‘เศรษฐา ทวีสิน’ ผ่าทางตันศก.เสี่ยงถดถอยเร่งฉีดวัคซีน 6 แสนคนต่อวัน-เตรียม ‘200ล้านโดส’ ปีหน้า

‘เศรษฐา ทวีสิน’ ผ่าทางตันศก.เสี่ยงถดถอยเร่งฉีดวัคซีน 6 แสนคนต่อวัน-เตรียม ‘200ล้านโดส’ ปีหน้า

วิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ที่ยืดเยื้อยาวนานเกือบ 2 ปี สร้างความเสียหายทั่วโลกรุนแรงรอบศตวรรรษ และเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากกับสถานการณ์ตีกลับของการแพร่ระบาดระลอกใหม่! ส่งผลเศรษฐกิจมีแนวโน้มถดถอยต่อเนื่องและผลกระทบหนักกว่าวิกฤติปี 2540

“เศรษฐา ทวีสิน” ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วิกฤติโควิดครั้งนี้รุนแรงกว่าครั้งต้มยำกุ้ง ปี 2540 ผลกระทบจากโควิดเดือดร้อนหนักหนาสาหัสถึงขั้นไม่มีงานทำ สูญเสียบ้าน รถยนต์ เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก! แม้จะมีวัคซีนป้องกันโควิด แต่การแจกจ่ายวัคซีนยังไม่ทั่วถึงและเป็นไปอย่างล่าช้า

“การนำเข้าวัคซีน ยังคงเป็นเรื่องแรกที่ทุกคนเรียกร้องมานานแล้ว ถือเป็นวาระเร่งด่วน ที่อยู่บนสมมติฐานว่า วัคซีนต้องมา และฉีดให้ครอบคลุมโดยเร็ว ภายใน 120 วัน 180 วัน หรือ 200 วัน ขึ้นอยู่กับรัฐบาล”

รวมถึงเตรียมการ “สั่งซื้อวัคซีนเข็มที่ 3” หรือเตรียมวัคซีน 2-3 เท่า ของจำนวนประชากร (ราว 200 ล้านโดส) ในปีหน้า เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องทำ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีใครแฮปปี้เรื่องวัคซีน ถึงขั้นบุคคลกรทางแพทย์ต้องจับฉลากเพื่อฉีดวัคซีน “ผมว่าโควิดทำให้คนตาสว่าง ว่า...สังคมไทยไม่มีความเท่าเทียมกัน”

อีกเรื่องสำคัญที่สุดคือต้องมองไปให้ไกล ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เฉพาะเรื่องสุขภาพเท่านั้น แต่คือการขับเคลื่อนประเทศที่เข้าไปอยู่บนเวทีแข่งขันโลกที่เราจะแข่งขันได้อย่างมีคุณภาพ สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย

“ไม่ใช่ว่าหลุดจากกับดักโควิดแล้วก้าวไปสู่ความหายนะทางเศรษฐกิจ เพราะสู้เขาไม่ได้ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ โฟกัสวันนี้ ไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปจากการหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชน แต่แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ประเทศไทยจะต้องเกิดขึ้น! เพราะโลกหยุดมา 2 ปีแล้ว มีคนบอบช้ำ มีคนเจ็บปวด มีธุรกิจที่โซซัดโซเซ ล้มหายตายจากไปเยอะมาก เราจะทำอย่างไรให้ตรงนี้กลับมาได้ ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่จะต้องเกิดขึ้น”

เศรษฐา ย้ำว่า การเปิดประเทศ120 วัน นั้น ตามทฤษฎียังมีความเป็นไปได้ แต่นัั่นหมายความว่า ต้องฉีดให้ได้วันละ 6 แสนคน ที่ผ่านมามีบางวันสามารถฉีดได้แสดงว่าบุคคลากรทางการแพทย์มีศักยภาพในการฉีดเพียงแต่ว่า “วัคซีนไม่มา! แม้ความหวังหริบหรี่ แต่สุดท้ายวัคซีนก็มาอยู่ดี”

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน, กำลังยืน และข้อความ

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เชื่อว่ายังคงเป็นภาพของ “K-Shaped” โดยที่กลุ่มคนรวยจะอยู่ในส่วนของ “K ขาขึ้น” คนรวย-รวยมากขึ้น ส่วน “K ขาลง” จะอยู่ในแรงงานระดับล่างที่ยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนช่องว่างของความเลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ เกิดขึ้นทั่วโลกส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอย

ทั้งนี้ การฟื้นเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายและลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำไปพร้อมๆ กัน ต้องเริ่มจากที่ รัฐบาล เตรียมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เหมือนสหรัฐ และยุโรปที่มีแผนงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่าง “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ ออกมาชัดเจน

รัฐบาลต้องมีการพยุงราคาสินค้า หรือจะเรียกว่าประกันราคาสินค้า จำนำ หรือจ้างผลิต สำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ อย่าง ข้าว ข้าวโพด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และอ้อย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กลับไปสร้างผลิตผลทางการเกษตรพอที่เลี้ยงครอบครัว

รัฐบาลต้องปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีใหม่ เรียกเก็บจากคนที่แข็งแรงอยู่บนยอดพีระมิด ไม่ว่าจะเป็นภาษีความมั่งคั่ง ภาษีมรดกเพื่อนำรายได้จากภาษีเหล่านี้มาชดเชยรายจ่ายที่ไปกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติโควิด

รัฐบาลต้องพิจารณากฏหมายเกี่ยวกับการกระตุ้นการลงทุนทั้งในและนอกประเทศ ให้อินเซนทีฟ และเอื้อนักลงทุน ดึงดูดให้มาลงทุนในประเทศไทย

"ไทยมีความได้เปรียบในเรื่องทำเลที่ตั้ง และโครงสร้างพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ที่ผ่านมาบริหารจัดการเรื่องวัคซีนผิดพลาดเท่านั้น”

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องเตรียมความพร้อมทางด้านเม็ดเงินที่ใช้ในการลงทุน เพื่อแข่งขันกับประเทศอื่นๆ จึงควรต้องขอขยายสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 60% เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศที่มีการปรับอัตราสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงขึ้นเพื่ออัดฉีดเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม ในประเทศ

อีกมาตรการเร่งด่วน รัฐบาลต้องช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี เช่น พักหนี้ ให้เงินทุนหมุนเวียน เมื่อเศรษฐกิจกลับมา รวมทั้งธุรกิจสายการบิน หากไม่ช่วยเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วจะมีเครื่องบินที่ไหนไปรับนักท่องเที่ยวมาประเทศไทย

“ปัญหาการเมืองเป็นสิ่งไม่ควรมองข้าม เศรษฐกิจและการเมืองเป็นของคู่กันมาตลอด หากแก้ไขเศรษฐกิจได้แต่ถ้าการเมืองไม่ถูกแก้ไขก็จะเกิดการเมืองบนท้องถนน เกิดการประท้วง เกิดความรุนแรง มาฉุดรั้งเศรษฐกิจอยู่ดี หากรัฐบาลทำอย่างผมเสนอ เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมา วันนี้ไม่ใช่เรื่องของเราแต่เป็นเรื่องประเทศ เมื่อไรที่ประเทศไปได้ ธุรกิจก็ไปต่อได้ ยกเว้นคนที่มีปัญหากระแสเงินสดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผมเชื่อว่าถ้าภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ ช่วยกันช่วยเหลือสังคม คนตัวเล็ก พวกเราจะผ่านวิกฤติครั้งไปได้”

สำหรับวิธีการแก้ปัญหาโควิดของแสนสิริ มองเรื่อง “วัคซีน” เป็นอันดับแรก เพื่อฉีดให้พนักงานและครอบครัว รวมถึงพันธมิตร พนักงานดูแลความสะอาดและความปลอดภัยในโครงการ โดยจองซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม 37,000 โดส ฉีดได้ราว 18,000 คน พร้อมบริจาคให้ราชวิทยาลัยฯ 1,000 โดส เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในสังคมของแสนสิริโดย 9,000 โดสฉีดให้พนักงานและครอบครัว อีก 9,000 โดสฉีดให้พันธมิตรและชุมชนรอบแสนสิริ รวมถึงกลุ่มที่มีโอกาสเข้าถึงวัคซีนน้อย เช่น รปภ. แม่บ้าน คนสวน ช่าง คนงานในแคมป์ก่อสร้าง ทำให้แรงงานแคมป์ของแสนสิริ มีภูมิคุ้มกันหมู่กว่า 70% บางไซต์ 100%

พร้อมกันนี้ได้หารือกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการสร้างโรงพยาบาลสนาม ในช่วงเกิดโควิดระลอก 2 ย่านนนทบุรี และสมุทรปราการ แต่ยังไม่ทันลงมือสร้าง สถานการณ์ดีขึ้นจึงไม่ได้ทำ พร้อมกันนี้ มีการบริจาครถตรวจโควิด และช่วงโควิดระลอก 3 ร่วมกับพาร์ทเนอร์ สร้างห้องอาบน้ำ 500 ห้องสำหรับผู้ป่วยโควิดในโรงพยาบาลบุษราคัม โรงพยาบาลสนามเมืองทองธานี ล่าสุดทำห้องไอซียู 17 ห้อง

กรณี หากมีลูกบ้านที่ติดเชื้อระดับสีเขียวและประสงค์ที่จะกักตัวและรักษาตัวแบบ Home Isolation จะมี “พลัส พร็อพเพอร์ตี้” ทำหน้าที่ประสานงานโรงพยาบาล ที่มีบริการเทเลเมดิซีน เข้ามาดูแล

“วันนี้เราอยากเชิญชวนภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ ให้ความช่วยเหลือสังคมเพื่อให้เกิดการบูรณาการผู้ที่อ่อนแอให้แข็งแรง ตรงไหนรัฐบาลมองไม่เห็นหรือว่าไม่สามารถเข้าถึงได้ก็เข้าไปช่วยพยุง ไม่ว่าจะเป็นสตรีทฟู้ด โชว์ช้าง โชว์ลิง ลิเก หมอรำ ลำตัด ให้อยู่ได้จนถึงช่วงที่เศรษฐฟื้นตัว”