สแกน ‘4 หุ้นโรงแรม’ 6 เดือนแรก ผ่าดงโควิด-19

สแกน ‘4 หุ้นโรงแรม’ 6 เดือนแรก ผ่าดงโควิด-19

เปิดฐานะการเงินครึ่งแรก 2564 ‘4หุ้นโรงแรม’ ขาดทุนสุทธิเพิ่ม หลังการระบาดโควิด-19 รุนแรง ส่งผลความหวังธุรกิจพลิก ‘เทิร์นอะราวด์’ อาจจำต้อง “เลื่อน” !! ออกไปก่อน เมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวถูกซ้ำเติมอีกครั้ง ที่เปราะบางอยู่แล้วให้ทรุดกว่าเดิม...

ยามที่ !! สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับมารุนแรงอีกครั้ง อุตสาหกรรมที่เจ็บหนักสุดถึงขึ้นอาการ 'โคม่า' คงหลีกหนีไม่พ้น 'อุตสาหกรรมท่องเที่ยว' ที่เดิมเคยเป็นอุตสาหกรรม 'ดาวรุ่ง' แต่วันนี้กลับกลายเป็นอุตสาหกรรม 'ดาวร่วง' และยังไม่เห็นทิศทางการฟื้นตัวว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่ภายใต้ 'โควิด-19' เท่านั้น !!

จากความหวังว่าการระบาดของโควิด-19 จะจบลงในอีกไม่นานหลังมีวัคซีนแล้ว สะท้อนผ่านก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการต่างมีความหวังว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะฟื้นตัวเร็ว ยิ่งรัฐบาลประกาศเปิดประเทศภายใน 120 วัน เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวยิ่งกระตุ้นให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวต่างเชื่อมั่นและมีความหวังว่าธุรกิจกำลังจะกลับมา 'เทิร์นอะราวด์' ได้อีกครั้งแล้ว

ขณะที่ 'หุ้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์' (บจ.) ทั้งหุ้นกลุ่มธุรกิจโรงแรม , หุ้นกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร , หุ้นกลุ่มธุรกิจค้าปลีก , หุ้นกลุ่มสนามบินและสายการบิน เรียกว่าขานรับ 'ปัจจัยบวก' ดังกล่าว บ่งชี้ผ่านการขยับราคาขึ้นยกแผง เพราะนักลงทุนประเมินกันว่าผลประกอบการปี 2564 จะกระเตื้องขึ้นได้ 

ดังนั้น ต้นปี 2564 ที่คาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มท่องเที่ยวที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่เมื่อภาพรวมการท่องเที่ยวดิ่ง !! ในแง่ของผลประกอบการก็คงต้องขาดทุนสุทธิต่อไปอย่างแน่นอน...

'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' สำรวจผลประกอบการ '4หุ้นกลุ่มโรงแรม' ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า ในครึ่งปีแรก 2564 ฐานะทางการเงินไม่สดใส ยังเดินหน้า 'ขาดทุนสุทธิ' ต่อเนื่อง แต่เทียบกับจากช่วงเดียวกันปีก่อนถือว่าเป็นการขาดสุทธิที่เพิ่มขึ้น !! 

โดย 4 หุ้นกลุ่มโรงแรม ประกอบด้วย บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MINT , บมจ. โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา หรือ CENTEL , บมจ. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป หรือ ERW และ บมจ. ดุสิตธานี หรือ DUSIT พบว่าผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกปี 2564 เทียบกับงวด 6 เดือนแรกปี 2563 มีขาดทุนสุทธิ 'เพิ่มขึ้น!!' 

'หุ้น MINT' ขาดทุนสุทธิ 11,173.63 ล้านบาท จากปีก่อน 10,221.16 ล้านบาท 'หุ้น CENTEL' ขาดทุนสุทธิ 1,082.22 ล้านบาท จากปีก่อน 510.60 ล้านบาท 'หุ้น ERW' ขาดทุนสุทธิ 1,181.72 ล้านบาท จากปีก่อน 727.61 ล้านบาท 'หุ้น DUSIT' ขาดทุนสุทธิ 301.77 ล้านบาท จากปีก่อน 535.38 ล้านบาท ตามลำดับ 

ขณะที่ ในปี 2563 ผลดำเนินงานของ 4 หุ้นกลุ่มโรงแรม 'MINT-CENTEL-ERW-DUSIT' มีขาดทุนสุทธิจำนวน 21,407.34 ล้านบาท 2,775.11 ล้านบาท 1,715.26 ล้านบาท และ 1,011.14 ล้านบาท ตามลำดับ 

162953447474

'รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์' รองประธานอาวุโสฝ่ายการเงินและบริหาร บมจ. โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา หรือ CENTEL เล่าภาพรวมสถานการณ์ธุรกิจโรงแรมในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 คาดว่ายังคงทรงตัวจากช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งประเมินจากสถานการณ์ล่าสุด ณ เดือนก.ค. 2564 ที่คาดว่าจะมีอัตราการเข้าพักโรงแรม (Occupancy) อยู่ที่ 14-18% ส่วนในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 30-44%

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน ส่งผลให้บริษัทต้องเลื่อนแผนการเปิดโรงแรม เซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย ในช่วงเดือนส.ค.นี้ เป็นเดือนต.ค. 2564 และในวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา บริษัทมีแผนจะใช้โรงแรมในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เปิดตัวเป็น Local Isolation Unit ซึ่งคล้ายกับสถานที่กักตัวทางเลือก (ASQ) แต่จะไม่มีแพทย์เป็นประจำ

ทั้งนี้ บริษัทยังคงเปลี่ยนแปลงแผนการเปิด-ปิดการให้บริการของโรงแรม ตลอดเวลาให้สอดคล้องกับความต้องการลูกค้า และมาตรการของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีธุรกิจโรงแรมที่เป็นเจ้าของเองดำเนินการ ยังเปิดดำเนินการเหลืออยู่ 9 แห่ง ส่วนโรงแรมที่ปิดดำเนินการในช่วงนี้จะพิจารณาการเปิดอีกครั้งช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. 2564 เป็นต้นไป เช่น เซ็นทารา แกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท เปิดอีกครั้งช่วงต้นเดือนก.ย.2564 , เซ็นทารา วิลล่า สมุย เปิดให้บริการ ต.ค.2564 , เซ็นทารา กะตะ รีสอร์ท และเซ็นทารา กะรน รีสอร์ท ในช่วงกลางปี 2565 เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นลูกค้าต่างชาติ

สำหรับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มองว่าเริ่มมีการปรับปรุงในรูปแบบที่ดีขึ้น ส่งผลบวกต่อโรงแรม เซ็นทาราแกรนด์บีชรีสอร์ท ภูเก็ต ซึ่งมี Occupancy ในเดือนก.ค. อยู่ที่ 16% ซึ่งในช่วงเดือนส.ค.นี้ (1-15 ส.ค. 2564) มี Occupancy อยู่ที่ 23% ซึ่งคาดว่าในช่วงปลายไตรมาส 4 ปี 2564 คาดว่าจะมี Occupancy ในระดับ 50-70%

ส่วนแผนการใช้โรงแรมเป็น Hopitel เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ปัจจุบันบริษัทได้พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสมจะพัฒนาเป็นรูปแบบดังกล่าว เนื่องจากโรงแรมส่วนใหญ่ติดห้างสรรพสินค้า และโรงแรมบางจุดยังได้ลูกค้าในกลุ่มองค์กรอยู่แล้ว ส่วนโรงแรมเซ็นทารา วอเตอร์เกท พาวิลเลียน ซึ่งเป็น ASQ ยังมีผลการดำเนินงานดี

ด้าน 'ธุรกิจอาหาร' การควบคุมและยืดหยุ่นได้ เนื่องจากมีประสบการณ์จากโควิดระลอกแรก ซึ่งในปีนี้แม้ว่าในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 การระบาดโควิด-19 ยังมีความรุนแรง แต่บริษัทยังมีบริการ แบบมีหน้าร้านแต่ไม่มีที่นั่ง (Cloud kitchen) และบริการส่งถึงที่หมาย (Delivery) และภาพรวมภาครัฐบาล ผ่อนผันให้บริการร้ายอาหารในห้างสรรพสินค้าได้แล้วช่วยหนุนผลงาน 

สำหรับงบการลงทุนรวมในช่วงปี 3 ปี (2564-2566) ยังคงวางเป้าหมายไว้ที่ 10,400 ล้านบาท

'เราหาทุกวิถีทางที่จะฝ่าฟันวิกฤตให้อยู่รอด เรามีสภาพคล่องวงเงินกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเราสามารถบริหารงานได้ถึงไตรมาส 4 ปี 65 และทางกลุ่มยังแสวงหาแนวทางการเพิ่มรายได้ และปรับลดค่าใช้จ่าย เช่น ลดพนักงานโดยสิ้นก.ค.เหลือ 3.4 พันคน จากต้นม.คที่มี 5 พันคน เราพยายามทุกวิถีทางให้ CENTEL กลับมา Turn around ให้ได้' 

'วรมน อิงคตานุวัฒน์' รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บมจ. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป หรือ ERW เปิดเผยว่า สำหรับเป้าหมายรายได้ปีนี้ และผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลัง คงไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะรุนแรงและยาวนานแค่ไหน 

รวมถึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการฉีดวัคซีนทั้งในไทยและต่างประเทศด้วย ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ล้วนเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังต้องติดตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาลด้วย

สำหรับงบลงทุนปีนี้ บริษัทยังคงงบลงทุนปีนี้ไว้ที่ 700 ล้านบาท โดยวงเงินดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม โดยจะใช้สำหรับการขยายแบรนด์ Hop inn ซึ่งปัจจุบันมีโรงแรมในแบรนด์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการก่อสร้างในไทยและต่างประเทศ โดยในไทยเป็น Hop inn ทั้งหมด 7 โครงการ ซึ่งอาจมีความล่าช้าไปบ้าง จากมาตรการของภาครัฐ ขณะที่ฟิลิปปินส์อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 3 แห่ง เป็น Hop inn 1 โครงการ และอีก 2 แห่ง จะเป็นแบรนด์ของ Holliday inn

ส่วนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจหลังจากนี้ จะเน้นการปรับตัวทั้งในเรื่อง Business Model จัดทำแพ็คเกจ และผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงการขายผ่านช่องทางเดลิเวอรี่ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และเตรียมความพร้อมที่จะเปิดประเทศ เพื่อรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง

ด้านแผนระยะยาว คงให้ความสำคัญกับการลงทุนในแบรนด์ Hop inn โดยบริษัทยังคงให้ความสำคัญและขยายงานตามแผน โดยเน้นการสร้างความแข็งแกร่งของแบรนด์ และพัฒนาโปรดักท์ และเซอร์วิส เพื่อให้แบรนด์แข็งแกร่งมากขึ้น และสร้างการเติบโตให้บริษัทในอนาคต

'ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์' ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MINT เปิดเผยว่า คาดผลงานครึ่งปีหลังดีขึ้น เนื่องจากธุรกิจโรงแรมที่ยุโรปมีการฟื้นตัวได้ดี เพราะการฉีดวัคซีนได้เร็ว มีการเดินทางมากขึ้น ประกอบกับไตรมาส 3 เป็นไฮซีซั่นของยุโรป คนเดินทางมากขึ้น ซึ่งในยุโรปถือเป็นพอร์ตใหญ่ของบริษัท ก็จะส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมของ MINT ดีขึ้นไปด้วย

ส่วนในไทยก็มี 'ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์' และ 'สมุย พลัส โมเดล' ที่เปิดนำร่องให้นักท่องเที่ยวกลับมาในครึ่งปีหลัง MINT ก็ได้อานิสงส์เพราะมีโรงแรมในภูเก็ตและสมุยเปิดให้บริการ ในออสเตรเลีย อัตราเข้าพักก็เพิ่มขึ้นมาตลอด ไม่น่าห่วง

ขณะที่ธุรกิจอาหารดูดีขึ้นจากออสเตรเลียและจีนเป็นหลัก ในไทยได้รับผลกระทบจากล็อกดาวน์บ้าง แต่ก็ปรับเป็นเดลิเวอรี่ เพื่อลดทอนผลกระทบเชิงลบจากล็อกดาวน์ แต่ธุรกิจอาหารในจีนและออสเตรเลียเห็นผลดีขึ้นชัดเจนช่วยธุรกิจอาหารในไทยได้

ส่วนผลประกอบการจะพลิกกลับมาเป็นกำไรได้เมื่อไรนั้น แนวโน้มเห็นการปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ ก็หวังว่าถ้าพอร์ตในยุโรปในไตรมาส 3-4 ปีนี้ ผลประกอบการน่าจะดีขึ้น ส่วนจะเป็นบวกได้เมื่อไรนั้นต้องรอดู แต่จะมีการบันทึกขายสินทรัพย์ 2 แห่ง เข้ามา ในเชิงผลการดำเนินงานก็คงปรับดีขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ บริษัทได้ลดงบลงทุนปี 2565 เหลือ 6,000 ล้านบาท และปี 2566 เหลือ 8,000 ล้านบาท ลดลงพอสมควร เนื่องจากโควิด-19 ยังไม่แน่นอนในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนยังไม่ทั่วถึง เป็นปัจจัยที่ต้องคอยจับตาว่าเมื่อไรจะปลดล็อกดาวน์ได้