EEC พลิกโฉมตลาดอสังหาฯ 2022 หลังวิกฤติ

EEC นั้นย่อมาจาก Eastern Economic Corridor ซึ่งมีอีกชื่อเป็นภาษาไทยว่า “โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” EEC คือ โครงการภายใต้พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่ประกาศเริ่มใช้ ในปี 2561

EEC นั้นย่อมาจาก Eastern Economic Corridor ซึ่งมีอีกชื่อเป็นภาษาไทยว่า “โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” EEC คือ โครงการภายใต้พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่ประกาศเริ่มใช้ ในปี 2561 โครงการนี้ส่งผลหลายประการต่อเศรษฐกิจในภาคตะวันออกของประเทศไทย แน่นอนว่าวงการอสังหาริมทรัพย์ ก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น
ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับโครงการ EEC
ก่อนที่เราจะกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในวงการอสังหาริมทรัพย์หลังมี EEC คุณอาจสงสัยว่า EEC คืออะไร เราจึงอยากให้คุณทำความรู้จักกับโครงการภายใต้พระราชบัญญัตินี้โดยสังเขปกันก่อน ดังนี้
1. โครงการนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2561
2. EEC ครอบคลุม 3 จังหวัดในภาคตะวันออก คือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง
3. Eastern Economic Corridor นั้นต่อยอดมาจาก Eastern Seaboard (ESB) หรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่เริ่มใช้ในปี 2520 และใช้กันเรื่อยมาจนถึงปี 2550
4. โครงการนี้ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นพัฒนาเพียงด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงด้านการท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม บุคลากร การศึกษา การวิจัย ธุรกิจ การเงิน เทคโนโลยี และอีกมากมาย
ความคืบหน้าของโครงการ EEC
การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสําคัญใน EEC มีความคืบหน้าไปมาก โดยมีสํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นผู้ติดตามความก้าวหน้าการดําเนินงาน โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสําคัญได้ลงนามกับคู่สัญญาไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งรายละเอียด มีดังนี้
1. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) ระยะที่ 1 ระยะทาง 220 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงในโครงการ EEC ระยะที่ 2 จะเริ่มก่อสร้างต่อจากสถานีอู่ตะเภา จ.ระยอง ไปยัง จ.จันทบุรี และ จ.ตราด รวมระยะทางประมาณ 190 กิโลเมตร โดยจะสามารถเดินทางจากสถานีอู่ตะเภาถึง จ.ตราด ได้ในระยะเวลา 64 นาที
โดยขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด และคาดว่าจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการได้ในปี 2564 และคาดว่าจะสามารถคัดเลือกผู้ลงทุนได้ในปี 2567 แล้วเสร็จพร้อมให้บริการในปี 2571

ทั้งนี้ จะนำไปสู่โครงการต่อเนื่องคือ โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก เพื่อยกระดับภาคตะวันออกสู่แหล่งผลไม้หลักของภูมิภาค รวมทั้งการขยายเมืองรอบพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา 30 กิโลเมตรทั้งพื้นที่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่เศรษฐกิจ
2. โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3
การพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ทั้งในส่วนของการขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่
การขุดลอกร่องน้ำ และแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเทียบเรือก๊าซ รองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569
3. โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค
นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง มีพื้นที่โครงการประมาณ 1,383.76 ไร่ ปัจจุบันสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีมติเห็นชอบการลงทุนโครงการ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 และเตรียมนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติ ก่อนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มการก่อสร้างได้ในไตรมาส 2 ปี 2564 และใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 3 ปี
โดยคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการโครงการได้ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงาน ประมาณ 7,459 คน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 1,342,620,000 บาทต่อปี (คิดฐานเงินเดือนขั้นต่ำเดือนละ15,000 บาท)
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นช่วงที่ไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-มิถุนายน 2563) การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี มีจำนวนทั้งสิ้น 225 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
มีเม็ดเงินลงทุนรวม 85,480 ล้านบาท แบ่งเป็นจังหวัดชลบุรี จำนวน 120 โครงการ เงินลงทุน 39,990 ล้านบาท จังหวัดระยอง จำนวน 76 โครงการ เงินลงทุน 33,320 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 29 โครงการ เงินลงทุน 12,170 ล้านบาท
ผลของ EEC ต่อวงการอสังหาริมทรัพย์
โครงการ EEC ทำให้ผู้ประกอบการทางธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทไทยหรือต่างชาติ ขยายกิจการมาในภูมิภาคนี้กันมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดการพลิกโฉมวงการอสังหาริมทรัพย์ เพราะการหลั่งไหลของผู้ประกอบการนั้นทำให้ภูมิภาคนี้เป็นพื้นที่ยอดนิยมแห่งใหม่ในการขายบ้านและที่ดินในปัจจุบัน
1. มีผู้มาลงทุนเพื่อสร้างโครงการบ้านและคอนโดมีเนียมในภาคตะวันออกมากขึ้น
พื้นที่ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ แออัดขึ้นทุกที โดยตามสถิติจำนวนประชากรในปีที่ผ่านมา มีผู้อาศัยในกรุงเทพฯ มากถึง 5.7 ล้านคน และสภาพการจราจรก็ย่ำแย่ขึ้นเช่นกัน เนื่องจากมีคนไทยจำนวนมากเลือกมาทำงานในเมืองหลวงนี้ จึงเป็นไปได้ว่าสักวันหนึ่งจะไม่มีพื้นที่เหลือให้สร้างโครงการบ้านหรือคอนโดใหม่ในกรุงเทพฯ อีก และนั่นทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อาจคิดริเริ่มขยายกิจการมายังเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตั้งแต่ตอนนี้
อย่างไรก็ตาม หากคุณต้องการเป็นเจ้าของที่ดินในเขตที่มีแนวโน้มสดใสในการเติบโตทางเศรษฐกิจและเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลนี้ ลองสำรวจทำเลและค้นหาบ้าน-คอนโด-ที่ดินในเขต 3 จังหวัดที่กล่าวมาข้างต้นได้ที่ลิงก์ด้านล่าง
2. มีผู้ย้ายถิ่นฐานจากกรุงเทพฯ มาอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกมากขึ้น
เนื่องจากมีการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และธุรกิจอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจนี้ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวในเขตปกครองพิเศษพัทยาในจังหวัดชลบุรี ที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเกือบ 15 ล้านคนในปีที่ผ่านมา หรือธุรกิจน้ำมันในจังหวัดระยองที่เติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง แน่นอนว่าความต้องการแรงงานก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
ผู้ที่กำลังหางานอาจจะเลือกมาอยู่อาศัยในภูมิภาคนี้ที่มีโอกาสความก้าวหน้าทางการงาน พร้อมโอกาสที่จะเป็นเจ้าของบ้านที่มีพื้นที่กว้างกว่าในราคาที่ถูกกว่าบ้านในกรุงเทพฯ และไม่ต้องผจญกับการจราจรที่ติดขัดมากด้วย
3. มีชาวต่างชาติสนใจซื้อหรือเช่าบ้านหรือคอนโดในบริเวณนี้มากขึ้น
ในฐานะที่เขต EEC เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ บริษัทจากต่างประเทศจึงมาลงทุนกันมากขึ้น และนายจ้างหรือพนักงานต่างชาติที่เดินทางมาทำงานในประเทศไทยจึงต้องการที่อยู่อาศัย นี่ยังไม่รวมถึงชาวต่างชาติที่ต้องการใช้ชีวิตในวัยเกษียณในเขตนี้ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกกว่าในต่างประเทศหรือในกรุงเทพฯ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่น่าอยู่ทั้งทะเลและภูเขา รวมถึงความสะดวกสบายในการเดินทางจากกรุงเทพฯ ด้วยเวลาเพียง 1-2 ชั่วโมง