กรณ์-เชาว์ โชว์วิสัยทัศน์ สร้าง ดิจิทัลแพลตฟอร์มสัญชาติไทย

กรณ์-เชาว์ โชว์วิสัยทัศน์ สร้าง ดิจิทัลแพลตฟอร์มสัญชาติไทย

กรณ์ ลั่น หากไม่ปฏิรูประบบราชการ ไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ แนะ สร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มสัญชาติไทย เกราะป้องกันตกเมืองขึ้นเศรษฐกิจ

11 ก.ย.2564 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า พร้อมด้วย เชาว์-สมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษานโยบายด้านเทคโนโลยีเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัล พรรคกล้า ร่วมแสดงความเห็นในคลับเฮาส์ ห้องส่องทางไกล ในหัวข้อ “คลื่นลูกใหญ่ในทศวรรษหน้า ประเทศไทย ไปทางไหนดี”

 โดยเนื้อหาการพูดคุยครอบคลุมความเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งเทคโนโลยี สภาพภูมิอากาศ พฤติกรรมของผู้คน รวมไปถึงปัญหาต่าง ๆ ที่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็น ภาวะผู้นำประเทศ ระบบราชการ, การคอรัปชั่น, คนตัวเล็ก และมายด์เซ็ทของประชาชน  โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

นายกรณ์ กล่าวว่า สัญญาณเศรษฐกิจของประเทศชัดเจนตั้งแต่ก่อนโควิดแล้วว่ามีปัญหา ตัวชี้วัดสำคัญคือ ปริมาณการลงทุนซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักลดลงอย่างน่าใจหายในรอบ 7-8 ปีที่ผ่านมา

ทั้งการลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ ที่ดัชนีหุ้นนิ่งมานานหลายปี การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหดหาย โดยย้อนกลับไปเมื่อ 10-20 ปีก่อน ไทยครองส่วนแบ่งการลงุทนถึง 50% ของกลุ่มประเทศอาเซียน ปัจจุบันเหลือเพียง 10-20% เท่านั้น แม้แต่นักลงทุนไทยเองก็เลือกไปลงทุนต่างประเทศ 

นายกรณ์ กล่าวว่า พรรคกล้าเราให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี ที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องในทุก ๆ ด้าน ทั้งเกษตร ศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ในขณะที่การส่งเสริมนวัตกรรมของเรายังขาดความชัดเจน ปัญหาระบบราชการไม่เอื้อต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงต่อการดูแลประชาชน เราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เร็วกว่าเพื่อนบ้านทุกประเทศ แต่เราไม่มีความพร้อมเลย

ทั้งการเตรียมระบบบำเหน็จบำนาญที่จะเข้าสู่วัยเกษียณ รวมถึงด้านแรงงาน กระบวนการการผลิตเรายังเป็นยุค 3.0 คือพึ่งพาแรงงานขั้นต่ำ ซึ่งเราไม่มีเหลือเฟือเหมือนเมื่อก่อน ต้องพึ่งแรงงานต่างด้าว เหล่านี้เทคโนโลยีจะเป็นคำตอบ

หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวอีกว่า ปัญหาหลักของไทย ไม่ใช่ปัญหาการเข้าถึงเทคโนโลยี วันนี้คนไทยใช้เฟซบุ๊ก, ไลน์ อันดับต้น ๆ ของโลก  แต่ปัญหาขึ้นอยู่กับหลักคิดของผู้บริหารประเทศด้านเศรษฐกิจ เรามีแอปเป๋าตัง ที่ดึงคนเข้าระบบได้กว่า 30 ล้านคนภายใน 1 ปี เพราะประชาชนเข้าถึงง่ายและได้ประโยชน์จากการใช้แอป ปัญหาอาจจะมีในระยะแรกเพราะเป็นของใหม่แต่สุดท้ายก็มีการปรับตัว ปัญหาตอนนี้คือ เราจะทำอย่างไรให้ผู้มีอำนาจรู้ว่าประเทศไทยรอไม่ได้แล้วต้องเร่งปรับตัว ถ้าผู้นำไม่เข้าใจและให้ความสำคัญก็จะทำให้เกิดเป็นกระแสหลักได้ยาก โดยเฉพาะระบบราชการที่ล้าหลังไม่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งการทำงานแบบแยกส่วนไม่แชร์ข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน โอกาสที่จะไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นไปได้ยากและเราก็จะตกขบวนในไม่ช้า 

“นักการเมือง ไม่สมควรกำหนดว่าประเทศไทยจะต้องเด่น ดี ทางไหน ธุรกิจไหนควรส่งเสริม เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าทิศทางจะไปไหน แต่สิ่งที่นักการเมืองควรทำคือ สร้างระบบนิเวศน์ ให้นวัตกรรมนี้เกิดได้ และให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่มีแนวคิดเชิงนวัตกรรม สามารถเกิดและเติบโตได้ เงื่อนไขสำคัญที่สุด คือระบบราชการต้องทันสมัย ไม่งั้นเกิดไม่ได้ วันนี้ สตาร์ทอัพต่างชาติจะมาลงทุนในประเทศไทย จริง ๆ มีการส่งเสริมจากบีโอไอ ให้สามารถขอสตาร์ทอัพวีซ่าได้ แต่เขาต้องมากรอกรายละเอียดมากมายในกระดาษ แม้จะเอาเทคโนโลยีมาใช้แต่ยังคิดแบบเดิมก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เขาเลยย้ายการลงทุนไปที่สิงคโปร์ มาเลเซียแทน” หัวหน้าพรรคกล้า กล่าว  

ด้านนายสมคิด กล่าวว่า หากเทียบประเทศไทย กับอเมริกา จะเห็นว่า 10 บริษัทชั้นนำที่มีรายได้สูงสุดนั้น บ้านเรายังเป็นบริษัทเดิมเมื่อ 20 ปีที่แล้วที่โยงยึดอยู่กับภาครัฐ ในขณะที่อเมริกามีแต่บริษัทเทค ดิจิทัล บริษัทรุ่นเก่าตกอันดับหมดแล้ว  แสดงให้เห็นว่า เราไม่มีแพลตฟอร์มธุรกิจรองรับโลกหน้า แต่ยังคงยึดโยงกับธุรกิจเดิม ที่ไม่สอดรับกับการหมุนรอบเศรษฐกิจที่เร็วกว่าเดิมหลายร้อยเท่า วันนี้เราพร้อมหรือยังกับการขับใช้เศรษฐกิจดิจิทัลขับเคลื่อนประเทศด้วย 4 มิติหลัก ได้แก่ 1. Fully digital คือสังคมไร้เงินสดร้อยเปอร์เซ็นต์ 2. Paperless คือ เอกสารทุกอย่างอยู่ในมือถือ ปลอดภัย ปลอมยาก เพราะทุกอย่างทำเป็นดิจิทัล พิสูจน์ตัวตนได้ โดยไม่ต้องจำเป็นต้องพกบัตรมากมาย ไม่ต้องถ่ายเอกสารให้ยุ่งยากในการทำธุรกรรม ทุกอย่างเชื่อมโยงได้ตั้งแต่ต้นทาง  3.Peopleless หรือองค์กรอัตโนมัติ DAO model (Decentralized Autonomous Organization) ธุรกิจบริการที่ไม่จำเป็นต้องใช้คน  4. Borderless แพลตฟอร์มที่มีข้อมูลมากขึ้น คนใช้มากขึ้น ต่อยอดไปธุรกิจอื่น ๆ ในทันที ด้วยแพลตฟอร์มที่มีลักษณะที่คล้าย ๆ เช่น Grab ที่ขยายการบริการ จากแท็กซี่ เป็น อาหาร เอ็กซ์เพรส และอื่น ๆ ซึ่งทั้ง 4 มิตินั้นเราต้องอาศัยความสามารถของคนกับความสามารถของเทคโนโลยีที่จะเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลแบบเต็มตัว 

นายสมคิด แนะนำว่า เพื่อเป็นการต่อยอดเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐควรสร้างแพลตฟอร์มเอื้อคนตัวเล็ก เพื่อให้สามารถแข่งขันคนตัวใหญ่ได้ และควรเป็นแพลตฟอร์มแบบเปิด เหมือนห้างสรรพสินค้าที่รวมหลายร้านไว้ในที่เดียว การบริการจะเป็นโลกคู่ขนานกับแบบเดิมสักระยะ  โดยมองถึงการให้อำนาจประชาชนเป็นหลัก เช่น ความสะดวกสบาย ใช้เวลาน้อยลง มีทางเลือก มีของดี ๆ ให้ใช้ และที่สำคัญ ที่เราไม่ค่อยพูดถึง และไม่แน่ใจว่ามีกฎหมายอะไรควบคุมหรือไม่ คือการสร้างแพลตฟอร์มให้ประชาชนโหวตในแต่ละเรื่องได้  ทุกวันนี้อำนาจประชาชนมีแค่วันเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งถ้าทำได้ จะเป็นการให้อำนาจพลังประชาชนอย่างแท้จริง