ผู้ถือหุ้นรายย่อย เดินหน้าร้อง ก.ล.ต.-ตลท.เอาผิดบอร์ดSTEC

ผู้ถือหุ้นรายย่อย เดินหน้าร้อง ก.ล.ต.-ตลท.เอาผิดบอร์ดSTEC

ผู้ถือหุ้นรายย่อย เครือซิโน-ไทย เดินหน้าร้องเรียนก.ล.ต.-ตลท. เอาผิดบอร์ด STEC กระทำความผิดสำเร็จ ยกเลิกมติผู้ถือหุ้นเข้าซื้อหุ้น STIT 

วันนี้(10ก.ย.2564) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC แจ้งมายังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ถึงมติคณะกรรมการบริษัท เรื่องไม่เข้าทำรายการซื้อขายกิจการ บจก.เอสทีไอที (STIT) จากบมจ.STPI ซึ่งเป็นกิจการในเครือซิโน-ไทย

ขณะที่"กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย"ของเครือซิโน-ไทย นำโดยนางน้ำทิพย์ วิชชุเกรียงไกร ในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยของ STEC และนายภานุพงศ์ คุโณปการพันธ์ ในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยของ STPI ร่วมกันแถลงข่าว ว่า รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งต่อมติที่ STECแจ้งมายังตลาดหลักทรัพย์ ในวันนี้

 

โดยเมื่อดูเผินๆอาจเข้าใจว่าเป็นการรักษาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นรายย่อย แต่เมื่อพิจารณาโดยละเอียดจะพบว่าเป็นตรงกันข้ามดังนี้
1.การที่ STEC อ้างเหตุผลว่าเพราะCOVID-19ระบาดตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ถึงหลังเดือนเมษายน 2654 ส่งผลกระทบต่อการลงทุนนั้น ถือว่าไม่สมเหตุผล เนื่องจาก STEC เพิ่งแจ้งข่าวเผยแพร่ในเว็บไซต์บริษัทในวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 แจ้งรายงานประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564  วาระที่ 1 ได้รับรองการเข้าซื้อหุ้น STIT ด้วยเสียงเอกฉันท์ 93.36%

และการประชุมครั้งนี้ผู้ถือหุ้นรายหนึ่งชื่อนายปราโมทย์ ลิบรัตนสกุล ได้สอบถามเรื่องการเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวมีผลกำไรขาดทุนอย่างไร นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ ได้ชี้แจงว่า STECจะต้องพิจารณาความคุ้มค่าของการซื้อกิจการเป็นหลัก ไม่ใช่กำไรหรือขาดทุน

ซึ่งการที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นวันที่ 30 เมษายน 2564 และเผยแพร่ทางเวบไซต์บริษัทในวันที่ 14 พฤษภาคม ยังลงมติรับรองท่วมท้น 93.36% และกรรมการผู้จัดการก็ตอบข้อสงสัยผู้ถือหุ้นถึงความคุ้มค่า แต่มติของที่ประชุมของคณะกรรมการเมื่อวันที่ 9 ก.ย. อ้างว่าการแพร่ระบาดในเดือนม.ค.-หลังเดือนเม.ย.รุนแรง มีผลกระทบเลยยกเลิกการซื้อ จึงนับว่าขาดเหตุผลที่เคยมีมติไว้
 

 

2.การที่ให้เหตุผลว่าเดิมที่ปรึกษาการเงินอิสระ คือบริษัท   คันทรี กรุ๊ปแอดไวซอรี่เคยทำผลการศึกษาว่าการซื้อ STITมีผลดี หลายประการและให้ผลตอบแทนการลงทุน(Equity IRR)สูงถึง 16.53% แต่ต่อมาทางบอร์ด STEC เปลี่ยนไปจ้างบริษัทซี.เจ.มอร์แกน มาศึกษาเรื่องนี้ใหม่อ้างว่าผลกระทบจากCOVID-19 ระบาด ทำให้ IRR ลดลงเหลือ 0.16% จึงไม่คุ้มค่าในการซื้อนั้น ก็น่ากังขาว่า ซี.เจ.มอร์แกน เป็นที่ปรึกษาการเงินที่มีความอิสระจริงหรือไม่ และเข้าข่ายขัดผลประโยชน์ระหว่างกัน(Conflict of interest)กับกรรมการของ STEC และ STPI หรือไม่  

3.การที่คณะกรรมการ STEC อ้างว่า ไม่มีผลกระทบทางด้านการเงิน การดำเนินงาน ด้านกฎหมายนั้น คงจะลืมไปว่า STEC เป็นบริษัทมหาชน มีผู้ถือหุ้นมากกว่า 22,700 ราย และเกี่ยวเนื่องกับ STPI อีก 11,400 ราย รวมมากกว่า 35,000 ราย ที่ได้หลงเชื่อข้อมูลข่าวสารที่คณะกรรมการ STEC แจ้งว่า เป็นผลบวกในการซื้อกิจการ STIT ทำให้มีผู้หลงเชื่อซื้อหุ้น STEC และSTPI ไว้ หรือถือไว้จำนวนมาก ได้เกิดความเสียหายจากการยกเลิกการเข้าซื้อหุ้นอันมิชอบนี้ 

ดังนั้นทางผู้ถือหุ้นรายย่อยของSTEC และSTPI จึงจะเข้ายื่นหนังสือถึงผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(สำนักงาน ก.ล.ต.) อีกรอบว่า คณะกรรมการ STEC ได้กระทำความผิดสำเร็จแล้ว โดยขอให้ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ และเลขาธิการ ก.ล.ต.ดำเนินการสอบสวน คณะกรรมการ STEC ต่อกรณีมีมติยกเลิกมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อซื้อ STIT ดังกล่าว