เปิดแผน 'จุดพัก' มอเตอร์เวย์มาบตาพุด 'ไฮรีเทิร์น' มูลค่าความสะดวก

เปิดแผน 'จุดพัก' มอเตอร์เวย์มาบตาพุด 'ไฮรีเทิร์น' มูลค่าความสะดวก

กรมทางหลวง (ทล.) เตรียมเปิดประกวดราคาก่อสร้างจุดพักรถบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร - บ้านฉาง ช่วงพัทยา – มาบตาพุด มูลค่าโครงการรวมกว่า 1 พันล้านบาท ภายในเดือน ธ.ค.นี้

เพื่อใช้เป็นจุดแวะพักที่ให้บริการแก่ผู้ใช้เส้นทาง เป็นส่วนหนึ่งในการอำนวยความสะดวก เพิ่มปริมาณผู้ใช้ทางสูงสุดถึง 5 หมื่นคนต่อวัน

สำหรับจุดพักรถมอเตอร์เวย์ ช่วงพัทยา - มาบตาพุด จะแบ่งการประกวดราคาออกเป็น 2 สัญญา คือ 

1.งานก่อสร้างโครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง ตั้งอยู่บริเวณ กม. 137+100 ของมอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 ช่วงพัทยา–มาบตาพุด 

2.โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา ตั้งอยู่บริเวณ กม. 93+500ของมอเตอร์เวย์ หมายเลข 7

สำหรับมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ช่วงพัทยา – มาบตาพุด เป็นส่วนต่อขยายที่เปิดให้บริการใหม่เพื่อเชื่อมเส้นทางไปยังท่าอากาศยานอู่ตะเภาที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นท่าอากาศยานหลักแห่งที่ 3 และเมืองการบินภาคตะวันออก (Aerotropolis) รวมถึงพื้นที่ในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเมื่อโครงการพัฒนาในพื้นที่อีอีซีเริ่มทยอยเปิดให้ดำเนินการในช่วงปี 2568 เป็นต้นไป จะทำให้มีความต้องการใช้งานมอเตอร์เวย์ในช่วงนี้เพิ่มสูงขึ้น

ปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล ผู้อำนวยการกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) กรมทางหลวง เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมทางหลวงได้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนและประชาชนที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว มีภาคเอกชนสนใจร่วมลงทุน ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และนักลงทุนที่มีศักยภาพ อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน),บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน), กลุ่มบีทีเอส และบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ทล.อยู่ระหว่างเตรียมเสนอโครงการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบในเดือน ก.ค.นี้ หลังจากนั้นเสนอให้คณะกรรมการพีพีพีพิจารณาในเดือน ก.ย.2564 ก่อนจะดำเนินการเปิดประกวดราคาในเดือน ธ.ค.2564 และคาดว่าจะสามารถลงนามว่าจ้างผู้รับเหมาได้ช่วงกลางปี 2565 เริ่มงานก่อสร้างช่วงครึ่งหลังของปี 2565 กำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการภายใน 2 ปี เพื่อเปิดให้บริการราวปี 2567

โดยระยะเวลาก่อสร้างโครงการ มีการกำหนดเงื่อนไขว่าในช่วง 1 ปีแรก หรืออย่างเร็วภายในเดือน ก.ค. 2566 หรืออย่างช้าเดือน ธ.ค.2566 จะต้องมีการเปิดให้บริการจุดพักรถระยะแรกก่อน โดยมีพื้นที่ให้บริการจำเป็นขั้นต่ำ 30-40% ของพื้นที่ให้บริการทั้งหมด เช่น พื้นที่จอดรถฟรี สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง พื้นที่จำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งไม่ใช่ห้างสรรพสินค้า และพื้นที่ห้องสุขาฟรี เป็นต้น หลังจากนั้น กำหนดให้ทยอยเปิดระยะ 2 จนครบ 100% ภายใน 2 ปี

162640856637

สำหรับการประมูลจะแบ่งออกเป็น 2 สัญญา คือ 1.ศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา พื้นที่รวม 117 ไร่ (2 ฝั่งถนน) วงเงินลงทุน 700 ล้านบาท และ 2.ศูนย์บริการทางหลวงบางละมุง พื้นที่รวม 66 ไร่ วงเงินลงทุน 300 ล้านบาท โดยให้เอกชนร่วมทุนรูปแบบ PPP Net Cost รัฐจะเป็นฝ่ายจัดหาและปรับระดับที่ดิน และรับส่วนแบ่งรายได้ตามเงื่อนไขจากเอกชน ซึ่งกำหนดให้มีการปรับเพิ่ม 15% ทุก 3 ปี

ขณะที่เอกชนจะลงทุนออกแบบก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง บริหารจัดการ และรับความเสี่ยงทางด้านรายได้ของโครงการทั้งหมด กำหนดอายุสัมปทาน รวม 32 ปี (ช่วงระยะเวลาออกแบบและก่อสร้าง 2 ปี และช่วงระยะเวลาดำเนินโครงการ 30 ปี) โดยรายได้ตลอดระยะเวลาสัมปทาน คาดการณ์ว่าจะสูงอยู่ที่ราว 1.5 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็น รายได้จากศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา ราว 1 หมื่นล้านบาท และศูนย์บริการทางหลวงบางละมุง ประมาณ 5 พันล้านบาท

162640854132

รายงานข่าวจาก ทล. ระบุว่า ผลการวิเคราะห์ทางการเงินของการให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการโครงการทั้งหมดในรูปแบบ PPP Net Cost พบว่าการลงทุนโครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา จะมีความคุ้มค่าในมุมมองของภาคเอกชน โดยมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 436.55 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) เท่ากับ 10.34% โดยมีอัตราส่วนผลประโยชน์ตอบแทนต่อเงินลงทุน (B/C Ratio) อยู่ที่ 1.18 ระยะเวลาคืนทุน 11.21 ปี

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง “กรณีมีโครงการ” กับ “กรณีไม่มีโครงการ” พบว่าการพัฒนาโครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชาจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 35.69% รวมถึงการก่อสร้างโครงการฯ จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจจากการขยายตัวทางด้านการผลิตคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,948.87 ล้านบาท การขยายตัวทางด้านรายได้ประมาณ 549.17 ล้านบาท และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นประมาณ 900 อัตรา

ส่วนโครงการศูนย์บริการทางหลวงบางละมุง พบว่าการลงทุนโครงการจะมีความคุ้มค่าในมุมมองของภาคเอกชน โดยมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 50.03 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) เท่ากับ 7.79% โดยมีอัตราส่วนผลประโยชน์ตอบแทนต่อเงินลงทุน (B/C Ratio) อยู่ที่ 1.04 ระยะเวลาคืนทุน 15.75 ปี

อีกทั้งการพัฒนาโครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุงจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 27.98% รวมถึงการก่อสร้างโครงการฯ จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจจากการขยายตัวทางด้านการผลิตคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,565.3 ล้านบาท การขยายตัวทางด้านรายได้ประมาณ 441.08 ล้านบาท และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นประมาณ 1,100 อัตรา