ธุรกิจไฟฟ้า เมินโควิด-19 ระลอก 3 ลุยขยายการลงทุนหนุนกำไรปี 2564

ธุรกิจไฟฟ้า เมินโควิด-19 ระลอก 3 ลุยขยายการลงทุนหนุนกำไรปี 2564

ธุรกิจไฟฟ้า เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญ และในยามที่โลกจะเกิดวิกฤตต่างๆ โดยเฉพาะวิกฤตที่เกิดจากโรคระบาด ไฟฟ้ายังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีพ และบริการทางการแพทย์ รวมถึงภาคการผลิตสินค้าต่างๆ โควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลกจึงมีผลกระทบต่อธุรกิจไฟฟ้าน้อย

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ประเทศไทย ดูเหมือนจะกินระยะเวลายาวนานกว่าการระบาดใน 2 ระลอกที่ผ่านมา และทำให้หลายธุรกิจต้องระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น แต่ในส่วนธุรกิจไฟฟ้า นอกจากผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ของปี 2564 จะออกมาสดใส และมีกำไรกันถ้วนหน้าแล้ว ก็ไม่ได้ตื่นตระหนกกันการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 แต่อย่างใด แถมยังประกาศเดินหน้าลุยขยายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามแผนที่วางไว้ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีนี้ 

นำโดย บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด  (มหาชน)  หรือ BGRIM ที่รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี 2564 มีกำไรสุทธิ-ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 611 ล้านบาท เติบโต 654.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากไม่รวมกำไร (ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง กำไรสุทธิจากการดำเนินงานอยู่ที่ 646 ล้านบาท เติบโต 25.2% เทียบจากไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลง 5.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรม (SPP) มีการเติบโตดีมาก ทำให้ยังมีกำไรแข็งแกร่งแม้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนามเริ่มบันทึกดอกเบี้ยจ่ายหลังสิ้นสุดระยะเวลาเครดิตตามสัญญาด้านวิศวกรรมจัดหาอุปกรณ์และก่อสร้าง (EPC) และมีการลดปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าชั่วคราวอันมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากสถานการณ์โควิด-19

ขณะที่อัตรากำไร EBITDA เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ 31.5% จากการขยายธุรกิจจำหน่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องมีปริมาณการซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 6.5% จากไตรมาสก่อนหน้า และ 5.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนสร้างสถิติใหม่ที่ 814 กิกะวัตต์-ชั่วโมง อันเกิดจากการเชื่อมเข้าระบบของลูกค้ารายใหม่ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 10.3 เมกะวัตต์  และการเติบโตจากทุกกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์กลุ่มก๊าซอุตสาหกรรม และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ซึ่งประเมินว่าปริมาณการซื้อไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรมจะเติบโตประมาณ 10-15% ในปีนี้

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน  บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บี.กริม ระบุว่า บี.กริม ได้เตรียมความพร้อม ภายใต้สมมติฐานสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง มีเงินสดในมือกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท

โดยมีเป้าหมายที่จะมีกำลังการผลิตรวมของโครงการใหม่ ไม่น้อยกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ภายในปีนี้ทั้งจากโครงการที่ก่อสร้างใหม่และการเข้าซื้อกิจการ โดยคงเป้าหมายการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 7,200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568

162217200219

ขณะที่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) หรือ GULF รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2564 โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) 2,390 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,465 ล้านบาท หรือคิดเป็น 158% จากไตรมาส 1 ปี 2563 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2563 มีกำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) ในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น 1,150 ล้านบาท หรือคิดเป็น 93% เนื่องมาจากรับรู้รายได้เงินปันผลจาก INTUCH และกำไรที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มโรงไฟฟ้า 7 SPP ภายใต้กลุ่ม GJP เนื่องจากในไตรมาส 1 ปี 2564 ปริมาณการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม วัสดุก่อสร้าง ยานยนต์ และบรรจุภัณฑ์

สำหรับปี 2564 บริษัทฯ ยังตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ จากโครงการโรงไฟฟ้าที่จะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ได้แก่ โครงการ GSRC หน่วยที่ 1 และ 2 กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 1,325 เมกะวัตต์ โดยหน่วยที่ 1 (662.5 เมกะวัตต์) ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปแล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 และหน่วยที่ 2 มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 2564 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเลที่ประเทศเวียดนาม (Mekong Wind) ระยะที่ 1-3 กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 128 เมกะวัตต์ จะเริ่มทยอยจำหน่ายไฟฟ้าระหว่างไตรมาส 2-3 ปีนี้ และโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ประเทศโอมาน (DIPWP) จำนวน 326 เมกะวัตต์ ระยะที่ 1 กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 40 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปีนี้ ส่งผลให้บริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 7,903 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2564

162217205918

ส่วน บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) RATCH รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2564 มีกำไรสุทธิ  2,087.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53.4% จากงวดเดียวกันของปี 2563 โดยบริษัทฯ คาดหมายว่า ปีนี้จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ไม่น้อยกว่า 700 เมกะวัตต์ตามเป้าหมาย รวมทั้งขยายการลงทุนธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพด้วย

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ระบุว่า การดำเนินงานของบริษัทฯ ในปีนี้มุ่งเน้นการบริหารจัดการใน 3 ประเด็นหลักควบคู่กัน ทั้งการบริหารความสามารถในการทำกำไรของสินทรัพย์ที่ได้ลงทุนแล้ว เดินหน้าโครงการเป้าหมายที่มีอยู่ในมือเพื่อร่วมทุนให้สำเร็จ และการบริหารวางแผนทางการเงินให้รัดกุมเพื่อควบคุมต้นทุนและรักษาฐานะทางการเงินให้มั่นคงสามารถรองรับแผนการขยายการลงทุนของบริษัทฯได้

โดยในปี 2564 นี้ บริษัทฯ ได้จัดสรรเงินลงทุนสำหรับโครงการใหม่ไว้ 7,000 ล้านบาท และโครงการเดิมอีก 8,000 ล้านบาท  รวม 15,000 ล้านบาท โดยโครงการใหม่ ยังเน้นการลงทุนในโรงไฟฟ้าเป็นสำคัญ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงหลักในต่างประเทศ กำลังผลิตรวมไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ และโครงการประเภทพลังงานทดแทนในต่างประเทศ อีกไม่น้อยกว่า 200 เมกะวัตต์ ส่วนการลงทุนในประเทศ บริษัทฯ ได้เข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน รวมกำลังการผลิต 18 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ยังแสวงหาการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่มีศักยภาพการเติบโตในอนาคตต่อไปอีกด้วย

162217252637

ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่ากำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนปีนี้จะเพิ่มขึ้นถึง 8,874 เมกะวัตต์ โดยกำลังการผลิตเดินเครื่องเชิงพาณิชย์จะเพิ่มขึ้นเป็น 7,215 เมกะวัตต์

162217247287

นอกจากนี้ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในเครือ ปตท. รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/64 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,973.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไร 1,579.89 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี และกำไรจากการขายหุ้นในบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด รวมถึงเงินปันผลรับจากบริษัท ราชบุรี เพาเวอร์ จำกัด

ขณะที่ผลจากการดำเนินงานในส่วนของโรงไฟฟ้าผู้ผลิตอิสระ (IPP)ลดลงจากการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงไฟฟ้าเก็คโค่วัน และโรงไฟฟ้าโกลว์ไอพีพี ทำให้รายได้ค่าความพร้อมจ่ายลดลง แต่กลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก(SPP) มีมาร์จิ้นสูงขึ้น จากการปรับตัวลดลงของราคาก๊าซธรรมชาติและราคาถ่านหิน รวมถึงความต้องการใช้ไอน้ำที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม GPSC พร้อมเดินหน้า 4 โครงการ  โดยจะเริ่มดำเนินการในไตรมาส 2 นี้ ได้แก่ โครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร Rayong Waste to Energy (WTE)มีแผนจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน(Energy Storage Unit) | 30 MWh Semi-Solid จะเริ่มผลิต และส่งมอบผลิตภัณฑ์ได้ และเดินกำลังผลิตได้เต็มกำลัง 30MWh ในช่วงปลายปีนี้

ขณะที่อีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการหน่วยผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากกากน้ำมัน Energy Recovery Unit (ERU)  มีแผนดำเนินการเชิงพาณิชย์ปี 2566 และโครงการ SPP Replacement | Glow Energy Phase 2 คืบหน้า 25% ตามแผน