ศบศ.ตีกลับแผนลดภาษีเงินได้ ดึงต่างชาติ 4 กลุ่มลงทุนไทย

ศบศ.ตีกลับแผนลดภาษีเงินได้ ดึงต่างชาติ 4 กลุ่มลงทุนไทย

ศบศ.ตีกลับแผนลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดึงต่างชาติ 4 กลุ่มลงทุนไทย “คลัง” หัก “ทีมปฏิบัติการเชิงรุกดึงการลงทุนต่างชาติ” กร้าวไม่ลดภาษีเหลือ 17% สั่งทำรายละเอียดใหม่อีกรอบ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) วานนี้ (22 ก.ค.) เพื่อติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และพิจารณาแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษก ศบศ.เปิดเผยว่า ศบศ.ได้พิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าไทยตามข้อเสนอทีมปฏิบัติการเชิงรุกทาบทามบริษัทเอกชนไทยและต่างประเทศที่มี ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษานายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติกลุ่มเป้าหมาย โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาข้อเสนอในรายละเอียดต่อไป

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ทีมปฏิบัติการเชิงรุกการลงทุนเสนอดึงกลุ่มแรงงานศักยภาพสูงและกลุ่มคนต่างชาติที่มีรายได้สูงมาพำนักไทย 1 ล้านคน ในปีนี้ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศจากคนกลุ่มนี้ 1 ล้านล้านบาท และเกิดการลงทุนในประเทศ 8 แสนล้านบาท ภาครัฐมีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้น 2.5 แสนล้านบาท โดยมีข้อเสนอ คือ รัฐบาลไทยให้วีซ่าคนกลุ่มนี้ 10 ปี ได้รับอนุญาตทำงานโดยไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ คิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ในไทยในอัตราคงที่ 17% (จากเดิมเสียภาษีอัตราก้าวหน้าสูงสุด 35%) ได้เจ้าของหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะยาว รวมที่ดินได้

ทั้งนี้ ศบศ.ยังไม่เห็นชอบและให้ทุกฝ่ายหารืออีกครั้งก่อนเสนอ ศบศ.ครั้งต่อไป

“กระทรวงการคลัง และทีม ม.ล.ชโยทิต คุยกันนอกรอบแล้วก่อนเสนอ ศบศ.แต่สื่อสารผิดพลาดในการประชุมครั้งนี้ ทำให้ยังไม่ได้รับพิจารณา และกลับไปหารือกันอีก รวมทั้งแพคเกจการลงทุนที่เป็นมาตรการภาษีในส่วนอื่นด้วยก่อนเสนอ ศบศ.อีกครั้ง”แหล่งข่าว ระบุ 

รายงานข่าวระบุว่า การประชุม ศบศ.เดือน มิ.ย.2564 มีข้อเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย ได้แก่ 

1.ประชากรที่มีความมั่งคั่งสูง ต้องลงทุนขั้นต่ำ 500,000 ดอลลาร์ ในพันธบัตรรัฐบาลไทย ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ ในอสังหาริมทรัพย์ และมีรายได้ขั้นต่ำปีละ 80,000 ดอลลาร์ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีทรัพย์สินขั้นต่ำ 1 ล้านดอลลาร์ หรือ 30 ล้านบาท มีประกันสุขภาพคุ้มครองค่ารักษา 100,000 ดอลลาร์ขึ้นไป

2.ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ อายุ 50 ปีขึ้นไป มีรายได้จากการเกษียณอายุในต่างประเทศ ลงทุนขั้นต่ำในไทย 250,000 ดอลลาร์ มีรายได้ขั้นต่ำปีละ 40,000-80,000 ดอลลาร์ มีประกันสุขภาพ คุ้มครองค่ารักษา 100,000 ดอลลาร์ขึ้นไป

3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย โดยทำงานให้กับนายจ้างในต่างประเทศ ได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพด้านดิจิตอล (Digital nomad) และพนักงานองค์กรขนาดใหญ่และใกล้เกษียณ มีรายได้ขั้นต่ำ ปีละ 80,000 ดอลลาร์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือปีละ 40,000 ดอลลาร์ หากสำเร็จปริญญาโทต้องมีประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 5 ปี มีประกันสุขภาพจากบริษัทประกันที่ได้รับการรับรองคุ้มครองค่ารักษา 100,000 ดอลลาร์ขึ้นไป

4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ เข้ามาทำงานในไทยในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิจัยที่มาทำงานในหน่วยงานรัฐ หรือเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มีคุณสมบัติรายได้ส่วนบุคคล ปีละ 80,000 ดอลลาร์ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือปีละ 40,000 ดอลลาร์หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป และมีประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 5 ปี ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีประกันสุขภาพจากบริษัทประกันที่ได้รับการรับรองคุ้มครองค่ารักษา 100,000 ดอลลาร์ ขึ้นไปตลอดระยะเวลาถือวีซ่า