‘วัคซีน’ แก้ปัญหาโควิดแพร่ขยาย

‘วัคซีน’ แก้ปัญหาโควิดแพร่ขยาย

ปัจจุบันแม้จะมีวัคซีนอยู่บ้าง แต่ก็เหมือนไม่มีวัคซีน การแก้ปัญหา 4-5 เดือนข้างหน้าจึงควรต้องกลับมาใช้มาตรการ Testing, Tracing, Isolation and Treatment เป็นหลัก ในส่วนของภาคเศรษฐกิจต้องประเมินว่าจะช่วยผู้ประกอบการและลูกจ้างได้อย่างไร

ดูเหมือนประเทศไทยจะมีข้อสรุปว่า แนวทางหลักในการแก้ปัญหาการแพร่ขยายของโควิด-19 ในรอบใหม่นี้ คือ การเร่งฉีดวัคซีน โดยดูเหมือนว่า กทม.จะเชื่อว่าหากระดมฉีดวัคซีนให้เพียงพอแล้ว ก็จะสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ภายใน 2 สัปดาห์

แต่จากข้อมูลที่ผมรวบรวมมานั้น ผมได้ข้อสรุปไปคนละทาง กล่าวคือหากมองในแง่เข้าข้างตัวเองว่าการควบคุมการระบาดของโควิด-19 จะทำได้หากฉีดวัคซีนให้กับประชาชนโดสแรก (จาก 2 โดส) ประมาณ 50% หรือ 34 ล้านคน ก็แปลว่าประเทศไทยจะต้องมีวัคซีนเพื่อฉีดให้คนไทยประมาณ 34 ล้านโดส แต่จากข้อมูลของรัฐบาลที่แจ้งให้ทราบว่าปัจจุบันมีวัคซีนประมาณ 2 ล้านโดสและได้สั่งซื้อจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลักอีก 66 ล้านโดส แต่จะรับมอบ 6 ล้านโดสในเดือน มิ.ย.และ 10 ล้านโดสต่อเดือนอีก 6 เดือน 

ผมจึงเข้าใจว่าประเทศไทยจะมีวัคซีนครบถ้วนเพื่อฉีดให้กับประชากรครึ่งประเทศ (เฉพาะโดสแรกจาก 2 โดส) อย่างเร็วที่สุดคือเดือน ก.ย. หรืออีก 5 เดือนข้างหน้า จากวันนี้ถึงวันนั้นหากประเทศไทยยังพบผู้ป่วยรายใหม่อีกวันละ 2,000 ราย ก็จะเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และมาตรการเยียวยามูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาทก็คงจะไม่เพียงพอที่จะรองรับปัญหาทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการขาดความมั่นใจและมาตรการควบคุมและจำกัดการทำธุรกรรมต่างๆ ที่จะต้องคงอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลา 4-5 เดือนข้างหน้า

ดังนั้น ผมจึงมองต่างมุมว่า ณ วันนี้แม้จะมีวัคซีนอยู่บ้างแต่ก็เหมือนกับไม่มีวัคซีน การแก้ปัญหาใน 4-5 เดือนข้างหน้าจึงควรจะทำเสมือนกับว่าไม่มีวัคซีน คือต้องกลับมาใช้มาตรการ Testing, Tracing, Isolation and Treatment เป็นหลัก

และในส่วนของภาคเศรษฐกิจนั้นจะต้องประเมินว่าจะช่วยผู้ประกอบการและลูกจ้างให้สามารถอยู่รอดได้อย่างไรใน 4-5 เดือนข้างหน้า ที่โควิด-19 น่าจะยังส่งผลกระทบที่รุนแรงและต่อเนื่องต่อการประกอบธุรกิจและการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจ ซึ่งอาจรวมถึงการผลิตเพื่อการส่งออกด้วย เพราะแม้ว่าจะมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ แต่หากพนักงานติดเชื้อเป็นจำนวนมากก็อาจทำให้การผลิตต้องชะงักงันลงก็ได้ หรือต่างประเทศอาจไม่มั่นใจเมื่อเห็นการติดเชื้อภายในประเทศ ทำให้หันไปหาผู้ผลิตในประเทศอื่นๆ

แต่จริงๆ แล้วการฉีดวัคซีนครึ่งประเทศเพียง 1 โดสนั้นไม่น่าจะช่วยชะลอการระบาดของโควิด-19 ได้มากนัก โดยเฉพาะวัคซีนซิโนแวค ซึ่งข้อมูลจากประเทศบราซิลและชิลีนั้นให้การคุ้มกันการติดเชื้อเพียง 10% หลักจากการฉีดโดสแรก สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้นจะมีประสิทธิผลมากกว่า แต่ก็จะยังต่ำกว่าวัคซีนประเภท mRNA เช่น ของไฟเซอร์ โมเดอร์นา 

สำหรับข้อมูลประสิทธิผลจากการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์นั้น พอดีมีผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ออกมาใน New England Journal of Medicine เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2564 ซึ่งผมขอนำมาสรุปให้อ่านกัน ณ ที่นี้ ซึ่งแม้จะ “ไม่ใช่” วัคซีนเดียวกันกับที่ประเทศไทยจะได้ใช้ (คือของแอสตร้าฯ) แต่ก็น่าจะสามารถนำมาเปรียบเทียบได้ในระดับหนึ่งและน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับตัวของเราเอง เมื่อต้องได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ด้วย

งานวิจัยนี้มีความสำคัญและน่าสนใจ เพราะนำเอาข้อมูลจำนวนมหาศาลมาจากประเทศอิสราเอลที่ฉีดวัคซีนให้กับประชากรครบ 100% สำหรับโดสแรกแล้ว และอีก 55% ก็ได้ฉีดครบ 2 โดสแล้ว โดยอาศัยข้อมูลช่วง 20 ธ.ค.2563 ถึง 1 ก.พ.2564 โดยติดตามความเสี่ยงจากการติดโควิด-19 ของประชากร 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน 596,618 คน และกลุ่มที่ได้ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส จำนวนเท่ากันคือ 596,618 คน ผลในการป้องกันการติดโควิด-19 สรุปได้ดังตารางข้อมูล

จะเห็นได้ว่า การฉีดโดสแรกนั้นให้ภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อโควิด-19 (ซึ่งแปลว่าจะยังแพร่เชื้อต่อให้คนอื่นได้) ต่ำ กล่าวคือคุ้มกันได้เพียง 46% แต่จะคุ้มกันได้มากก็ต่อเมื่อฉีดครบ 2 โดสแล้ว (โดยต้องรอให้วัคซีนออกฤทธิ์เต็มที่ 7 วันหลังการฉีด) ซึ่งจะทำให้มีภูมิคุ้มกันถึง 92% แต่การที่แต่ละบุคคลจะรีบฉีดวัคซีนนั้นย่อมจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะแม้ว่าจะยังติดเชื้อและเป็นโควิด-19 ได้ แต่เมื่อได้ฉีดโดสแรกก็จะลดความเสี่ยงที่จะป่วยจนต้องเข้าไปรับการรักษาในโรงพยาบาลลงถึง 74% และลดความเสี่ยงที่จะป่วยหนักจากโควิด-19 ลงไปถึง 62% อีกด้วย

อย่างไรก็ดี ต้องขอย้ำอีกทีว่าการประเมินข้างต้นว่าการฉีดวัคซีนโดสแรกให้ประชาชนครึ่งประเทศจะช่วยยุติการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยนั้นค่อนข้างจะเป็นการมองโลกในแง่ดีและเข้าข้างตัวเองอย่างมาก เพราะล่าสุดประสบการณ์ของเกาะเซเชลส์ (Seychelles) สะท้อนให้เห็นว่าแม้ว่าประชากร 62% ของเกาะดังกล่าวจะได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว (ประชากรที่เหลือก็ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว 1 โดส) แต่โควิด-19 ก็ยังสามารถระบาดเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้ต้องมีมาตรการล็อกดาวน์เกาะอีกรอบ เหมือนกับที่ได้ทำไปเมื่อเกิดการระบาดในปีที่แล้ว

รายงานข่าวจาก Bloomberg แจ้งว่าเกาะเซเชลส์ที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักต้องล็อกดาวน์และปิดเกาะอีกครั้งหนึ่งเมื่อ 5 พ.ค. หลังจากพบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจาก 612 คน ในวันที่ 28 เม.ย.ไปเป็น 1,068 คนในวันที่ 3 พ.ค. หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 91 คนต่อวันในช่วง 5 วันดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก เพราะเกาะเซเชลส์มีประชากรทั้งสิ้นเพียง 98,000 คน

จากสัดส่วนของประชากร 62.2% ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วนั้น 59% เป็นวัคซีนเชื้อตายของซิโนฟาร์มจากประเทศจีน คล้ายกับซิโนแวคที่ประเทศไทยใช้อยู่ในขณะนี้ และที่เหลืออีก 41% เป็นวัคซีนชื่อ Covishield ซึ่งเป็นวัคซีนสูตรของแอสตร้าฯ ที่บริษัทของอินเดียผลิตโดยได้รับใบอนุญาตจากแอสตร้าเซนเนก้า