเงื่อนไขในเรื่องนี้

“การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติควรจะให้เขามาตั้งธุรกิจ ทำธุรกิจในไทยมากกว่าแค่เงื่อนไขรายได้สูงแล้วให้มาซื้อพันธบัตรแล้วอยู่ในไทยได้ระยะยาว เพราะเราต้องการให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งมาตรการทางภาษียังจำเป็นที่จะเป็นเครื่องมือในการดึงดูด เช่นอาจกำหนดภาษีนิติบุคคล 12% ก็จะแข่งขันกับฮ่องกงและสิงคโปร์ได้ คาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มอีกมาก เกิดกิจกรรมการก่อสร้าง การจ้างงาน สามารถขายอสังหาริมทรพัพย์เพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง”

จี้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพิ่มรายได้

นอกจากนี้ในระยะยาวประเทศไทยยังต้องมีการแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจเพราะปัจจุบันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทำได้ยากเนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นเหือนปิรามิดมีคนรายได้น้อยเป็นฐานปิรามิด มีผู้เสียภาษีน้อย และมีเศรษฐกิจนอกระบบมาก โครงสร้างเศรษฐกิจของเราที่เป็นอยู่เมื่อใส่เงินลงไปแล้วการหมุนทำได้ไม่ดี แล้วเมื่อมาเจอการบริหารจัดการที่ไม่ดีก็ยิ่งมีปัญหา เศรษฐกิจไม่เติบโตสุดท้ายแล้วก็หนีไม่พ้นการกู้เงินอีกเนื่องจากมีการเปิดวงเงินไว้แล้ว ถ้ากู้เงินมาเพิ่มแล้วทำให้เศรษฐกิจโตไม่ได้อีก  ก็จะวนกลับมาเป็นการกู้เงินอีกหนี้สาธารณะก็จะเพิ่มขึ้นเป็นภาระกับผู้เสียภาษีในระยะยาว