“ซุปเปอร์” ลุ้นผลติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่ม

“ซุปเปอร์” ลุ้นผลติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่ม

ซุปเปอร์รุกเพิ่มธุรกิจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ขายไฟฟ้าPrivate PPA คาดรู้ผลเร็วๆนี้ รอชัดเจนโซลาร์ฟาร์มกองทัพบก 300 เมก

นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ SUPER เปิดเผยว่า บริษัท อยู่ระหว่างรอผลการประมูลโครงการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟท็อป ให้กับมหาวิทยาลัย 2-3 แห่ง คาดว่าจะประกาศผลได้ในเร็วๆนี้ ซึ่งจะเป็นการเจาะตลาดธุรกิจขายไฟฟ้าโดยไม่ผ่านระบบการไฟฟ้า หรือ Private PPA จาก

ปัจจุบัน บริษัททยอยติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้กับลูกค้าไปบ้างแล้ว แต่ยังมีปริมาณไม่มากนักราว 10-15 เมกะวัตต์ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่ต้องการติดตั้งบนหลังคา จากปัจจุบันที่ บริษัท ยังคงมุ่งเน้นการติดตั้งโซลาร์บนพื้นดิน หรือ โซลาร์ฟาร์มมากกว่า

สำหรับเม็ดเงินลงทุนในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปนั้น ปัจจุบันถูกลง อยู่ที่ประมาณ 16-18 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ เพราะไม่ต้องลงทุนค่าสายส่งไฟฟ้า และไม่มีต้นทุนค่าที่ดิน ขณะที่ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จะอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ เพราะเทคโนโลยี Disrupt และความต้องการติดตั้งที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ บริษัท ยังสนใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์ม บนพื้นที่ราชพัสดุในการดูแลของกองทัพบก(ทบ.)ในภูมิภาคต่างๆ ที่มีเป้าหมายจะติดตั้งในเฟสแรก 300 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ

“เราก็มีพูดคุย และรอความชัดเจนของโครงการ อะไรที่วันนี้มีโอกาสเติบโต ทั้งโซลาร์ ลม ขยะ เราสนใจ ยิ่งถ้าเป็น sharing กับหน่วยงานรัฐก็น่าทำ เหมือนอดีตที่เราเคยร่วมโซลาร์สหกรณ์ เป็นต้น”

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) หรือ โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในเขื่อนของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่มีแผนจะขยายการติดตั้งเพิ่มเป็น 5,000 เมกะวัตต์ และเตรียมเปิดประมูลโครงการที่ 2 คือ โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น (Hydro-floating Solar Hybrid )” ขนาด 24 เมกะวัตต์ นั้น บริษัทก็สนใจ และกำลังรอติดตามข้อมูลว่า กฟผ.จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าร่วมได้อย่างไร

ขณะที่ปัจจุบัน โครงการติดตั้งโซลาร์บนทุ่นลอยน้ำนั้น บริษัท มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ อีสต์วอเตอร์ (EASTW) ในลักษณะ Private PPA และอยู่ระหว่างรอส่งมอบพื้นที่เพื่อเข้าไปผลิตไฟฟ้าสถานีสูบน้ำ (pumping station)

นายจอมทรัพย์ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มผลประกอบการในช่วงครึ่งหลังปีนี้ คาดว่า จะดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากบริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม กำลังการผลิต 421 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยจะเริ่ม COD เฟสแรก 50 เมกะวัตต์ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ และเพิ่มขึ้นเป็น 221 เมกะวัตต์ในไตรมาส 4 ปีนี้

รวมถึงส่วนที่เหลืออีก 200 เมกะวัตต์จะทยอยรับรู้ในปีหน้า ดังนั้นภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2564 คาดว่ารายได้จะแตะ 10,000 ล้านบาท ได้ตามเป้าหมาย