ถึงเวลา 'ผลัดใบ' TPLAS 'อภิรัตน์ ธีระรุจินนท์'

ถึงเวลา 'ผลัดใบ' TPLAS 'อภิรัตน์ ธีระรุจินนท์'

เข้ามาสวมหมวดทายาทนักธุรกิจรุ่น 2 สำหรับ 'อภิรัตน์ ธีระรุจินนท์' ลูกชาย 'ธีระชัย ธีระรุจินนท์' เจ้าของ 'ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994)' ลั่นพร้อมรับโจทย์หินพิสูจน์ผลงาน กับพันธกิจสร้างการเติบโตครั้งใหม่ !!

เมื่อพ่อเอ่ยถาม !! อยากสานต่อธุรกิจครอบครัวต่อไหม ? หลังมีแนวคิดจะนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น ความคิดจึงตลกผนึกว่า ควรเข้ามาช่วยงานพ่อแม่ได้แล้ว เพื่อนำพาองค์กรไปสู่ความยั่งยืนต่อไป...!

'อภิรัตน์ ธีระรุจินนท์' รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) หรือ TPLAS และทายาทรุ่นที่ 2 ของ 'ธีระชัย ธีระรุจินนท์' ผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วนถือหุ้น 59.29% าแจกแจงวิสัยทัศน์ให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า ตัดสินใจเข้ามาช่วยงานธุรกิจครอบครัวหลังเรียนจบ ในตำแหน่งแรก คือ 'ด้านการเงิน'

สัญญาณนี้บ่งบอกว่า 'เจ้าพ่อในอุตสาหกรรมพลาสติก' กำลังจะหาจังหวะถอยไปนั่งทำงานหลังบ้าน...!!!

ก่อน 'อภิรัตน์' มานั่งในตำแหน่ง 'รองกรรมการผู้จัดการ' หลังเรียนจบปริญญาตรีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทคณะบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) และหลังเรียนจบก็เข้ามาช่วยงานธุรกิจของครอบครัวทันที แต่ในส่วนของโรงงาน ตอนนั้นยังไม่ได้รับผิดชอบมากแค่ช่วยหยิบจับและยกของเท่านั้น

วันหนึ่งในปี 2558 ! พ่อเดินมาถามว่า มีแนวคิดอยากนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น ผมอยากสานต่อธุรกิจไหม ? ซึ่งตอนนั้นผมก็ไม่เข้าใจว่านำบริษัทเข้าระดมทุนแล้วเป็นยังไง รู้แค่ว่าเมื่อบริษัทเข้าตลาดหุ้นจะมีชื่อบริษัทติดอยู่บนกระดานหุ้นเท่านั้น แต่ถือเป็น 'จุดเริ่มต้น' ที่ผมเข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัวอย่างเต็มตัว 

บทพิสูจน์ผลงานที่ทำให้ 'อภิรัตน์' เป็นที่จับต้องได้ นั่นคือ การเป็นเครื่องช่วยคุณพ่อในการนำบริษัทเดินหน้าเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น !! ด้วยการเป็นเครื่องมือของพ่อในการทำงานต่างๆ คือ พ่อจะเป็นคนวางนโยบายแล้วผมต้องเป็นคนที่รับนโยบายเหล่านั้นมาปรับใช้ให้ได้ ซึ่งพ่อจะให้เพียง 'ข้อควรระวัง-เป้าหมาย' ซึ่งผมมีหน้าที่นำเป้าหมายมาปรับวิธีใช้ให้เป็นขั้นเป็นตอนเพื่อปรับโครงสร้างองค์ใหม่เพื่อให้บริษัทเข้าระดมทุนได้ โดยใช้เวลาปรับกว่า 3 ปีกว่า

'ทายาทรุ่น 2' เล่าต่อว่า หลังบริษัทเข้าระดมทุนเมื่อปี 2561 เรียบร้อย พ่อเริ่มมอบหมายงานที่มีความ 'ยาก' มากขึ้น อย่างเรื่องของ 'การลงทุน' ซึ่งพ่อจะมีโจทย์มาให้แค่ว่า อยากได้ผลิตภัณฑ์แบบใหม่และให้ผมไปดูความต้องการของตลาดเองก่อนจะมานำเสนอ ซึ่งผมไปทำแล้วกลับมานำเสนอพ่อมักจะตีกลับให้ทำใหม่ ตอนแรกก็ไม่เข้าใจแต่ก็พยายามทำมาเรื่อยๆ จนวันนี้รู้แล้วว่าที่พ่อให้ทำแบบนั้นพ่อกำลังสอนว่า 'จะทำอะไรต้องไม่ยอมแพ้ต้องพยายามหาช่องว่างตรงนั้นให้เจอ เปรียบเหมือนเราหารูเล็กๆ ที่ปลายเข็ม นั่นจะทำให้เราเห็นช่องที่คนอื่นๆ ไม่เห็นได้'

เขาแจกแจง แผนธุรกิจ 3-5 ปีข้างหน้า (2564-2568) ของ TPLAS ว่า วางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้จาก 'ธุรกิจผลิตภัณฑ์บรรจุอาหารจากกระดาษ' เพิ่มเป็น 30% จากเป้าหมายปี 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ 8% ส่วนธุรกิจจำหน่ายถุงพลาสติกบรรจุอาหารอยู่ที่ 50-60% จากปัจจุบัน 80-90% และฟิล์มยืดห่อหุ้มอาหาร 10%

หลังจาก 'โรดแมปกำจัดขยะพลาสติก' ที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 ที่ตั้งเป้ายกเลิกใช้ถุงพลาสติกชนิดบาง กล่องโฟมบรรจุอาหาร หลอกพลาสติกและแก้วพลาสติกใช้ครั้งเดียว กำลังเป็น 'จุดเปลี่ยน' สำคัญวงการอุตสาหกรรมพลาสติกเมืองไทย ! 

ส่งผลให้ 'ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994)' ผู้นำด้านผลิต และจัดจำหน่ายถุงพลาสติกบรรจุอาหาร และถุงพลาสติกหูหิ้ว ภายใต้ตราสินค้า 'หมากรุก' หากต้องการเติบโตจำเป็นต้อง 'แตกไลน์' ออกสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เมื่อธุรกิจดั้งเดิมไม่สามารถผลักดันการเติบโตต่อเนื่องได้ 

จึงเป็นที่มาเมื่อปี 2562 'พ่อ' โยนโจทย์ใหม่มาให้ ว่า ให้ลองศึกษาและลงทุนทำ 'ผลิตภัณฑ์จากกระดาษ!' โดยเริ่มต้นจาก 'ผลิตภัณฑ์กล่องบรรจุอาหาร' ในปี 2563 โดยลงทุนเครื่องจักรใหม่ จำนวน 4 เครื่อง กำลังผลิต 12 ล้านใบต่อปี ก่อนที่ปี 2564 ลงทุนเครื่องจักรเพิ่มอีก 6 เครื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมเพิ่มเป็น 31 ล้านใบต่อปี 

ทั้งนี้ประเมินความต้องการ (ดีมานด์) ใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นกระดาษบรรจุอาหารมีทิศทางที่ขยายตัวสูงในระยะยาว

'เมื่อทิศทางผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษบรรจุอาหารที่มีความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง เราจึงเน้นขยายการลงทุนมารองรับดีมานด์ดังกล่าว รวมทั้งจุดเปลี่ยนสำคัญของถุงพลาสติกเมืองไทยหลังการยกเลิกใช้กล่องโฟมที่จะเกิดขึ้นในปี 2565'

162825553237

โดยในปีนี้บริษัทออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่สู่ตลาด อย่าง บรรจุภัณฑ์กระดาษประเภท จาน ถ้วย และถาด เพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ โดยมองว่าผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์กระดาษคือ 'ดาวรุ่ง' มาแรงในอนาคต ยิ่งเฉพาะหลังยกเลิกการใช้กล่องโฟมและถุงพลาสติกในปีหน้า 

'การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ ทั้งบรรจุภัณฑ์กระดาษประเภท จาน ถ้วย และถาด เพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ในเบื้องต้นจะเน้นเพิ่มสัดส่วนสินค้าประเภทบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษบรรจุอาหาร เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ จะสนับสนุนให้มีอัตรากำไรขั้นต้นในระดับที่ดีขึ้นอย่างมั่นคง'

ทายาทรุ่น 2 เล่าต่อว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ จะเน้นกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยมีการพัฒนาระบบรับคำสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มาใช้ และ ดำเนินกลยุทธ์ในการควบคุมประสิทธิภาพบริหารต้นทุน เพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไร

โดยในปี 2564 บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตรายได้อยู่ที่ 10% ซึ่งจะมีสัดส่วนรายได้จากบรรจุภัณฑ์ประเภทถุงอยู่ที่ 82% ฟิล์มยืดห่อหุ้มอาหาร 10% และบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษ 8% ซึ่งประเมินว่า ความต้องการใช้ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ยังเติบโตได้ดีในระยะยาว แม้ว่าในช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 จะมีผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกสาม ที่ส่งผลให้ไม่สามารถเดินทางไปหาลูกค้าได้ในระยะเวลาสั้นๆ 

แต่บริษัท 'ปรับกลยุทธ์' ให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าผู้ใช้สินค้าโดยตรงได้มากขึ้น และการที่ผู้บริโภคต้องปรับรูปแบบการทำงานอยู่ที่บ้าน (Work From Home) รวมทั้งเน้นการสั่งอาหารผ่านช่องทางเดลิเวอรี่ (ออนไลน์) ทำให้ถุงบรรจุอาหาร ถุงหูหิ้ว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทยังมีความต้องการเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

162825559593

สะท้อนผ่านในไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทได้เพิ่มกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและติดตั้งเครื่องจักรใหม่เพิ่ม ประกอบด้วยเครื่องจักร 'FoodBox' ใหม่ จำนวน 6 เครื่อง ทำให้กำลังการผลิตจาก 12 ล้านชิ้นต่อปีเป็น 31 ล้านชิ้นต่อปี และลงทุนในเครื่อง 'FoodBowl' ใหม่ จำนวน 1 เครื่อง มีกำลังการผลิต 10 ล้านชิ้นต่อปี และเครื่องบรรจุถุงหูหิ้วอัตโนมัติใหม่ จำนวน 2 เครื่อง รวมทั้งมีแผนการวิจัยและพัฒนาเครื่องต้นแบบสำหรับถุง PP&HDPE โดยมั่นใจว่าจะช่วยสนับสนุนให้บริษัท มีรายได้เพิ่มขึ้น และกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจได้อีกด้วย 

ขณะที่ ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 9.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.36% จากไตรมาส 1 ปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 6.10 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 128.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.59% จากไตรมาส 1 ปี 2563 ที่มีรายได้รวมเท่ากับ 110.31 ล้านบาท

ท้ายสุด 'อภิรัตน์' ทิ้งท้ายไว้ว่า ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 หนุนความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารทุกประเภทเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังรัฐมีมาตรการล็อกดาวน์ซึ่งช่วยสร้างยอดขายและรายได้เพิ่ม และควบคู่กับการบริหารต้นทุนให้ลดลงและกระจายความเสี่ยงการดำเนินธุรกิจคาดว่าปีนี้ผลประกอบการเติบโตตามเป้าหมาย

162825561887