สหภาพฯยาสูบยื่นหนังสือร้องคลังค้านขึ้นภาษีบุหรี่

สหภาพฯยาสูบยื่นหนังสือร้องคลังค้านขึ้นภาษีบุหรี่

สหภาพแรงงานยาสูบและชาวไร่ยาสูบราว 50 คน ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีคลังเพื่อขอคัดค้านการขึ้นภาษีบุหรี่ หวั่นอุตสาหกรรมพังซ้ำรอยปี 60

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(23ก.ย.)สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการยาสูบ (สร.ย.) และชาวไร่ยาสูบได้เดินทางมาที่กระทรวงการคลังจำนวนประมาณ 50 คน เพื่อยื่นหนังสือถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของเครือข่ายสุขภาพที่ให้ขึ้นภาษีบุหรี่สูงขึ้นอีก เพื่อให้ราคาบุหรี่ขึ้นอีก 6-13 บาท เป็นราคาขั้นต่ำ 72-73 บาทต่อซอง โดยมีนางสาววันดี เจริญประวัติ รักษาการณ์ตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือเรียกร้อง

นางสาววันดี เจริญประวัติ รักษาการณ์ตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี กล่าวว่า จะรับข้อเสนอจากสหภาพแรงงานยาสูบ เพื่อส่งให้รมว.คลังพิจารณาต่อไป ส่วนผลของข้อร้องเรียนจะสามารถตอบกลับได้วันไหนนั้นยังไม่สามารถระบุได้ ต้องรอรมว.คลังเป็นผู้สั่งการ

นายสุเทพ ทิมศิลป์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการยาสูบ (สร.ย.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเครือข่ายสุขภาพที่ให้ปรับอัตราภาษีบุหรี่ขึ้น เพื่อให้ราคาบุหรี่ขั้นต่ำอยู่ที่ 72-73 บาท พร้อมระบุว่า ตั้งแต่มีการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ตั้งแต่ปี 2560 ยสท.พยายามปรับตัวมาโดยตลอด เพราะต้องขายสินค้าแข่งกับแบรนด์ของผู้นำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาเท่ากัน และบุหรี่เถื่อนที่มีราคาต่ำกว่ามาก

“แม้ ยสท. จะมีกำไร แต่เงินรายได้ที่ต้องส่งรัฐ 88% ก็หายไปกว่า 34,000 ล้านบาท เพราะไม่ได้นำส่งมา 4 ปีแล้ว และหากกรมสรรพสามิตนำข้อเสนอแนะการปรับขึ้นภาษีบุหรี่จากเครือข่ายสุขภาพมาใช้จริง นอกจากรายได้รัฐจะหายไปแล้ว อาจทำให้ ยทส. อยู่ไม่ได้และหายไปด้วย ซึ่งจะส่งกระทบต่อพนักงานของ ยสท. กว่า 2,000 คน”

นอกจากนี้ แม้รัฐจะมีการปราบปรามเรื่องบุหรี่เถื่อนแล้ว แต่โดยพื้นฐานแล้วการปราบปรามการกระทำผิดทางกฎหมายไม่มีทางทำได้อย่างทั่วถึงและสมบูรณ์ ดังนั้น จึงเห็นได้ว่ายังพบปัญหาเถื่อนอย่างล้นทะลัก ซึ่งส่วนนี้ก็ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีบุหรี่ของรัฐบาลลดลงด้วยเช่นกัน เพราะคนหันไปซื้อบุหรี่เถื่อน ที่มีราคาถูกกว่ามากขึ้น

“ไม่อยากให้กระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิตผิดสัญญาจนต้องกลืนจุดยืนของตัวเองที่เคยบอกว่า การปรับโครงสร้างภาษีจะต้องบรรลุวัตถุประสงค์ 4 เรื่องทั้งการแก้ปัญหาชาวไร่ รายได้ บุหรี่เถื่อนและสาธารณสุข แต่พอเอาเข้าจริงก็เสียท่าให้กับหมอและเอ็นจีโอฝั่งสุขภาพ อยากให้เห็นใจคนในอุตสาหกรรมที่ยังต้องทำงาน ทำไร่ ส่งเสียครอบครัว” นายสุเทพ กล่าว

ด้านนายกิตติทัศน์ ผาทอง ตัวแทนภาษีชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวไร่ยาสูบได้รับผลผลกระทบมาโดยตลอด เนื่องจาก ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเท่าที่ควร รวมทั้ง เงินชดเชย 160 ล้านบาทที่รัฐบาลรับปากจะจ่ายให้

ทั้งนี้ การขึ้นภาษีบุหรี่สรรพสามิตอีกครั้ง จะกระทบกับปากท้องชาวไร่กว่า 30,000 ครอบครัว และทำให้ถูกตัดโควตาปลูกยาสูบเพิ่มขึ้นซึ่งกระทบต่อรายได้เฉลี่ย 30,000 บาทต่อไร่ ทั้งนี้ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาเม็ดเงินของชาวไร่หายไปกว่า 900 ล้านบาท