BBIK ลั่นเงินระดมทุน ปลดล็อก ขยายธุรกิจ ดันรายได้เติบโต

BBIK ลั่นเงินระดมทุน ปลดล็อก ขยายธุรกิจ ดันรายได้เติบโต

BBIK เกาะเทรนด์การเปลี่ยนแปลงโลก ! สร้างการเติบโตครั้งใหม่ จุดขาย ไอพีโอน้องใหม่ หวังนำเงินระดมทุนเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถการแข่งขัน สะท้อนผ่านขยายลงทุน ซื้อกิจการ-เจวี เพิ่มรายได้ สู่เป้าหมายรักษาการโตระดับ 20-30% ต่อปี

จากกระแส 'การเปลี่ยนแปลงโลก' (Mega Trends) ที่กำลังผลักดันให้องค์กรธุรกิจต่างๆ ต้องเร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานให้เข้าสู่ 'ยุคดิจิทัล' หรือ 'ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น' เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยแสวงหาประโยชน์จากเทคโนโลยี บ่งชี้ผ่านอุตสาหกรรมดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันทั่วโลกปี 2563 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 16.5% (ข้อมูลจาก MarketsandMarkets) ขณะทีเมืองไทยตลาดมีการเติบโตใกล้เคียงกัน

ปัจจัยบวกดังกล่าวส่งผลดีต่อหุ้นไอพีโอน้องใหม่อย่าง บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK ผู้ประการธุรกิจคอนซัลต์ด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันตัวแรกในประเทศไทย กำลังจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยขายหุ้นไอพีโอ จำนวน 25 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท ราคาหุ้นละ 18 บาท  เปิดจองซื้อ 8-10 ก.ย. และ คาดเข้าซื้อขาย (เทรด) ภายในเดือนก.ย. 2564 นี้ สำหรับการจัดสรรหุ้น IPO ครั้งนี้แบ่งเป็นการเสนอขายให้นักลงทุนสถาบันสัดส่วน 25% ส่วนที่เหลือเป็นนักลงทุนรายย่อย

ด้วย 'จุดต่าง' ของบริษัทคือมีคณะผู้บริหารและบุคลากรที่เคยร่วมงานในบริษัทคอนซัลต์ชั้นนำระดับโลก เพื่อให้คำปรึกษาด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และวางกลยุทธ์ เพื่อปลดล็อกศักยภาพการเติบโตให้แก่องค์กรแบบไร้ขีดจำกัดและปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานสู่ดิจิทัล ดังนั้น บริษัทจึงมีเป้าหมายก้าวสู่ บริษัทคอนซัลต์ด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันชั้นนำแบบครบวงจร ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าองค์กรที่เป็นบริษัทชั้นนำ อาทิ ธุรกิจการเงิน ประกันภัย ค้าปลีก และโทรคมนาคม ฯลฯ ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

'พชร อารยะการกุล' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK ให้สัมภาษณ์พิเศษ 'หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ' ว่า การขยับตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ในครั้งนี้ ! ยอมรับว่า เมื่อต้องการ “ปลดล็อค” การเติบโตของ 4 ธุรกิจหลัก และลงทุนธุรกิจใหม่ๆ ด้วยเงินระดมทุนจำนวน 450 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถการแข่งขัน 

ณ ปัจจุบัน BBIK มี 4 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย 1.บริการให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการ (Management Consulting) คิดเป็นสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 30.4% โดยทำหน้าที่ค้นหาปัจจัยความสำเร็จทางธุรกิจให้แก่ลูกค้า กำหนดทิศทางกลยุทธ์ด้านต่างๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ผลกระทบและโอกาสเชิงเศรษฐศาสตร์จากการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับธุรกิจ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเติบโตอย่างก้าวกระโดด (Exponential Growth)

2.บริการที่ปรึกษาการบริหารจัดการโครงการเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic PMO) คิดเป็นสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 5.7% โดยทำหน้าที่บริหารโครงการขนาดใหญ่ ที่มีความซับซ้อนสูงให้กับองค์กรขนาดใหญ่ และเข้าไปวางโครงสร้างระบบไอทีภายในองค์กร 3.บริการพัฒนาระบบดิจิทัลและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี (Digital Excellence and Delivery) คิดเป็นสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 52% โดยทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านดิจิทัลครบวงจรและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับแต่ละองค์กร 

และ 4. บริการที่ปรึกษาด้านการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Big Data & Advanced Analytics) คิดเป็นสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 11.9% โดยทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้วย AI และให้คำแนะนำการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล เพื่อสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม 

BBIK ลั่นเงินระดมทุน ปลดล็อก ขยายธุรกิจ ดันรายได้เติบโต

เขา บอกต่อว่า สำหรับแผนธุรกิจหลักเข้าระดมทุนแล้ว บริษัทจะนำเงินระดมทุนดังกล่าวสร้างการเติบโตในอนาคตต่อเนื่องผ่าน 'การขยายลงทุน' คือ 1.ลงทุนเพิ่มบุคลากรและเสริมสร้างทักษะด้านเทคโนโลยีให้กับบุคลากรเพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจของกลุ่มบริษัท จำนวน 67.50 ล้านบาท 2.พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล จำนวน 67.50 ล้านบบาท 3. พัฒนาและปรับปรุงซอฟต์แวร์สำหรับใช้งานภายในองค์กร ใช้เงิน 22.50 ล้านบาท 4.เพื่อใช้ขยายพื้นที่สำนักงาน จำนวน 45 ล้านบาท และ 5.ลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 135 ล้านบาท 

ยิ่งเฉพาะในส่วนของ 'การลงทุนใหม่' ที่เป็นการขยายตัวออกจากธุรกิจหลัก นั่นคือ การพัฒนาและปรับปรุงซอฟต์แวร์สำหรับใช้งานภายในองค์กร ซึ่งบริษัทมีแผนการพัฒนาเพื่อขยายตลาดเข้าสู่ลูกค้าองค์กรขนาดกลางและเล็ก ด้วยการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เป็นรูปแบบซอฟต์แวร์เพื่อให้องค์กรนำไปใช้ได้ ซึ่งองค์กรดังกล่าวอาจจะมีเงินไม่เพียงพอที่จะมาว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการให้ รวมทั้งบริษัทอาจจะไม่มีการแข่งขันที่สูงมากเหมือนเทียบกับองค์กรขนาดใหญ่

โดยมองว่ากลุ่มลูกค้าองค์กรดังกล่าวคาดว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ (ออนไลน์) เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงมาก ซึ่งบริษัทอยากจะขยายตลาดเข้าไปในกลุ่มดังกล่าวผ่านผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์แทนการให้พนักงาน (คน) เข้าไปให้คำปรึกษา 'เป้าหมานของเราจะสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้กลุ่มองค์กรขนาดกลาง-เล็ก ใช้เทคโนโยลีแทนการให้บริการที่ปรึกษาผ่านคน' คาดว่าจะเห็นผลิตภัณฑ์ทยอยออกมาสู่ตลาดใน 1-3 ปีข้างหน้า 

ขณะที่อีกหนึ่งการลงทุนใหม่คือ ลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเข้าซื้อกิจการ (M&A) และ การร่วมทุนแบบJoint Venture หรือ JV  ซึ่งบริษัทมองเป็นช่องทางสร้างรายได้ใหม่เพิ่มเข้ามา สะท้อนผ่าน ล่าสุด ร่วมลงทุนกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ บริษัท ออร์บิท ดิจิทัล จำกัด (ORBIT) โดย OR ถือหุ้นผ่าน Modulus ที่เป็นบริษัทย่อย 40% และบริษัทถือหุ้น 60% 

โดยความร่วมมือดังกล่าวเพื่อเติมเต็มนวัตกรรมและศักยภาพด้านดิจิทัลสู่การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า โดยเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทร่วมทุนดังกล่าวเป็น 50 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่การเพิ่มมูลค่าและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงยกระดับ OR เป็นผู้นำด้านดิจิทัลในอุตสาหกรรมค้าปลีก ซึ่งคาดว่าบริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้จาก ORBIT บางส่วนตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป และรับรู้รายได้เต็มปีในปี 2565 

'อนาคตจะเห็นดีลลักษณะการจอยเวนเจอร์กับลูกค้าที่เราให้บริการและไม่ได้ให้บริการอีก โดยโจทย์การลงทุนของเราจะไม่หยุดแค่เป็นผู้ให้คำปรึกษาเท่านั้น อย่าง OR เริ่มแรกจากการเป็นลูกค้าก่อนจะพัฒนามาเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ จากการทำงานร่วมกันมายาวนานทำให้เห็นช่องทางพัฒนาร่วมกันได้จึงเกิดความร่วมมือทางธุรกิจขึ้น'

สำหรับเป้าหมายการเติบโตนั้น บริษัทตั้งเป้ารักษาระดับการเติบโตใกล้เคียงช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่ 20-30% โดยเชื่อว่าหลังเข้าตลาดแล้วเงินระดมทุนจะช่วยปลดล็อกธุรกิจให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง รองรับตลาดที่มีอัตราการเติบโตได้อีกมหาศาล สอดคล้องตามแผนการลงทุนต่างๆ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ประมาณ 5% ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีกมาก และปัจจุบันถือว่าบริษัทยังเป็นผู้ประกอบการรายเล็กมากเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการต่างชาติ 

ท้ายสุด 'พชร' ทิ้งท้ายไว้ว่า บริษัทมีศักยภาพเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และจะได้รับประโยชน์จากความต้องการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันของลูกค้าองค์กรซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก