“เอ็นไอเอ” ชู “ดีพเทค3กลุ่ม” 10บริษัทหนุนสตาร์ทอัพ“อีอีซี”

“เอ็นไอเอ” ชู “ดีพเทค3กลุ่ม”  10บริษัทหนุนสตาร์ทอัพ“อีอีซี”

“โกบอล สตาร์ทอัพ” เป็นการผลักดันสตาร์อัพในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพที่เชื่อมโยงกับต่างชาติ ในกลุ่ม Deep Tech รวม 3 ประเภท คือ เอไอ หุ่นยนต์ และไอโอที ซึ่งจะช่วยสนับสุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

มณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ) เปิดเผยว่า เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นพื้นที่พิเศษในการสร้างเศรษฐกิจใหม่ของประเทศที่เน้นนวัตกรรมชั้นสูง เนื่องจากเป็นแหล่งที่ตั้งของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) หรือวังจันทร์วัลเลย์ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) 

รวมทั้งมีโครงข่ายเทคโนโลยี 5จี มีศูนย์วิจัยชั้นสูง และมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ ทำให้มีศักยภาพในการดึงดูด และสร้างสตาร์ทอัพของไทยและต่างประเทศ ที่จะใช้ อีอีซี เป็นพื้นที่ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น และต่อยอดเป็นธุรกิจได้จริง

ดังนั้น เอ็นไอเอ จึงได้มีโครงการ โกบอล สตาร์ทอัพ” อีอีซี เพื่อสร้างศูนย์กลางสตาร์ทอัพที่มีอีโคซิสเต็มที่สมบูรณ์ ทั้งด้านบริการนวัตกรรม ศูนย์วิจัยทดสอบทดลอง และมีกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยในการทดลองธุรกิจใหม่ ๆ รวมทั้งยังมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาสตาร์ทอัพให้เกิดนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะยกระดับภาคการผลิตและบริการของไทยไปสู่เทคโนโลยีชั้นสูง 

161979479935

ทั้งนี้ เอ็นไอเอ จะเข้าร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสำนักงานคณกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อพิจารณาการให้การส่งเสริม และบริการออกสตาร์ทอัพวีซ่า จัดทำกลไกที่เอื้อต่อการดำเนินกิจการของสตาร์ทอัพ

“โครงการโกลเบิลสตาร์ทอัพ อีอีซี จะเป็นการใช้ศักยภาพเชิงพื้นที่ของ อีอีซี ในการดึงดูดการลงทุน และการสร้างสตาร์ทอัพใหม่ ๆ ของไทยและต่างประเทศ เพราะ อีอีซี มีความพร้อมในทุก ด้าน ซึ่งหากมีสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ก็จะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับภาคธุรกิจใน อีอีซี ให้พัฒนาได้อย่างรวดเร็ว”

ขั้นแรก ได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพในอีอีซี นำร่องกิจกรรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก หรือ NIA Deep Tech Incubation Program @EEC เพื่อสร้างโอกาสให้สตาร์ทอัพกลุ่มเทคโนโลยีเชิงลึก หรือ Deep Tech ได้พัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการออกสู่ตลาด 

พร้อมทั้งการขยายธุรกิจในอีอีซี โดยจะเน้น สตาร์ทอัพ ดีพเทค ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) 2. หุ่นยนต์ และ3. อิมเมอร์ซีฟ ไอโอที ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้ จะช่วยยกระดับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ อีอีซี ได้ในทุก ๆ ด้าน

โดยมีพันธมิตรหน่วยงานรัฐและเอกชนร่วมดำเนินงาน 10 ราย ได้แก่ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) , สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) , อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก , มหาวิทยาลัยบูรพา , สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน , สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย , บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย)

สำหรับ แนวทางการดำเนินงาน จะเปิดรับสมัครบริษัทพันธมิตร ที่จะเป็น โคครีเอชั่น ร่วมพัฒนาสตาร์ทอัพ ดีพเทค เพื่อตอบโจทความต้องการของธุรกิจ ซึ่งขณะนี้มีเข้ามาแล้ว 3 ราย ได้แก่ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) อยู่ในธุรกิจเกษตร-อาหารและค้าปลีก บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจพลังงาน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ธุรกิจดิจิทัล 

161979484626

รวมทั้งมีบริษัทที่อยู่ระหว่างการติดต่อประสานงานอีกกว่า 10 ราย เช่น บริษัท บางจาก จำกัด (มหาชน) ในกลุ่มธุรกิจเอทานอลใน จ.ฉะเชิงเทรา , บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด(มหาชน) หรือ อีเอ ธุรกิจพลังงาน , กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ , กลุ่มบริษัทไทยอีสเทิร์น ธุรกิจแปรรูปเกษตรและปาล์ม เป็นต้น

“บริษัทชั้นนำเหล่านี้มีโรงงานอยู่ในพื้นที่ อีอีซี ต้องการร่วมดำเนินงานกับสตาร์ทอัพ ดีพเทค ในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจ ซึ่งจะร่วมดำเนินงานในลักษณะ โค ครีเอชั่น มีทีมงานเฉพาะเจาะจงในการร่วมดำเนินงานกับสตาร์ทอัพ โดย เอ็นไอเอ จะเป็นสะพานในการประสานความร่วมมือระหว่างบริษัทพันธมิตรกับสตาร์ทอัพ จัดหาที่ปรึกษาทั้งด้านเทคโนโลยี กฎหมาย และอื่น ๆ เพื่อให้เกิดธุรกิจและนวัตกรรมใหม่ๆ”

ในส่วนของสตาร์ทอัพ ดีพเทค ที่เข้าร่วมโครงการนี้ เอ็นไอเอ จะเปิดรับสมัคร สตาร์ทอัพ ดีพเทค 3 กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะปิดรับสมัครในวันที่ 12 พ.ค.นี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าสมัครกว่า 100 ราย และจะคัดเลือกให้เหลือ 10 ราย เพื่อจับคู่ร่วมธุรกิจกับบริษัทพันธมิตรใช้เวลา 3 เดือน ในการพัฒนาเทคโนโลยี และจะประกาศผลการดำเนินงานในเดือนก.ย.นี้ สตาร์ทอัพ ดีพเทค ที่ได้จับคู่ธุรกิจจะได้รับประโยชน์จากเงินทุนในการพัฒนาเทคโนโลยี ได้รับประสบการณ์ในพื้นที่จริง นำมาประยุกต์ให้เข้ากับนวัตกรรมของตัวเอง การปรับปรุงการดำเนินธุรกิจ รวมถึงโอกาสในการนำเสนอผลงานกับนักลงทุนและบริษัทชั้นนำในพื้นที่  อีอีซี โดยตั้งเป้าที่จะพัฒนาศักยภาพสตาร์ทอัพให้มีความพร้อมและสามารถขยายธุรกิจในต่างประเทศต่อไป

“สตาร์ทอัพ ดีพเทค ที่เข้าร่วม จะต้องมีนวัตกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงที่มีงานวิจัยรองรับ มีผลการทดลองชัดเจน ที่สามารถสร้างสรรค์ไปสู่ธุรกิจและตรงต่อความต้องการของตลาด ดังนั้นจึงกำหนดไว้เพียง 10 ราย เพราะสตาร์ทอัพ ดีพเทคเกิดขึ้นยากมาก ซึ่งโครงการนี้ เป็นหนึ่งในการสร้างสตาร์ทอัพ ดีพเทคให้ได้ตามเป้าหมายของ เอ็นไอเอ 100 ราย ในปี 2564”