โฆษณา 5 เดือน ฟื้นตัวต่อเนื่อง 7% อาหาร เครื่องดื่ม เทงบปั๊มชีพจรสื่อ

โฆษณา 5 เดือน ฟื้นตัวต่อเนื่อง 7%  อาหาร เครื่องดื่ม เทงบปั๊มชีพจรสื่อ

สัญญาณอุตสาหกรรมโฆษณาบวก 2 เดืือนติด บริษัทใหญ่ ยูนิลีเวอร์ พีแอนด์จี เนสท์เล่ โตโยต้า โคคา-โคล่า อายิโนะโมะโต๊ะ คอลเกตฯ ตบเท้าใช้จ่ายเงินสะพัด อัดแคมเปญการตลาด โหมโฆษณาเพิ่มยกแผง 

นีลเส็น เปิดเผยภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาเดือนพฤษภาคมมีเม็ดเงินสะพัด 8,792 ล้านบาท เติบโต 27% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ 5 เดือนแรก(มกราคม-พฤษภาคม) ปี 2564 มีมูลค่า 44,956 ล้านบาท เติบโต 7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นสัญญาณการฟื้นตัวเป็น “บวก” ติดต่อกัน 2 เดือน

ทั้งนี้ เมื่อแยกประเภทสื่อ เดือนพฤษภาคม สามารถสร้างการเติบโตเกือบทุกหมวด ยกเว้นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ยังคง “ติดลบ” อย่างต่อเนื่อง โดยทีวีโกยเงินโฆษณา 5,443 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% สื่ออินเตอร์เน็ต 1,900 ล้านบาท เติบโต 20% สื่อนอกบ้านและสื่อเคลื่อนที่ 803 ล้านบาท เติบโต 8% สื่อในโรงภาพยนตร์ 79 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่รายได้หดหายจากการปิดให้บริการ สื่อสิ่งพิมพ์ 231 ล้านบาท หดตัว 11% วิทยุ 280 ล้านบาท เติบโต 1% และสื่อในห้าง 56 ล้านบาท เติบโต 37%

ส่วน 5 เดือนแรก ทีวีครองเม็ดเงินสัดส่วนสูงสุด 60% มีมูลค่า 26,782 ล้านบาท เติบโต 8% ตามด้วยสื่ออินเตอร์เน็ต 9,500 ล้านบาท เติบโต 20% สื่อนอกบ้านและสื่อเคลื่อนที่ 4,175 ล้านบาท หดตัว 10% สื่อในโรงภาพยนตร์ 1,660 ล้านบาท เติบโต 17% สื่อสิ่งพิมพ์ 1,255 ล้านบาท หดตัว 14% วิทยุ 1,298 ล้านบาท หดตัว 13% และสื่อในห้าง 286 ล้านบาท เติบโต 1%

162370141738

สำหรับสินค้าที่ใช้จ่ายเงินโฆษณามากสุดในเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมูลค่า 8,106 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและเครื่องสำอางมูลค่า 6,587 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% และกลุ่มยานยนต์มูลค่า 2,769 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% ส่วนกลุ่มสื่อและการตลาดที่ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจการขายตรงมูลค่า 5,026 ล้านบาท ลดลง 3% และกลุ่มยามูลค่า2,324 ล้านบาท ลดลง 1% โดยกลุ่มที่ยังคงใช้จ่ายหดตัวรุนแรง คืออุตสาหกรรมบันเทิงมูลค่า 77 ล้านบาท ลดลง 69% และท่องเที่ยวมูลค่า 462 ล้านบาท ลดลง 62%

ส่วนบริษัทที่ใช้จ่ายงบโฆษณาสูงสุด ยังคงเป็น บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง มูลค่ากว่า 2,168 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 500 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ตามด้วย บริษัท เนสท์เล่(ไทย) จำกัด กว่า 1,355 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว บริษัท พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล(ประเทศไทย) จำกัด กว่า 1,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 200 ล้านบาท บริษัท โคคา-โคล่า(ประเทศไทย) จำกัด กว่า 734 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว

 บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กว่า 573 ล้านบาท บริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด ในเครืออาร์เอส กว่า 524 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ใช้เงินกว่า 985 ล้านบาท บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เซลส์(ประเทศไทย) จำกัด กว่า 517 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนใช้ราว 312 ล้านบาท รวมถึงบริษัท คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ(ประเทศไทย) จำกัด ใช้จ่ายกว่า 513 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนใช้เพียง 216 ล้านบาท