บางจากฯ ดัน บีบีจีไอ ยื่นไฟลิ่งปีนี้ ต่อยอดธุรกิจไบโอเบส

บางจากฯ ดัน บีบีจีไอ ยื่นไฟลิ่งปีนี้ ต่อยอดธุรกิจไบโอเบส

บางจากฯ เตรียมดัน บีบีจีไอ ยื่นไฟลิ่งตลาดหุ้นไทยปีนี้ เดินหน้าสู่ธุรกิจไบโอเบส ขับเคลื่อน เศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมชีวภาพ ลุ้นแหล่ง OKEA เพิ่มกำลังการผลิตสิ้นปี

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เปิดเผยว่า บางจากฯ มีแผนที่จะนำบริษัทลูก คือ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ บีบีจีไอ เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยขณะนี้ ทาง บีบีจีไอ อยู่ระหว่างกระบวนการเตรียมพร้อมยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คาดว่า จะมีความชัดเจนภายในปีนี้

 

โดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บีบีจีไอ มีผลประกอบการที่ดี มีกำไรเติบโต 30% ทุกปี และหากดูจาก story แล้ว บีบีจีไอ ไม่ใช่บริษัทที่ทำแค่ธุรกิจไบโอฟิว หรือผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ แต่จะเป็นการต่อยอดสู่ธุรกิจไบโอเบส (Bio-based) ซึ่งจะผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ตอบโจทย์เรื่องของโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ หรือ BCG ของประเทศ และการที่ บีบีจีไอ เข้าไปจับมือกับ มนัสไบโอ (Manus Bio)

 

 เพื่อเดินหน้าจัดตั้งโรงงาน Syn Bio แบบ Multi-Products แห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็จะเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต และเมื่อสร้างโรงงานเสร็จแล้วและเริ่มทำการผลิต จากนั้น ก็จะนำเอาเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานในประเทศไทย แล้วทำการผลิตเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยต่อไป

 

ทั้งนี้ เมื่อช่วงปลาย 2563 บีบีจีไอ ในฐานะผู้นำ (flagship) ด้านธุรกิจ Bio-based products ในกลุ่มบางจากฯ ได้ลงทุนซื้อหุ้นเพิ่มทุน Series B Preferred Stock สัดส่วนประมาณ 5% หรือ มีมูลค่ากว่า 800 ล้านบาท กลายเป็นผู้หุ้นอันดับ 1 ใน 5 ของ Manus Bio (มนัสไบโอ) จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกที่มีชื่อเสียงในฐานะผู้นำด้านผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีชีวนวัตกรรมจากกระบวนการหมักขั้นสูง (advanced bio-fermentation) ซึ่ง บีบีจีไอ จะเป็น Lead Investor ในการระดมทุน Series B ของ Manus Bio

 

โดย บีบีจีไอ ยังได้ลงนามสัญญาร่วมทุน (Joint Venture Agreement) ร่วมกับ Manus Bio แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 และก่อตั้งบริษัทร่วมทุน “WIN Ingredients” ซึ่ง บีบีจีไอ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสัดส่วน 51% และ Manus Bio ถือหุ้น 49% เพื่อดำเนินธุรกิจดังกล่าวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

รวมถึงมีแผนจะจัดตั้งโรงงาน Syn Bio แบบ Multi-Products แห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เบื้องต้น มองว่าจะตั้งอยู่ใน จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3ของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน คาดว่าจะสามารถตัดสินใจลงทุนจัดตั้งโรงงานฯ ได้ในช่วงปลายปี 2564

 

สำหรับการลงทุนธุรกิจต้นน้ำของบางจาก ปัจจุบัน ยังโฟกัสการลงทุนในบริษัท OKEA ซึ่งเป็นบริษัทที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ในนอร์เวย์ ล่าสุด การผลิตได้ซ่อมหลุ่มผลิตและผลิตเพิ่มเป็น 20,000 บาร์เรลต่อวัน จากก่อนหน้านี้ ลดลงไปเหลือ 16,000-17,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ราคาน้ำมันดินเบรนท์ก็สูงขึ้น ทำให้บางจากฯได้รับประโยชน์สะท้อนผ่านผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาแหล่ง Yme

 

ซึ่งหากแล้วเสร็จในช่วงสิ้นปีนี้ โครงการ Yme จะเพิ่มกำลังผลิตให้กับ OKEA 7,500 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งในปีแรกของการผลิตจะมีกำลังการผลิตที่ 4,900 บาร์เรลต่อวัน ทำให้มีกำลังผลิตรวมเพิ่มเป็น 25,000 บาร์เรลต่อวัน เอื้อให้บางจากฯ จะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นด้วย