โควิดกำลังพรากวัยแห่งการเรียนรู้ของเด็กทุกคน

โควิดกำลังพรากวัยแห่งการเรียนรู้ของเด็กทุกคน

เมื่อ 'โควิด-19' กำลังกระทบการพัฒนาเด็กและเยาวชนทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ

วัยเด็กเป็นวัยสำคัญของการเรียนรู้ การเรียนรู้ช่วงปฐมวัยส่งผลต่อการเติบโตและพัฒนาการตลอดช่วงชีวิตคนๆ หนึ่ง

โควิด-19 กำลังกระทบการพัฒนาเด็กและเยาวชนทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ ในอย่างน้อย 5 มิติ ได้แก่

มิติที่ 1 ผลกระทบทางเศรษฐกิจ โควิดทำให้ครัวเรือนมีรายได้ลดลง เด็กจำนวนมากเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา เด็กหลายคนต้องออกจากการเรียนมาทำงาน เพื่อช่วยครอบครัวหารายได้

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ประเมินว่า วิกฤตโควิดทำให้ประเทศไทยมีจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษ ในภาคเรียนที่ 2/2564 และภาคเรียนที่ 1/2565 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 กว่า 150,000-300,000 คน และทำให้กลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษช่วงชั้นรอยต่อ คือ อนุบาล 3 ป.6 ม.2-3 และ ม.6 เพิ่มถึง 400,000 คน นักเรียนเหล่านี้คือกลุ่มที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา บางครอบครัวของนักเรียนกลุ่มนี้มีรายได้เหลือเพียง 50 บาทต่อวัน

ในต่างประเทศพบว่า โควิดทำให้ปัญหาแรงงานเด็กเพิ่มขึ้น เด็กหลายคนต้องหยุดเรียน ทำงานหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว ยูนิเซฟระบุว่า จำนวนแรงงานเด็กทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ทศวรรษจากผลกระทบของโควิด เพิ่มขึ้นถึง 160 ล้านคน

มิติที่ 2 ด้านประสิทธิภาพการเรียนรู้ โควิดทำให้เด็กไปโรงเรียนไม่ได้ ต้องเปลี่ยนเป็นเรียนออนไลน์ ซึ่งประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของเด็กจำนวนมากลดลง จาก 4 สาเหตุ

1) จากความไม่พร้อมของอุปกรณ์การเรียน เช่น คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ปริ้นเตอร์ ของเด็กจำนวนมาก

2) ความไม่พร้อมของครูในการจัดการเรียนการสอน ครูหลายคนไม่ชำนาญเทคโนโลยี หลายโรงเรียนไม่มีอุปกรณ์หรือระบบเทคโนโลยีรองรับ

3) ออนไลน์ทำให้เกิดระยะห่างระหว่างครูกับนักเรียน ครูไม่สามารถเอาใจใส่ สังเกตเด็กได้มีประสิทธิภาพเหมือนเรียนในห้อง

4) การเรียนออนไลน์ต้องการการสนับสนุนจากผู้ปกครอง ขณะที่พ่อแม่ ผู้ปกครองบางส่วน ไม่สามารถสนับสนุนได้ ทั้งจากภาระการประกอบอาชีพ และข้อจำกัดด้านความรู้ ทั้งการให้คำแนะนำเรื่องการเรียนหรือใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

The Economist ประเมินผลกระทบของการเรียนออนไลน์ต่อคุณภาพการศึกษา พบว่าทำให้ความรู้ที่นักเรียนได้รับลดลง เทียบเท่าระยะเวลาการเรียนรู้ที่หายไป 1-3 เดือน ประสิทธิภาพในการสอนลดลงกว่าการสอนในห้องเรียน จากผลสำรวจ ครูส่วนใหญ่ให้คะแนนการเรียนการสอนออนไลน์มีประสิทธิภาพเพียง 3.3-6.6 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 

เช่นเดียวกับผลการศึกษาของ McKinsey ที่สำรวจความคิดเห็นครูใน 8 ประเทศ ถึงประสิทธิภาพการเรียนการสอนออนไลน์ ประสิทธิภาพเฉลี่ยอยู่ที่ 50% เท่านั้น

มิติที่ 3 การเรียนออนไลน์ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษามากขึ้น ทั้ง 1) ระหว่างนักเรียนจากครอบครัวฐานะดี มีความพร้อม กับครอบครัวที่ฐานะไม่ดี ไม่มีความพร้อม และ 2) ระหว่างนักเรียนโรงเรียนเอกชน โรงเรียนอินเตอร์ หรือโรงเรียนรัฐขนาดใหญ่ที่มีระบบเทคโนโลยีและอุปกรณ์รองรับ กับนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก หรือโรงเรียนฐานะไม่ดี ที่ไม่มีอุปกรณ์ เทคโนโลยีที่พร้อมเท่า 

มีงานวิจัยในเนเธอร์แลนด์ หนึ่งในประเทศที่มีระบบอินเตอร์เน็ตดีสุดของโลก จากนักเรียน 350,000 คน อายุ 8-11 ปี ถึงผลกระทบหลังการล็อกดาวน์ 8 สัปดาห์ พบว่า ในการล็อกดาวน์หรือปิดโรงเรียนระยะสั้น นักเรียนที่มีทรัพยากรเพียงพอไม่ได้รับผลกระทบมากนัก นักเรียนที่ได้รับผลกระทบมากคือ นักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีความรู้น้อย มีความพร้อมน้อยกว่า

ไม่ใช่แค่ความเหลื่อมล้ำเรื่องเข้าถึงความรู้เท่านั้น เด็กจากครอบครัวรายได้น้อยหลายคนยังพึ่งพาโภชนาการจากโรงเรียน การไม่ได้ไปโรงเรียนเสี่ยงทำให้เด็กกลุ่มนี้เข้าถึงโภชนาการแย่ลง พัฒนาการทางร่างกายด้อยลง

มิติที่ 4 โควิดกำลังทำให้เด็กและเยาวชนเครียดขึ้น สุขภาพจิตแย่ลง

จากการสำรวจของยูนิเซฟ กว่า 70% ของเด็กและเยาวชนไทยเผชิญปัญหาสุขภาพจิตจากโควิด-19 อาการที่พบมีทั้งเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ทั้งนี้พบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนมากสุดคือ สถานะทางการเงินหรือรายได้ของครอบครัวที่ผันผวนจากโรคระบาด หลายครอบครัวมีวิกฤตหนี้สิน พ่อแม่เสี่ยงฆ่าตัวตาย ที่รุนแรงสุดคือมีแนวโน้มพาครอบครัวฆ่าตัวตายไปพร้อมกัน

มิติที่ 5 โควิดทำให้เด็กขาดสังคม ไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่ได้เจอเพื่อน เด็กใช้เวลากับหน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เล่นเกมมากขึ้น เด็กเสียโอกาสพัฒนาทักษะทางสังคม เด็กบางส่วนก้าวร้าวและไม่มีระเบียบวินัยเพิ่มขึ้น

โดยสรุป โควิดกำลังพรากช่วงเวลาสำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของเด็กแต่ละคนไป ส่งผลต่อพัฒนาการ การเรียนรู้ และการใช้ชีวิตในระยะยาว โดยเฉพาะเด็กจากครอบครัวยากจนที่เสี่ยงได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ 

พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และโรงเรียน ตลอดจนรัฐบาล ต้องรีบให้ความสำคัญกับปัญหานี้ครับ