‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’อ่อนค่า’ ที่33.39บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’อ่อนค่า’ ที่33.39บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย”ชี้ระยะสั้นเงินบาทอ่อนค่า ตลาดยังกังวลปัญหาเอเวอร์แกนด์ผิดนัดชำระหนี้ ลุกลามเป็นวงกว้าง และการระบาดโควิดในประเทศยังไม่แน่นอน อีกทั้งเงินบาทยังผันผวนต่อตามผลประชุมเฟดรอบนี้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่ 33.35-33.50บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้(22ก.ย.) ที่ระดับ  33.39 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.37 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.50 บาทต่อดอลลาร์

แนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมุมมองว่า  ในระยะสั้นภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินก็จะกดดันให้ เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และ การอ่อนค่าลงของเงินหยวน จากประเด็นความเสี่ยงเอเวอรแกรนด์( Evergrande )ซึ่งตลาดกลัวว่า มันอาจส่งผลกระทบลุกลามเป็นวงกว้าง

ขณะเดียวกัน ปัจจัยภายในประเทศก็ยังคลุมเครือ อาทิ แนวโน้มสถานการณ์การระบาดจะเริ่มดีขึ้นไหม หรือ จะเจอการระบาดระลอกใหม่ก่อน

นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของปริมาณการออกบอนด์ ที่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด ตามการขยายเพดานหนี้พร้อมประกาศกู้เงินเพิ่มเติมของรัฐบาล ก็อาจกดดันให้ ผู้เล่นในตลาดบอนด์ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ยังไม่รีบกลับเข้ามาลงทุนในบอนด์ระยะยาว

ทั้งนี้ เงินบาทก็ยังมีโอกาสผันผวนขึ้น ตามเงินดอลลาร์ได้ หากผลการประชุมเฟดในครั้งนี้ มีการส่งสัญญาณว่าเฟดพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นและอาจจะมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ อาทิ เจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2565และ เฟดส่วนใหญ่สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยราว 4 ครั้ง ในปี 2567ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้เงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้นต่อได้ ทั้งนี้ หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจน หรือ คาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ต่างจากมุมมองของตลาด เงินดอลลาร์ก็อาจอ่อนค่าลงได้บ้างเช่นกัน

ผู้เล่นในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง เนื่องจากผู้เล่นตลาดต่างรอจับตาแนวทางการแก้ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทเอเวอร์แกรนด์ที่ผู้เล่นต่างคาดหวังว่า ทางการจีนอาจจะยื่นมือเข้ามาดูแลเพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบหนักต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงรอคอยผลการประชุมของเฟดที่จะทราบในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ นี้ 

ในฝั่งตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดยังไม่รีบกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์เสี่ยงและยังคงรอผลการประชุมเฟดไปก่อน ทำให้ ดัชนี Dowjones ย่อตัวลง -0.15% เช่นเดียวกันกับ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.08% ขณะที่ หุ้นเทคฯพยายามรีบาวด์ขึ้นมาและช่วยให้ ดัชนี Nasdaq ปิดตลาด +0.22%จ

ส่วนทางด้านตลาดยุโรป ดัชนี STOXX50 รีบาวด์ขึ้นมากว่า +1.33% หลังจากเผชิญแรงเทขายที่หนักหน่วงในวันก่อนหน้า โดยมองว่าแรงซื้อหลักนั้นมาจากนักลงทุนที่รอจังหวะดัชนีย่อตัวลง (Buy on Dip) หลังดัชนี STOXX50 ได้ปรับตัวลงมาใกล้แนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน  ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของดัชนีได้รับแรงหนุนจากหุ้นเกือบทุกตัว อาทิ L’Oreal +3.0%, Louis Vuitton +2.8%, Total Energies +2.5%, ASML +2.0%, Allianz +2.0% เป็นต้น ซึ่งต้องจับตามองว่าดัชนีจะสามารถรีบาวด์กลับขึ้นมาเหนือแนวรับหลักได้หรือไม่

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดต่างรอคอยผลการประชุมเฟด โดยเฉพาะในประเด็นการส่งสัญญาณทยอยลดคิวอีรวมถึง ประมาณการเศรษฐกิจและคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ทำให้โดยรวม ตลาดบอนด์ยังไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก โดยบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงทรงตัวใกล้ระดับ 1.31% ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ไทย เรามองว่า แรงเทขายบอนด์จากนักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มเบาบางลงบ้าง หลังจากผู้เล่นในตลาดรับรู้แนวโน้มปริมาณการออกบอนด์ที่เพิ่มขึ้นไปพอสมควรแล้ว ขณะเดียวกันฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาเก็งกำไรเงินบาทแข็งค่าในช่วงก่อนหน้า ก็น่าจะปิดสถานะเก็งกำไรไปมากแล้วเช่นกัน 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทรงตัว เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยผู้เล่นในตลาดยังคงมีความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อรับมือกับความผันผวนในตลาด จากประเด็น Evergrande รวมถึง รอให้ผลการประชุมเฟดมีความชัดเจนก่อน ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) แกว่งตัวใกล้ระดับ 93.23 จุด ส่วนเงินเยน (JPY) แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 109.2 เยนต่อดอลลาร์ จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย เช่นเดียวกันกับ ราคาทองคำที่เดินหน้าปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1,775 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ หลังผู้เล่นในตลาดกลับมาถือสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ท่ามกลางความกังวลปัญหา Evergrande  

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดยังคงติดตามปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท Evergrande ว่าทางการจีนจะเข้ามาช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าวลุมลามและส่งผลกระทบรุนแรง 

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงเฝ้ารอผลการประชุมธนาคารกลางหลัก โดยเริ่มจากในฝั่งเอเชีย ตลาดมองว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% พร้อมทั้งเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการซื้อสินทรัพย์ต่อ เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เริ่มดีขึ้น ซึ่งแนวโน้มการสนับสนุนเศรษฐกิจด้วยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อนั้น อาจช่วยพยุงให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดจะรอติดตาม ผลการประชุมเฟด ที่จะทราบในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ โดยเราประเมินว่า ถึงโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเริ่มชะลอลง แต่เฟดอาจมองว่า ปัจจัยเชิงลบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจอาทิ ผลกระทบของการระบาด Delta รวมถึง ความวุ่นวายทางการเมืองสหรัฐฯ จากการพิจารณาเพดานหนี้ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงชั่วคราว ในขณะที่ ทั้งอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงาน เริ่มเข้าใกล้เป้าหมายของเฟดมากขึ้น ทำให้ในการประชุมครั้งนี้ แม้ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.00-0.25% แต่เรามองว่า เฟดอาจเริ่มส่งสัญญาณการปรับลดคิวอีที่ชัดเจนมากขึ้น ส่วนการประกาศลดคิวอี รวมถึงรายละเอียดแผนการลดคิวอีที่ชัดเจนอาจเกิดขึ้นในการประชุมเดือนพฤศจิกายน และ เฟดอาจเริ่มลดคิวอีได้จริงในเดือนธันวาคม 

นอกจากนี้ จะต้องจับตาประมาณการเศรษฐกิจและแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตของเฟด (Dot Plot) โดยเรามองว่า สิ่งที่น่าสนใจและอาจกระทบต่อตลาดการเงินได้ คือ มุมมองการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทั้งในปี 2565และ ในปี 2567 โดย หากมีจำนวนเจ้าหน้าที่เฟดมากขึ้น สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2565รวมไปถึง หากเฟดมองการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2567 ถึง 4 ครั้ง ซึ่งมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ ก็อาจทำให้ ตลาดผันผวนมากขึ้นได้เช่นกัน