เช็คประสิทธิภาพการส่งผ่านนโยบายการเงิน สู่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบงก์

เช็คประสิทธิภาพการส่งผ่านนโยบายการเงิน สู่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบงก์

"กรุงไทย" เผยธปท. กลับมาลดดบ.นโยบาย 5ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในวิกฤติรอบ 2 ปี ชี้ส่งผ่านมาถึงลดดบ.แบงก์ไม่เต็มที แต่ลดเงินนำส่ง FIDF เหลือ 0.23%ถึงสิ้นปี 65 ช่วยลูกหนี้ลดภาระดบ.จ่ายได้1.5 หมื่นล้าน "แบงก์-โบรกฯ" จับทิศประชุมกนง.29ก.ย.นี้ คาดคงดบ.แต่อาจลด ดันหุ้นทะลุ1,700จุด

หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 5/2564 ซึ่งเป็นการประชุมเมื่อวันที่ 4 ส.ค.2564 คณะกรรมฯ เห็นพ้องกันว่าการใช้มาตรการทางการเงินจะสามารถช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ได้ตรงจุดมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

อย่างไรก็ตาม กรรมการฯ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย จะเป็นการดำเนินนโยบายเพื่อรองรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่อาจสูงขึ้นในระยะข้างหน้ ที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า (Pre-emptive)แม้อัตราดอกเบี้ยจะเป็นเครื่องมือที่ตรงจุดและมีประสิทธิผลน้อยกว่ามาตรการการเงินและการคลังอื่นๆ

ในปีนี้ 2564 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ธปท. ยังคงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% แต่ในการประชุมกนง. เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เริ่มเสียงแตก ทำให้มีโอกาสลดดอกเบี้ย0.25% มากขึ้น

ดังนั้น ก่อนการประชุม กนง รอบใหม่ 29 ก.ย.นี้  ลองมาเช็คประสิทธิภาพการส่งผ่าน'นโยบายการเงิน' สู่ 'อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบงก์' ในช่วงที่ธปท.กลับมา “ลดดอกเบี้ย” ในช่วงวิกฤติ ปี 2562 และปี 2563  จากปีก 2561 เป็นการขึ้นดอกเบี้ย

โดยนักกลยุทธ์ตลาดเงินและตลาดทุน “Krungthai Global Markets  ธนาคารกรุงไทย”  ได้ “จับทิศทางประชุม กนง. Cut or Hold”  ข้อมูล ณ 9 ก.ย.2564  ดังนี้

 

เช็คประสิทธิภาพการส่งผ่านนโยบายการเงิน สู่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบงก์

การกลับมา “ลดดอกเบี้ยในปี 2562”   มีสาเหตุ จากเศรษฐกิจโลกชะลอตามผลกระทบสงครามการค้า สหรัฐ-จีน ได้ส่งผลระทบต่อการส่งออกของไทยโดยตรงและเศรษฐกิจไทยโดยรวมชะลอตัวลงพอสมควร  มีการลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง

1.  เดือน ส.ค.2562   ลดดอกเบี้ยนโยบาย  0.25%   ส่งผ่านมายัง อัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ย  “คงที่”   อัตราดอกเบี้ย M0R เฉลี่ย “  ลดลง  0.16%”    อัตราดอกเบี้ย MRR เฉลี่ย    “ ลดลง  0.21%”  มีการเปลี่ยนแปลงโดยเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้  “ลดลง  0.18%” 

2. เดือน พ.ย.2562    ลดดอกเบี้ยนโยบาย  0.25%   ส่งผ่านมายัง อัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ย  “  ลดลง 0.20%”   อัตราดอกเบี้ย M0R เฉลี่ย “  ลดลง  0.06%”    อัตราดอกเบี้ย MRR เฉลี่ย    “ ลดลง  0.08%”  มีการเปลี่ยนแปลงโดยเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้  “ลดลง  0.12%”   

ต่อเนื่องมาถึง “ลดดอกเบี้ยในปี 2563 มีสาเหตุจาก จุดเริ่มต้นวิกฤติโควิด-19  ในจีนที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยหดตัว มีการลดดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 

1.  เดือน ก.พ.2563  ลดดอกเบี้ยนโยบาย  0.25%   ส่งผ่านมายัง อัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ย  “ลดลง  0.10%”   อัตราดอกเบี้ย M0R เฉลี่ย “  ลดลง  0.09%”    อัตราดอกเบี้ย MRR เฉลี่ย     ลดลง  0.08%”  มีการเปลี่ยนแปลงโดยเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้  “ลดลง  0.09%” 

  2. เดือน มี.ค.2563    ลดดอกเบี้ยนโยบาย  0.25%   ส่งผ่านมายัง อัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ย  “  ลดลง 0.05%”   อัตราดอกเบี้ย M0R เฉลี่ย “  ลดลง  0.44%”    อัตราดอกเบี้ย MRR เฉลี่ย    “ ลดลง  0.12%”  มีการเปลี่ยนแปลงโดยเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้  “ลดลง  0.20%”   

3. เดือน พ.ค. 2563    ลดดอกเบี้ยนโยบาย  0.25%   ส่งผ่านมายัง อัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ย  “  ลดลง 0.17%”   อัตราดอกเบี้ย M0R เฉลี่ย “  ลดลง  0.15%”    อัตราดอกเบี้ย MRR เฉลี่ย    “ ลดลง  0.35%”  มีการเปลี่ยนแปลงโดยเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้  “ลดลง  0.22%”   

 

“พูน พานิชพิบูลย์” นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่า ที่ผ่านมาอำนาจการส่งผ่าน นโยบายการเงินจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย อาจไม่ได้สูงมากนัก  คือ ธปท. ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% อาจจะส่งผ่านมาถึง การลดดอกเบี้ยแบงก์ ไม่ถึง 0.25%  

แต่อย่างไรก็ตาม ล่าสุด เพื่อให้การส่งผ่านมีอำนาจมากขึ้น ธปท.จึงช่วยลดภาระต้นทุนการเงินของแบงก์   ล่าสุดได้ขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF เหลือ 0.23% จาก 0.46% ต่อปี ที่จะสิ้นสุดสิ้นปี 2564 นี้ ออกไปจนถึงสิ้นปี 2565 นั้น แน่นอนว่า ทำให้การลดดอกเบี้ยนโยบายของธปท. มีผลให้แบงก์ลดดอกเบี้ยได้มากขึ้น

โดยพบว่ามี ลูกหนี้สถาบันการเงินที่ได้ประโยชน์ 6 ล้านล้านบาท จากยอดสินเชื่อรวม 12-13 ล้านล้านบาท โดยครั้งนี้มีการปรับดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จะส่งผลต่อลูกหนี้ที่ใช้สินเชื่อดอกเบี้ยตระกูล M เช่น สินเชื่อรายย่อย สินเชื่อบ้าน และอื่นๆ ได้ลดภาระดอกเบี้ยถึง 15,000ล้านบาท

ขณะเดียวกันในรอบการประชุมกนง. 29 ก.ย.นี้   “พูน”  มองว่า  กนง. น่าจะยังไม่ตัดสินใจลดดอกเบี้ย แม้ว่า กนง.อาจจะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจลง เหลือ 0.4-0.5% จากการประชุมครั้งก่อนปรับลงมาอยู่ที่ 0.7% จาเดิม 1.8%  เนื่องจากกนง. อาจจะรอดูแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ รวมถึง การระบาด หลังการทยอยผ่อนคลายล็อกดาวน์ไปก่อน อีกทั้ง ในฝั่งของรัฐบาลเองก็ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าต้องการให้ กนง. ลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจริงจัง ในแบบที่เคยเป็นมา

“คาดว่าการประชุมกนง. รอบนี้ การจะให้ กนง. ที่เหลือ ยกมือโหวต ลดดอกเบี้ย ก็น่าจะยาก” แต่ก็ไม่ใช่ว่า จะไม่มีโอกาสลดดอกเบี้ยเลย เรามองว่า ถ้ามีการระบาดระลอกใหม่เร็วและรุนแรง เช่น ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งไป 2 หมื่นคนอย่างรวดเร็ว จนต้องล็อกดาวน์หนัก ในช่วงก่อน ประชุม กนง. รอบนี้  ก็มีโอกาสที่จะกดดันให้ กนง. ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อเป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจ

ส่วนแนวโน้มอนาคต ถ้ารอบนี้ไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย  ในรอบครั้งต่อปีจะลดได้ไหมหรือไม่นั้น  เรามองว่า จริงๆ ก็ยังมีความเสี่ยง เรื่องการระบาดโควิด-19  ที่ดูเหมือนว่า “จะรีบผ่อนคลายเร็วไป”  แต่ก็ยังประเมินได้ยากว่า  การระบาดระลอกใหม่จะรุนแรงขนาดไหน เพราะการแจกวัคซีน ได้เร่งตัวขึ้นมาก ดังนั้นเรามองว่า สุดท้าย ไทย อาจจะเป็นแบบอังกฤษ คือ ยอดติดเชื้อพุ่งได้ไม่เป็นไร สามารถคลายล็อกดาวน์ได้ เพราะยอดเสียชีวิต และเจ็บหนัก ไม่พุ่งนั่นเอง

“กาญจนา โชคไพศาลศิลป์” ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  กล่าวว่า การประชุมกนง. รอบเดือนก.ย.นี้  คาดว่ายังไม่น่าจะลดดอกเบี้ย  เนื่องยังต้องติดตามมาตรการทางการเงินที่เน้นช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้สถานการณ์การระบาดของโควิดเริ่มเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อลดระดับลงมาบางส่วน และมีการเริ่มคลายล็อกมาตรการ ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนทยอยกลับมา ดังนั้นกนง. น่าจะอยู่ในโหมด wait and see รอติดตามและประเมินพัฒนาการของสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด

 “เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส กล่าวว่า การประชุมกนง. รอบปลายเดือนก.ย.นี้ มองว่า มีโอกาสทั้งคงดอกเบี้ยที่ 0.5% หรือลดดอกเบี้ย 0.25% ได้ 1 ครั้งในปีนี้ เพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจ เริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น หลังจากการประชุมกนง.ครั้งก่อน มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ในรอบ 1 ปี 6 เดือน และเงินเฟ้อยังทรงตัวต่ำจนถึงหดตัวได้อีกในครึ่งปีหลัง  

ถึงแม้จะลดดอกเบี้ยทำให้กระแสฟันด์โฟลว์มีโอกาสไหลออก แต่ยังมีเงินนักลงทุนในประเทศ ทั้งกองทุนและรายย่อย  ไหลเข้ามาพยุงดัชนีในปีนี้ไม่ให้ย่อลงมาก ดังนั้นถ้าลดดอกเบี้ยลง 0.25% หนุนพี/อีมาอยู่ที่ 24.1 เท่า เพิ่มขึ้น 1.37 เท่า ดันดัชนีขึ้นมาราว  101 จุด ทำให้สิ้นปีนี้ดัชนีจะปรับขึ้นมาแตะ  1,771จุด