BJC เปิดแผนกลยุทธ์โค้งท้ายปี 64 สู้ตลาดแข่งดุ

BJC เปิดแผนกลยุทธ์โค้งท้ายปี 64 สู้ตลาดแข่งดุ

“บีเจซี”คาดธุรกิจค้าปลีกแข่งดุ ปรับกลยุทธ์“บิ๊กซี”ดึงลูกค้า สู้ “โลตัสส์ -แม็คโคร” แย้มรายได้ธุรกิจค้าปลีกปีนี้อาจต่ำกว่าปีก่อน แต่หากโควิดคลี่คลายหนุนรายได้ครึ่งปีหลังโต มั่นใจ 3 ธุรกิจ “แพ็คเกจจิ้ง- คอนซูเมอร์- เฮลธ์แคร์” โตต่อเนื่อง คงงบลงทุนปีนี้ 6-7 พันล้าน

นางสาวรวิภา บุญอยู่ นักลงทุนสัมพันธ์อาวุโส บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC เปิดเผยว่า จากกรณีที่ กลุ่มซีพี ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยโยกโลตัสส์ มาอยู่ภายใต้ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)หรือ MAKRO คาดกลุ่มค้าปลีกเมืองไทยจะยังคงมีการแข่งขันรุนแรงต่อไป ขณะที่ บิ๊กซี ได้ปรับกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อดึงดูดให้ลูกค้ามาซื้อสินค้าของบิ๊กซีมากขึ้น เช่น การทำสโตร์รูปแบบใหม่ เพื่อให้เข้ากับกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ เช่น การปรับโซน เพิ่มสินค้าพรีเมียมมากขึ้น ตามแต่ละพื้นที่

การขยายสาขาในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะ มินิบิ๊กซีที่สามารถเข้าถึงคนในชุมชนได้ค่อนข้างมาก ซึ่งตรงนี้จะขยายสาขาเข้าไปในพื้นที่ที่เหมาะสมมากขึ้น การจัดหาสินค้า วางแผนให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป เช่น การเพิ่มสินค้าแพ็คใหญ่มากขึ้น รวมถึงเป็น Fresh Food มากขึ้น เป็นต้น 

นอกจากนี้จะจัดโปรโมชั่นสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่องทางชอปปิงออนไลน์อื่นๆ ด้วยเพื่อกระตุ้นยอดขายและกำลังซื้อ เพิ่มบริการดิลิเวอรี่ให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้น จากปัจจุบัน 51 จังหวัดและในพื้นที่กรุงเทพฯเได้เพิ่มบริการส่งด่วนภายใน1 ชั่วโมงรวมทั้งมุ่งพัฒนาแบรนด์สินค้าของบิ๊กซี ที่มีคุณภาพ ราคาคุ้มค่า สามารถส่งเสริมกำไร ลดการสูญเสียสินค้าที่สูญหายได้อีกด้วย

     นางสาวรวิภา กล่าวว่า ในปีนี้ตั้งเป้าหมายขยายสาขาบิ๊กซีไฮเปอร์มาร์เก็ต2 สาขา ในช่วงปลายไตรมาส 3 จนถึงไตรมาส4 ปีนี้และมีแผนปรับเปลี่ยนบิ๊กซีบางสาขา เป็นบิ๊กซี ฟู๊ดเพลส และ บิ๊กซีดีโป้ ขณะที่มินิบิ๊กซี จะขยายสาขาเพิ่มอีก 150 สาขาในปีนี้ จากครึ่งแรกปีนี้มีสาขาบิ๊กซีในทุกขนาดมากกว่า 1,600 สาขาทั่วประเทศ ประกอบด้วยบิ๊กซีไฮเปอร์มาร์เก็ต152 สาขา บิ๊กซีซูเปอร์มาร์เก็ต 61 สาขา มินิบิ๊กซี 1259 สาขา และร้านขายยาPure 144 สาขา

BJC เปิดแผนกลยุทธ์โค้งท้ายปี 64 สู้ตลาดแข่งดุ

สำหรับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่(บิ๊กซี)ในปีนี้ มองว่า มีโอกาสที่ยอดขายในปีนี้อาจต่ำกว่าปีก่อนได้ แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์โควิดหลังจากนี้ก่อน แต่หากเริ่มเห็นตัวเลขยอดติดเชื้อดีขึ้นและภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ คาดว่า รายได้จากธุรกิจนี้มีโอกาสที่ครึ่งปีหลังจะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก โดยในช่วง 2 เดือนแรกในไตรมาส 3 นี้ เริ่มเห็นยอดขายผ่านสาขา กลับมาเติบโตดีจากไตรมาส 2 ปีนี้ และตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมากลับมาดำเนินการได้ค่อนข้างปกติ

ขณะที่อีก 3 ธุรกิจ คือ กลุ่มแพ็คเกจจิ้ง คาดเติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียวระดับต่ำถึงกลาง  กลุ่มสินค้าเฮลท์แคร์ คาดเติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียวระดับกลางถึงสูง และกลุ่มคอนซูเมอร์ คาดเติบโตเป็นตัวหลักเดียวระดับกลาง

ทั้งนี้ กลุ่มแพ็คเกจจิ้ง วางกลยุทธ์ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ไซส์ใหม่ จับกลุ่มลูกค้าใหม่   เช่น Slim Can หรือในส่วนกลุ่มขวดแก้วได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมา จับกลุ่มลูกค้าใหม่อย่างฟังก์ชั่นนัลดริงก์ เป็นต้น, กลุ่มสินค้าเฮลธ์แคร์  เตรียมจัดจำหน่ายเครื่องตรวจโควิด-19ด้วยน้ำลาย ในไตรมาส3นี้ จะจำหน่ายผ่านร้านขายยา Pure และร้านค้าอื่นๆทั่วประเทศ ฯลฯ ขณะที่กลุ่มคอนซูเมอร์  มุ่งเพิ่มการบริการลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น  เพิ่มการกระจายสินค้ากลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร (Non Food) 

สำหรับงบลงทุนปีนี้คงที่ 6,000-7,000 ล้านบาท สัดส่วน 50-60% จะใช้ในการขยายสาขาบิ๊กซี รวมถึงการพัฒนาและปรับปรุงสาขาที่มีอยู่เดิม และส่วนที่เหลือจะใช้ในกลุ่มแพ็คเกจจิ้ง เฮลธ์แคร์ และคอนซูเมอร์