“อีอีซี”ดันเศรษฐกิจ 3 ขา ยกชั้นภาคเกษตร 5 คลัสเตอร์

“อีอีซี”ดันเศรษฐกิจ 3 ขา  ยกชั้นภาคเกษตร 5 คลัสเตอร์

“เกษตร” เตรียมชง ร่าง แผนปฏิบัติการพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ปี2566-2570 ให้นายกรัฐมนตรี พิจารณา ต.ค.นี้

พื้นที่ 3 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย ซึ่งหลังการประกาศเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้กำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจทั้ง 3 ส่วน คือ 1.ภาคอุตสาหกรรม 2.ภาคการท่องเที่ยวและบริการ 3.ภาคการเกษตร

แนวทางดังกล่าวทำให้มีการต่อยอดพื้นที่รองรับการลงทุนภาคอุตสาหกรรม เช่น มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ที่มีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งรวมกลุ่มเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมทั้งมีนิคมอุตสาหกรรมอีกหลายแห่งกระจายใน 3 จังหวัด เกิดการลงทุนหลายกิจการ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ อีอีซียังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย โดยมีชายหาดและเมืองท่องเที่ยวระดับโลก คือ พัทยา ที่จะเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และมีเกาะที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ เช่น เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี รวมถึงเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ซึ่งตามมาด้วยธุรกิจ MICE ที่ภาคตะวันออกของไทยเป็นศูนย์กลางการจัดประชุมและการจัดนิทรรศการ

ในขณะที่อีกภาคส่วนเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ “ภาคการเกษตร” โดยอีอีซีเป็นแหล่งผลิตพืชสวนและพืชไร่ที่สำคัญของประเทศไทย เช่น ผลไม้ ยางพารา มันสำปะหลังและอ้อย ซึ่งรายได้จากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเป็นรายได้หลักในอีอีซีทำให้ระดับรายได้ภาคเกษตรในปัจจุบันมีช่องว่างที่จะยกระดับขึ้นมา เพื่อให้มูลค่าจีดีพีภาคเกษตร ใกล้เคียงกับมูลค่าจีดีพีภาคอุตสาหกรรม

สำหรับวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว จะมีการนำเทคโนโลยีดิจทัลมาใช้ ซึ่งมีการวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลรองรับและหลังจากในอีอีซีวางโครงข่าย 5G ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 80% ทำให้มีเกษตรกรเริ่มเข้าสู่ฟาร์มอัจฉริยะ ในขณะที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วางแนวทางการตลาดนำการผลิต เพื่อใช้เทคโนโลยีสร้างรายได้จากการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และสร้างโอกาสจากการตลาดรูปแบบใหม่

ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า เนื่องจากพื้นที่ภาคตะวันออก มีกิจกรรมภาคการเกษตรมาก่อนที่จะประกาศให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษ ดังนั้นตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่ต้องการพัฒนาภาคเกษตรให้เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ จึงต้องพิจารณาจากกิจกรรมที่มีอยู่เดิม ซึ่งในขณะนี้ สศก.และ สกพอ.อยู่ระหว่างหารือเพื่อจัดทำรายละเอียด

ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ สศก.จัดทำแผนพัฒนาการเกษตรอีอีซี และเป็นหน่วยงานประสานหลักในการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตร ซึ่งในอีอีซีได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อเป็นกรอบดำเนินการ โดยในการพัฒนาภาคการเกษตรให้มีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในอีอีซี

รวมทั้งต่อมาคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ภายใต้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในอีอีซี ลงวันที่ 30 มิ.ย.2563 โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นคณะทำงานและเลขานุการร่วม เพื่อจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรอีอีซี และแผนงานโครงการด้านการเกษตร ตั้งแต่ต้นทาง กลางทางและปลายทาง ให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาอีอีซี เพื่อให้เป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลิตภาพ และการเข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูง

ทั้งนี้ คาดว่าเดือน ต.ค. 2564 จะนำเสนอร่างแผนพัฒนาการเกษตรในอีอีซี 2566-2570 ให้ กพอ.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณา

สำหรับร่างแผนพัฒนาการเกษตรในอีอีซี มีเป้าหมายในการยกระดับรายได้เกษตรกรในอีอีซี ซึ่งจะเป็นต้นแบบการพัฒนาด้านการเกษตรสมัยใหม่ของประเทศตามแนวคิด “ตลาดนำการผลิต” (Demand pull) และ “การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี” (Technology Push) โดยจะสนับสนุนการพัฒนาคลัสเตอร์สินค้าเกษตรที่สำคัญในพื้นที่ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายหน่วยงานเจ้าภาพในแต่ละคลัสเตอร์ ได้แก่

1.คลัสเตอร์ประมง โดยกรมประมง 2.คลัสเตอร์ผลไม้ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร 3.คลัสเตอร์พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยกรมวิชาการเกษตร 4.คลัสเตอร์พืชสมุนไพร โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ร่วมกับกองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

5.คลัสเตอร์ High Valued Crops (ปศุสัตว์) โดยกรมปศุสัตว์ ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเชื่อมโยงอุตสาหกรรม S-curve และ New S-curve 

รวมถึงสร้างกระบวนการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร พัฒนาระบบเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งจะเป็นโอกาสของการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ และมีความสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และตามความต้องการวัตถุดิบของภาคอุตสาหกรรม เกิดประโยชน์กับภาคประชาชนในอีอีซีและจังหวัดใกล้เคียงต่อไป

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2564 ได้มีการเสนอร่างแผนพัฒนาการเกษตรในอีอีซี 2566-2570 ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งที่ประชุมมีมติรับทราบความก้าวหน้าการจัดทำร่างแผนพัฒนาการเกษตรฯ และมอบหมายคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในอีอีซี เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาการเกษตรในอีอีซี 2566-2570 ให้ครบตามห่วงโซ่มูลค่า