‘เงินบาท’วันนี้เปิด‘อ่อนค่า’ ที่32.68บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิด‘อ่อนค่า’ ที่32.68บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้ค่าเงินบาทช่วงนี้ยังผันผวน จากมีแรงขายทำกำไรของต่างชาติ และศบค.-ผู้เชี่ยวชาญ ออกโรงเตือน ระวังโควิดระบาดระลอกใหม่ เสี่ยงกลับมาล็อกดาวน์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่32.60- 32.75บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้(8ก.ย.)  ที่ระดับ  32.68 บาทต่อดอลลาร์

อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.62 บาทต่อดอลลาร์  มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ32.60-32.75 บาทต่อดอลลาร์

ในส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ในช่วงระหว่างวันเงินบาทอาจผันผวนได้ หากนักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึง ทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองเงินบาท จากการเก็งกำไรเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ โดยรวม เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ Sideways ที่กว้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอปัจจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะแนวโน้มสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ที่ล่าสุดทาง ศบค. รวมถึงผู้เชี่ยวชาญเริ่มออกมาเตือนให้ระวังการระบาดระลอกใหม่ในช่วงเดือนตุลาคม หากประชาชนเริ่มประมาทในการป้องกันตัวเองในช่วงการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดโดยรวมจะรอคอยผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป เนื่องจากจะเป็นการประชุมที่อาจมีการส่งสัญญาณเกี่ยวกับการปรับลดคิวอีและอาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้ ทำให้แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ หรือยูโร จะยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน

ทั้งนี้ถ้าหากผู้ประกอบการมีความไม่มั่นใจต่อแนวโน้มค่าเงิน ก็สามารถใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options ในการเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงค่าเงินได้

อ่านข่าว : ‘หุ้นไทย’ เปิดตลาดเช้านี้ร่วง 2.31 จุด

ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาอยู่ในโหมดระมัดระวังตัวมากขึ้น จากความกังวลว่า ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าจะเริ่มดีขึ้น แต่ก็อาจส่งผลกระทบให้ เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวได้แย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ กอปรกับผู้เล่นในตลาดยังมีความไม่แน่ใจในประเด็นการปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (คิวอี) ของ บรรดาธนาคารกลางหลักอาทิ เฟด และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งตลาดจะจับตาการประชุม ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสฯ เพื่อจับสัญญาณแนวโน้มการทยอยปรับลดคิวอี 

ภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาดได้กดดันให้ ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรหุ้นในกลุ่ม Cyclical ในขณะที่ หุ้นในกลุ่มเทคฯ โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ สไตล์เติบโตแข็งแกร่ง (Growth stocks) สามารถปรับตัวขึ้นได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดมองว่า ผลประกอบการของบรรดาบริษัทเทคฯ จะได้รับผลกระทบน้อยหรือแทบไม่ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจและปัญหาการระบาดระลอกใหม่ๆ โดยในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี Dowjones ที่ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยหุ้นในกลุ่ม Cyclical ปรับตัวลดลง -0.76% ส่วน ดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลง -0.34% ขณะที่ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดบวก +0.07% ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวลงราว -0.50% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอคอยผลการประชุม ECB ในวันพฤหัสฯ นี้ และมีการขายทำกำไรหุ้นออกมาบ้างก่อนการประชุมดังกล่าว

ในฝั่งตลาดบอนด์ มีความเคลื่อนไหวที่คึกคักมากขึ้น หลังจากที่บอนด์ยีลด์ 10ปี ทั่วโลก ต่างปรับตัวสูงขึ้นราว 5-7bps นำโดยบอนด์ยีลด์ 10ปี ในฝั่งยุโรปที่ปรับตัวขึ้น ท่ามกลางความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดว่า ECB อาจเริ่มส่งสัญญาณทยอยปรับลดคิวอีลงในการประชุมวันพฤหัสฯ นี้ หลังปัญหาการระบาดก็เริ่มคลี่คลายลง ขณะเดียวกันเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง และตลาดการเงินก็ดูไม่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง นอกจากนี้ในฝั่งสหรัฐฯ แรงกระเพื่อมจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี ในฝั่งยุโรป ได้ช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ก็ปรับตัวขึ้น 5bps สู่ระดับ1.37% เช่นกัน 

ทางด้านตลาดค่าเงิน ความไม่แน่นอนของตลาดการเงิน รวมถึงการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 92.53 จุด ทั้งนี้ เงินดอลลาร์อาจเผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโรได้ หากธนาคารกลางยุโรป(ECB) เริ่มส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องในการประชุม ECB วันพฤหัสฯ นี้

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ความเคลื่อนไหวในตลาดการเงินอาจยังถูกกดดันด้วยภาวะระมัดระวังตัวของบรรดาผู้เล่นในตลาด ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรปในวันพฤหัสฯ โดยอาจเห็นแรงขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงได้บ้าง ขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็ยังมีโมเมนตัมหนุนอยู่จากภาวะระมัดระวังตัวของตลาด