กกร.จี้รัฐเลิก ‘ล็อกดาวน์’ กู้เพิ่ม 1.5 ล้านล้านฟื้นศก.

กกร.จี้รัฐเลิก ‘ล็อกดาวน์’ กู้เพิ่ม 1.5 ล้านล้านฟื้นศก.

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) กกร. ประสานเสียงขอรัฐเลิกใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทำเศรษฐกิจเสียหายหนักสูงถึงเดือนละ 3 แสนล้านบาท หนุนการคลายล็อกและเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ 70-80%

กกร. ประสานเสียงขอรัฐเลิกใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทำเศรษฐกิจเสียหายหนักสูงถึงเดือนละ 3 แสนล้านบาท หนุนการคลายล็อกและเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ 70-80% ทำให้มีเม็ดเงิน 1.5 ล้านล้าน ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการคนละครึ่ง เพิ่มเงิน 3 พันเป็น 6 พันบาท และฟื้นช้อปดีมีคืน

ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ผยง ศรีวณิช ระบุ ที่ประชุมกกร.ได้มีการประเมินการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลในรอบนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีเนื่องจากสถานการณ์ติดเชื้อโควิด 19 ดีขึ้น และแผนการจัดหาวัคซีนมีความชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นจึงเห็นด้วยการผ่อนคลายล็อกดาวน์และไม่ควรมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกต่อไป เพราะกระทบเศรษฐกิจอย่างมาก

ในส่วนของการกระตุ้นเศรษฐกิจหลักคลายล็อกดาวน์ ที่ประชุมกกร.เห็นว่ารัฐบาลควรมีมาตรการเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่มากขึ้น โดยมาตรการระยะสั้นต้องการให้ส่งเสริมการใช้จ่ายผ่านโครงการคนละครึ่ง โดยเพิ่มวงเงินจาก 3 พันบาท เป็น 6 พันบาท รวมทั้งนำโครงการช้อปดีมีคืน กลับคืนมาเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย ส่วนมาตรการระยะยาว รัฐต้องเร่งเสริมสร้างฐานการผลิตรับมือสงครามการค้า และผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ๆควรทำต่อเนื่องผ่านการลงทุนกับเอกชน และดึงดูลลงทุนต่างประเทศ และเพิ่มงบประมาณช่วยเหลือเอสเอ็มอีผ่านการคำ้ประกันสินเชื่อ ซึ่งที่ผ่านมาไทยมีการค้ำประกันสินเชื่อน้อยมากแค่ 40% ในต่างประเทศมีสัดส่วนสูงถึง 70-80%ให้ภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายชุดตรวจในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงช่วยเหลือมาตรการภาษี โดยพยายามประคองไม่ให้กระบวนการศก.ประเทศหยุดชะงัก

สำหรับ การประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2565 โดยหน่วยงานภาครัฐประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะสามารถเติบโตได้ในช่วง 3-5% ซึ่งการเติบโตในระดับนี้ต่ำเกินไป และทำให้ระดับกิจกรรมเศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2562 ส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากยังบอบช้ำ ดังนั้นเพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจฟื้นตัวกลับมายืนได้ด้วยตัวเองโดยเร็ว ภาครัฐควรกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ท้าทายขึ้นเป็น 6-8% ซึ่งเป็นไปได้ในภาวะที่คนไทยกว่า 50% ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว โดยภาครัฐจำเป็นต้องใช้กระสุนทางการคลังจากการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจาก 60% เป็น 70-80% ซึ่งจะทำให้มีเงินเข้ามาเพิ่มเติมอีกราว 0.7-1.5 ล้านล้านบาท โดยเน้นสนับสนุนการจ้างงาน และใช้ในมาตรการที่มี Multiplier กับเศรษฐกิจสูง อย่างมาตรการที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย (co-payment) หรือมาตรการค้ำประกันสินเชื่อที่สูงขึ้นและเทียบเคียงกับประเทศอื่น เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กกร. ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ดีขึ้นมาอยู่ในกรอบ -0.5% ถึง 1.0% ในส่วนของการส่งออก กกร. คาดว่าจะขยายตัว 12.0% ถึง 14.0% จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดี ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐให้การสนับสนุนภาคธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีวัคซีนให้แรงงานได้ทั่วถึง และช่วยเหลือค่าใช้จ่ายการทำ Rapid Test ต่างๆ เพื่อให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างทันท่วงที ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1.0% ถึง 1.2%

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สุพันธุ์ มงคลสุธี ระบุ ตัวเลขจีดีพีที่ปรับขึ้น เนื่องจากการส่งออกจะเติบโต 12-15% ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เดียว ดังนั้นภาครัฐต้องให้ความสำคัญจริงจังช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายภาคเอกชนที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เราเสนอไม่อยากให้มีการล็อกดาวน์อีก จะกระทบเศรษฐกิจมาก เพราะการล็อกดาวน์จะต้องหยุดและหมดไป และการเปิดประเทศก็จะทำได้

ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สนั่น อังอุบลกุล ระบุ ถ้าวัคซีนเข้ามาตามที่รัฐบาลสัญญาไว้ ในที่สุดน่าจะมีโอกาสเห็นการเปิดประเทศได้ ส่วนความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงเดือนส.ค.เสียหายต่อเดือนถึง 3 แสนล้านบาท และคาดว่าเดือนก.ย.ความเสียหายจะลดลงเหลือ 2 แสนล้าน และเดือนต.ค. ก็น่าจะดีขึ้นถ้าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ โดยแต่ละบริษัทจะมีการสร้างกิจกรรม เช่น เทศกาลปีใหม่ทำให้คึกคัก จะนี้จะส่งดีต่อเศรษฐกิจช่วงปลายปี