ฟอร์ม ทุ่ม300ล้าน ลุยธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยาน

ฟอร์ม ทุ่ม300ล้าน ลุยธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยาน

“ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น” มั่นใจรายได้ปีนี้ นิวไฮ เหตุรับรู้รายได้ธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรซ์ โซลูชั่นส์ จากงานในมือ-เตรียมประมูลเพิ่มปีนี้อีก 1.2 หมื่นล้าน พร้อมเดินหน้าก่อสร้างโรงซ่อมเครื่องบิน คาดเริ่มให้บริการได้ภายในปี 65

“ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น” มั่นใจรายได้ปีนี้ นิวไฮ เหตุรับรู้รายได้ธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรซ์ โซลูชั่นส์ จากงานในมือ-เตรียมประมูลเพิ่มปีนี้อีก 1.2 หมื่นล้าน พร้อมเดินหน้าก่อสร้างโรงซ่อมเครื่องบิน คาดเริ่มให้บริการได้ภายในปี 65

นายชัชวิน พิพัฒน์โชติธรรม ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ FORTH เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทพร้อมเดินหน้าลงทุนก่อสร้างโรงซ่อมเครื่องบิน อยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท FORTH MRO ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน ระหว่างบริษัท และบมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ได้สิทธิสัมปทานเป็นระยะเวลา 15 ปี ซึ่งใช้งบลงทุนวางไว้ราว 300 ล้านบาท

บริษัทคาดว่าจะใช้เวลาสร้างโรงซ่อมเครื่องบินราว 1 ปี น่าจะเปิดบริการได้ภายในปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 ไปแล้ว จึงเชื่อมั่นว่าตอนนั้นสถานการณ์การบินน่าจะกลับมาขยายตัวได้ดี ดังนั้นธุรกิจใหม่นี้จะสร้างรายได้ให้บริษัทอย่างสม่ำเสมอในอนาคตตามเป้าหมาย

ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าหมายจะมีเครื่องบินจำนวน 1 ใน 4 ของเครื่องบินขนาดกลางที่จดทะเบียนในไทยที่มีจำนวน 600 ลำ เข้ามาใช้บริการกับ FORTH MRO จากปัจจุบันเครื่องบินส่วนใหญ่ต้องไปซ่อมในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย จากข้อได้เปรียบจากที่ตั้งของโรงซ่อมเครื่องบิน ที่ตั้งในบริเวณของสนามบินดอนเมือง และอัตราค่าบริการเริ่มต้นที่ 40 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง จากปัจจุบันที่ในตลาดคิดค่าบริการเฉลี่ยที่ 50 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง

นายชัชวิน กล่าวว่า บริษัทคาดรายได้และกำไรปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) และเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีรายได้ 7,822 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิ 438 ล้านบาท เนื่องจาก บริษัทจะรับรู้รายได้จากธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรซ์ โซลูชั่นส์ (Enterprise Solution) ซึ่งปัจจุบันที่มีงานในมือ (Backlog) ราว 2,779 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้รายได้ในปีนี้ 80-90% และยังมีแผนเข้าประมูลงานใหม่ในปีนี้อีกราว 12,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงานที่มีโอกาสได้ 70-80% เพราะเป็นงานต่อเนื่องจากเฟสแรกที่ได้อยู่แล้ว ประกอบกับบริษัทพยายามปรับตัวของกลุ่มธุรกิจให้มีความยั่งยืนและความมั่นคงมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส1ปี 2564 คาดว่าจะเติบโตดีกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะรับรู้รายได้งานธุรกิจเอ็นเตอรไพรซ์ โซลูชั่น ที่น่าจะเข้ามาได้มากขึ้น และไม่มีผลกระทบจากโควิด-19 เท่าปีก่อน ส่วนธุรกิจตู้เติมเงินบุญเติม บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART

คาดใช้เงินลงทุนปีนี้ 400 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนตู้เวนดิ้งหรือตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติ ราว 3,000-4,000 ตู้ โดยช่วงไตรมาส 2 นี้จะเห็นตู้ออกมาเพิ่มมากขึ้น ส่วนธุรกิจอีเอ็มเอส เป็นการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คาดว่ามีการขยายฐานลูกค้าต่างประเทศมากขึ้น