‘ไทยยูเนี่ยน’รุกสินค้านวัตกรรม-ส่งบริษัทลูกเข้าตลาดต่อยอดการเติบโต

‘ไทยยูเนี่ยน’รุกสินค้านวัตกรรม-ส่งบริษัทลูกเข้าตลาดต่อยอดการเติบโต

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายไตรมาส 3 เหลือเวลาอีกไม่กี่วันจะขึ้นเดือนใหม่ ใกล้สิ้นปีเข้ามาทุกที แน่นอนว่าปีนี้หลายธุรกิจยังหนักหนาสาหัส ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังสูง

ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ กำลังซื้อของประชาชน ธุรกิจต้องปิดกิจการไปมากมาย คนตกงานจำนวนมหาศาล ถือเป็นวิกฤตที่หนักที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์

สำหรับประเทศไทยได้รับผลกระทบเต็มๆ เช่นกัน เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชน เจอพิษโควิดเล่นงานซะอ่วม!

มีเพียงแค่การส่งออกที่ยังเติบโตร้อนแรง กลับมาเป็นพระเอกช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยไม่ให้โคม่าเข้าไอซียู ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกยังทำผลงานได้ดี เติบโตสวนวิกฤตโรคระบาด และแนวโน้มครึ่งปีหลังยังดูดีกว่าครึ่งปีแรกด้วยซ้ำ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ทำผลงานได้ดีในช่วงวิกฤตโควิด สะท้อนจากผลการดำเนินงานปี 2563 มีรายได้รวม 134,111.99 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,246.09 ล้านบาท มากกว่าปี 2562 ที่ยังไม่เกิดโรคระบาด

มาปี 2564 ดูร้อนแรงขึ้นไปอีก ครึ่งปีแรกตุนรายได้ไปแล้ว 67,394.85 ล้านบาท และโกยกำไรเข้ากระเป๋า 4,145.76 ล้านบาท ทั้งปีน่าจะแซงปีก่อนได้แน่นอน รับอานิสงส์ตลาดส่งออกโตต่อเนื่อง โดยรายได้หลักของบริษัท 90% มาจากการส่งออก ส่วนในประเทศอยู่ที่ราวๆ 10%

ถ้าเจาะดูรายธุรกิจ กลุ่มอาหารทะเลแช่แข็ง แช่เย็น อย่างเช่นกุ้งแช่แข็ง กุ้งมังกร แซลมอน ปลาหมึก ปู ฯลฯ ยอดขายโตกระฉูด โดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรป หลังเริ่มกลับมาเปิดเมืองเปิดประเทศ ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ลูกค้าหลักทั้งร้านอาหาร โรงแรม ออเดอร์สินค้าเข้ามาเพียบ

ส่วนกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงยังไปได้สวยตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการเปิดตัวสินค้าใหม่ ขณะที่กลุ่มอาหารทะเลแปรรูป บรรจุกระป๋อง เช่น ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ฯลฯ ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัท อาจไม่ค่อยหวือหวา ยอดขายชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ประชาชนแห่กักตุนสินค้า หลังต้องมีการล็อกดาวน์

นอกจากผลประกอบการหลักที่แข็งแกร่งแล้ว ยังได้รับปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าแรงในปีนี้ ทำให้มีการบันทึกกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเสริมอีกแรง

หากมองต่อในช่วงครึ่งปีหลัง เชื่อว่าธุรกิจยังสดใส หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย จำนวนผู้ติดเชื้อในหลายประเทศเริ่มลดลงแล้ว ขณะที่การฉีดวัคซีนมากขึ้นเรื่อยๆ ดูแล้วครึ่งปีหลังเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวดีขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก

ขณะที่ในระยะยาวบริษัทมุ่งเน้นพัฒนาสินค้าที่มีนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และยังตอบรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ เช่น อาหารเสริม, คอลลาเจน เปบไทด์, โปรตีนทางเลือก ฯลฯ ซึ่งสัดส่วนรายได้จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดการเติบโต เตรียมแยก (Spin Off) ธุรกิจอาหารกุ้งภายใต้บริษัทไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ภายในปีนี้ และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่จะแยกออกมาด้วยเช่นกันราวปี 2566

ด้วยแนวโน้มธุรกิจที่ยังสดใส ท่ามกลางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว สถานการณ์โรคระบาดที่เริ่มคลี่คลาย ปัจจัยบวกจากเงินบาทอ่อนค่า แผนการ Spin Off ของบริษัทลูก และการทรานส์ฟอร์มองค์กรไปสู่บริษัทนวัตกรรม จึงไม่แปลกที่บรรดากูรูหลายๆ สำนัก ยกให้ TU เป็นอีกหนึ่งหุ้นเด่นที่น่าสนใจในช่วงนี้

โดยบล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า มองบริษัทเป็น Innovative Company ไม่ใช่เพียง Tuna Company อีกต่อไป หลังเห็นทิศทางและกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการมุ่งสู่ Innovative Product สำหรับคนและสัตว์เลี้ยง จนเริ่มเห็นสัดส่วนรายได้กลุ่มนี้ทยอยสูงขึ้น ช่วยให้บริษัทลดการพึ่งพิงรายได้จากทูน่า คาดกำไรปี 2564-2565 เพิ่มขึ้น 19% และ 3% ตามลำดับ

ด้านบล.เอเซีย พลัส ระบุว่า บริษัทเตรียม Spin Off ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเข้า SET เพื่อขยายโรงงานอาหารสัตว์เลี้ยงแห่งใหม่ รองรับการเติบโตในระยะยาว ซึ่งดูแล้วมีศักยภาพเติบโตสูงกว่าธุรกิจหลักของบริษัทมาก ทั้งในด้านรายได้และอัตราการทำกำไร คาดกำไรสุทธิปี 2564-2565 เพิ่มขึ้น 18.2% และ 3% ตามลำดับ