‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ที่31.28บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทรับแรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำและตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง เข้าลงทุนหุ้นในธีมวัฏจักรตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว ระวังแรงขายของนักลงทุนต่างชาติจากปัญหาโควิด- 19ระบาด มองเงินบาทวันนี้คาดเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.25-31.35 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 31.28 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.31 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.25-31.35 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท โดยรวมค่าเงินบาทยังคงแกว่งตัวในกรอบเดิมในช่วง 31.20-31.40 บาทต่อดอลลาร์อยู่เนื่องจากเงินดอลลาร์ก็ยังไร้ทิศทางที่ชัดเจน ส่วนเงินบาทก็มีทั้งแรงหนุนให้แข็งค่าขึ้น จากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ(ขายกำไรบนสกุลเงินดอลลาร์ และแลกกลับมาเป็นเงินบาท)
รวมถึง ฝั่งผู้ส่งออกต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 31.40-31.50 บาทต่อดอลลาร์ และแรงกดดันด้านอ่อนค่าจากการทยอยซื้อเงินดอลลาร์ของผู้นำเข้าในช่วงปลายเดือน และแรงขายหุ้นและบอนด์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติจากปัญหาการระบาดของโควิด-19
ขณะที่ผู้เล่นในตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง และเน้นที่จะเลือกลงทุนในธีม Cyclical ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่แข็งแกร่ง จากรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ลดลงเหลือ 4.06 แสนราย ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และความหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่เตรียมเปิดเผยร่างงบประมาณมูลค่ากว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์
สำหรับปีงบประมาณถัดไป ภาพดังกล่าวหนุนให้หุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ หุ้นกลุ่มการเงิน รวมถึง หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม (Industrial) และ หุ้นขนาดเล็ก (Small Cap.) ปรับตัวขึ้นโดดเด่น ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นขนาดเล็กสหรัฐฯRussell 2000 ปรับตัวขึ้นกว่า 1.07% ตามด้วย ดัชนี Dowjones ที่มีสัดส่วนหุ้นกลุ่ม Cyclical เป็นส่วนมาก ก็ปรับตัวขึ้น0.41% ส่วน ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว 0.12% ขณะที่ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดลบ 0.01%
เช่นเดียวกับในฝั่งยุโรป ความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจได้หนุนให้ หุ้นในกลุ่ม Cyclical ปรับตัวขึ้นได้ดี และช่วยให้ดัชนี STOXX50 ปิดบวกราว 0.19% โดยหุ้นในกลุ่มธนาคารและการเงินปรับตัวขึ้นแข็งแกร่ง (BNP Paribas +3.18%, ING +3.07%, Santander +2.77%) เช่นเดียวกับ หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม (Airbus +9.22%, Volkswagen +1.55%, BMW +1.40%)
ทางด้านตลาดบอนด์ ภาพรวมตลาดการเงินที่อยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และความกังวลเรื่องปริมาณบอนด์ที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามการกู้ยืมของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้ทำให้ ผู้เล่นในตลาดบอนด์ ยังคงทยอยขายบอนด์ 10ปี กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น 3bps สู่ระดับ 1.61% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า ยีลด์ 10ปี จะมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบแบบ Sideways Up หรือ ทยอยปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี ไม่ได้ช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) อ่อนค่าลงเล็กน้อยและทรงตัวใกล้ระดับ 89.97 จุด ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการลดสถานะถือครองเงินดอลลาร์ลง เนื่องจากตลาดการเงินโดยรวมอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ทำให้ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ลดลง ดังจะเห็นได้จากการที่ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 109.8 เยนต่อดอลลาร์ขณะที่ เงินปอนด์ (GBP) แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.4204 ดอลลาร์ต่อปอนด์
สำหรับวันนี้ ผู้ในเล่นตลาดส่วนใหญ่จะยังคงติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดย ตลาดมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (PCE) มีแนวโน้มที่จะเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 3.5% ในเดือนเมษายน จากระดับ 2.3% ในเดือนก่อนหน้า ตามภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง และฐานราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะสินค้าพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำมากในปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ ตลาดจะจับตารายละเอียดของร่างงบประมาณใหม่ของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เรามองว่า ร่างงบประมาณดังกล่าวอาจเผชิญแรงคัดค้านจากสภาคองเกรสทั้งฝั่งพรรคเดโมแครตและพรรครีพลับลิกัน ทำให้งบประมาณที่จะผ่านสภาคองเกรสได้จะมีมูลค่าน้อยกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งอาจช่วยลดความกังวลต่อตลาดบอนด์ในแง่ของการที่รัฐบาลออกประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่น้อยลงกว่าที่ตลาดกังวล