คว้าโอกาสจากปรากฏการณ์ Sell in May and Go Away!

คว้าโอกาสจากปรากฏการณ์ Sell in May and Go Away!

ส่องปรากฏการณ์ Sell in May หรือสถิติที่หุ้นมักโดนเทขายในเดือนพฤษภาคม และมักจะทำให้ผลตอบแทนในเดือนนี้น้อยกว่าเดือนอื่นๆ หรืออาจติดลบ แล้วในปี 2021 จะเกิดไหม? หรือเป็นอย่างไร?

หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า Sell in May and Go Away” ที่สมัยก่อนใช้กับเหล่าพ่อค้าที่มักไปพักผ่อนช่วงฤดูร้อนซึ่งเริ่มในเดือนพฤษภาคมและกลับมาค้าขายอีกครั้งในเดือนกันยายน แต่ในมิติของการลงทุนนั้น หมายถึงสถิติที่หุ้นมักโดนเทขายในเดือนพฤษภาคม ทำให้ผลตอบแทนเดือนนี้น้อยกว่าเดือนอื่นๆ หรืออาจติดลบ สาเหตุหลักน่าจะมาจากเป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียนประกาศผลดำเนินงานไตรมาสแรกและผู้บริหารออกมาให้แนวโน้มผลดำเนินงานตลอดทั้งปี รวมถึงเป็นฤดูกาลจ่ายเงินปันผล ซึ่งถ้าผลดำเนินงานดีตามคาด นักลงทุนบางกลุ่มจะ Sell on Fact แล้วหาจังหวะกลับเข้าลงทุนอีกครั้ง หรือถ้าหากผลดำเนินงานแย่กว่าคาด ก็ทำให้เกิดแรงเทขายได้เช่นกัน

จากสถิติย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2011-2020 พบว่าปรากฏการณ์ Sell in May” นั้น เห็นได้ชัดในตลาดเกิดใหม่รวมถึงตลาดหุ้นไทย โดยดัชนี MSCI Emerging Markets และ SET Index มักให้ผลตอบแทนติดลบในเดือนพฤษภาคม คือลดลงเฉลี่ยราว -3% และ -1% ตามลำดับ ในทางตรงข้าม ตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้วยังให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้ 

โดยตลาดหุ้นสหรัฐ ดัชนี S&P500 ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย +0.3% ส่วนยุโรป ดัชนี STOXX Europe 600 +0.5% นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงโอกาสที่แต่ละตลาดให้ผลตอบแทนติดลบ ยังพบว่าหุ้น Emerging Market นั้น ให้ผลตอบแทนติดลบในเดือนพฤษภาคมถึง 7 ปี ในช่วงเวลา 10 ปี ย้อนหลัง แต่ตลาดหุ้นสหรัฐ และยุโรปให้ผลตอบแทนติดลบเพียง 2 และ 3 ปี เท่านั้น

  • Sell in May 2021 จะเกิดไหม?

หากวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานปัจจุบัน สหรัฐนับเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากวิกฤติโรคโควิด-19 อย่างแข็งแกร่งและรวดเร็ว เพราะได้รับยากระตุ้นอย่างแรงถึงสองขนาน ทั้งจากวัคซีน ที่ตอนนี้ประชากรเกือบ 50% ได้รับแล้ว รวมถึงมีเม็ดเงินกระตุ้นจำนวนมหาศาลจากมาตรการเยียวยามูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ 

นอกจากนี้ นายโจ ไบเดน ยังได้เสนอแผนลงทุนระยะยาวเพิ่มอีก 2 แผน ได้แก่ แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2.25 ล้านล้านดอลลาร์ และ American Families Plan ที่เน้นการศึกษาและการดูแลเด็กอีก 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ด้วยระดับ Valuation ที่อยู่ในเกณฑ์สูง หลังจากที่ตลาดหุ้นสหรัฐเพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 90% (ดัชนี S&P500) จากจุดต่ำสุดในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว และปัจจุบันซื้อขายที่ P/E 22.1 เท่า ทำให้ตลาดหุ้น มีโอกาสปรับขึ้นจำกัดในระยะสั้น และต้องรอการขยายตัวอย่างโดดเด่นของผลดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนมาเป็นแรงผลักต่อไปในระยะยาว

เปรียบเทียบกับยุโรปที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัว หลายประเทศมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนค่อนข้างมาก โดยรวมประชากรเกือบ 25% ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว และประชากรในอังกฤษเกินครึ่งได้รับวัคซีนแล้ว นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐนั้น ตลาดหุ้นยุโรป มี Valuation ถูกกว่า โดยปัจจุบันซื้อขายที่ P/E 16.9 เท่า ใกล้เคียงค่าเฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลัง และตลาดหุ้นยุโรปปรับเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดราว 60% (ดัชนี STOXX Europe 600) ซึ่งถือว่าน้อยกว่าตลาดหุ้นสหรัฐอย่างมีนัยสำคัญ (ข้อมูล ณ วันที่ 4 พ.ค.)

ขณะที่ภาพรวมของกลุ่มประเทศเกิดใหม่เปราะบางกว่ามาก การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง มากไปกว่านั้น บางประเทศ เช่น อินเดีย กำลังเผชิญการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงจนต้องกลับมาจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและฉุดให้การฟื้นตัวช้าลง แต่ก็มีบางประเทศที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง เช่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่เศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ทำให้ได้รับอานิสงส์จากการค้าโลกที่ฟื้นตัว สำหรับพี่ใหญ่ของ Emerging Markets อย่างจีนเองก็เป็นประเทศแรกที่ฟื้นตัวและเศรษฐกิจยังเติบโตต่อได้อย่างดี แม้มีแนวโน้มชะลอลงบ้าง เนื่องจากทางการยึดหลักสมดุลที่คำนึงถึงเสถียรภาพด้วย

จากสถิติและปัจจัยพื้นฐานข้างต้น จะเห็นว่าในระยะสั้นตลาดหุ้นยุโรปมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าภูมิภาคอื่นๆ หนุนจากทั้งเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและ Valuation ที่ยังไม่สูง แต่ทั้งนี้การลงทุนแบบทุ่มสุดตัวมีความเสี่ยงสูงเกินไป ขณะที่ความพยายามในการจับจังหวะเข้าซื้อ-ขายให้แม่นยำทำได้ยาก โดยเฉพาะในสภาวะที่มีปัจจัยต่างๆ มากมายที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเช่นปัจจุบัน ดังนั้น การกระจายลงทุนให้หลากหลาย ผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายเชิงรุก และมีผู้ดูแลติดตามพอร์ตการลงทุนรวมทั้งให้ข้อมูลอย่างสม่ำเสมอเพื่อการตัดสินใจที่รอบคอบ ย่อมเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับรากฐานการสร้างขุมทรัพย์ที่ยั่งยืนต่อไป