ผลวิจัยชี้ปิดแคมป์ก่อสร้าง30วัน'ฉุด' อุตสาหกรรมก่อสร้างปีนี้ หดตัว3.8%

ผลวิจัยชี้ปิดแคมป์ก่อสร้าง30วัน'ฉุด' อุตสาหกรรมก่อสร้างปีนี้ หดตัว3.8%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุมาตรการปิดแคมป์ก่อสร้าง 1 เดือน สะเทือนแผนการลงทุนก่อสร้างปี64 คาดมูลค่าการลงทุนหดตัว -3.8%

จากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่สถานการณ์ยังไม่คลี่คลายและพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องใช้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์ที่ให้มีการหยุดก่อสร้างเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือน โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน – 28 กรกฎาคม 2564 ในจังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 4 จังหวัด (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา) ซึ่งมีมูลค่าการก่อสร้างคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 54% ของมูลค่าการก่อสร้างทั้งหมดในประเทศ หรือมีมูลค่าราว 7 แสนล้านบาท


แม้ว่าภาครัฐจะมีการประกาศคลายล็อคดาวน์กิจกรรมการก่อสร้างบางประเภทไปเมื่อ 3 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการก่อสร้างที่ไม่สามารถหยุดก่อสร้างได้ทันที เช่น โครงการก่อสร้างใต้ดินที่มีความลึก ซึ่งหากหยุดก่อสร้างทันทีอาจเกิดความเสียหายเชิงโครงสร้าง หรือโครงการก่อสร้างชั่วคราวที่มี เช่น โรงพยาบาลสนาม เป็นต้น อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิดที่ยังไม่คลี่คลายประกอบกับมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ที่ให้มีการหยุดทำการก่อสร้างชั่วคราวในบางประเภท อาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างให้มีความล่าช้าออกไป เนื่องจากขั้นตอนการก่อสร้างต้องมีการวางแผนล่วงหน้าและทำงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระยะเวลาที่หยุดงานไป 1 เดือนนั้น ในทางปฏิบัติเมื่อกลับมาทำงานอาจจะต้องใช้เวลามากกว่า 1 เดือน
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  ประเมินว่า ผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นในส่วนของงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐเป็นหลัก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑลที่งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐคิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของมูลค่าการก่อสร้างทั้งหมด เช่น งานรถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ รวมถึงงานก่อสร้างถนนและอาคารภาครัฐอื่นๆ ขณะที่งานก่อสร้างของภาคเอกชน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้มูลค่าการลงทุนหดตัวหรือมีการก่อสร้างที่ลดลงอยู่แล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ส่งผลให้มาตรการการหยุดก่อสร้างดังกล่าวอาจจะกระทบภาคเอกชนในสัดส่วนที่น้อยกว่างานก่อสร้างภาครัฐ และน่าจะเป็นเรื่องของระยะเวลาและการส่งมอบงานที่ช้าลง


นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวน่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานด้วย ได้แก่ ธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจขนส่งสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง โดยธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้างคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการที่อาจจะมีการสั่งซื้อที่ล่าช้าออกไป และในบางรายที่มีการซื้อขายกันด้วยเครดิตอาจทำให้ต้องยืดเวลาต่อไป ซึ่งจะส่งผลกระทบในแง่ของกระแสเงินสด และการก่อสร้างที่ล่าช้ายังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจขนส่งสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง รวมถึงธุรกิจการเช่าอุปกรณ์ก่อสร้างที่มีราคาสูงที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบด้วย เช่น การเช่าเครน และรถแบคโฮ ที่ผู้ประกอบการรับเหมารายกลางถึงเล็กนิยมเช่ามากกว่าซื้อ จึงสรุปได้ว่าการหยุดงานก่อสร้างไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจปลายทางของงานก่อสร้างเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลต่ออุตสาหกรรมอื่นในวงกว้างอีกด้วย


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินผลกระทบเบื้องต้นว่า น่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างคิดเป็นเม็ดเงินราว 36,200 ล้านบาท โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และเป็นโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐเป็นหลัก ขณะที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นใน 4 จังหวัดภาคใต้อาจจะมีไม่มากนัก เนื่องจากโดยปกติแล้ว การลงทุนก่อสร้างในจังหวัดภาคใต้ดังกล่าวมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2% ของมูลค่าการก่อสร้างทั้งประเทศ และจากผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมก่อสร้าง แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้างแรงงานได้บางส่วน รวมถึงผ่อนคลายงานก่อสร้างบางประเภท แต่ด้วยการระบาดของโควิดในปัจจุบันที่ยังไม่คลี่คลาย ยอดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันยังสูง ทำให้คาดว่า มูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมก่อสร้างภาพรวมทั้งปี 2564 อาจหดตัวที่ -3.8%  (เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ขยายตัว 1.2%) หรือมีมูลค่าราว 1.27 ล้านล้านบาท