บ้านฉาง“สมาร์ทซิตี้” หนุนลงทุนอุตฯไฮเทค5จี

บ้านฉาง“สมาร์ทซิตี้” หนุนลงทุนอุตฯไฮเทค5จี

“แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น” หนุน สมาร์ทซิตี้บ้านฉาง เป็นต้นแบบสมาร์ทซิตี 5จี ของไทยช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานชั้นสูง ดึงดูดการลงทุนอุตฯไฮเทค พร้อมใช้เทคโนโลยี เอไอ ยกระดับการตรวจสอบมลพิษแบบเรียลไทม์ และระบลรักษาความปลอดภัย เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน

อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ถูกกำหนดเป็นเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) นำร่องในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชุมชน องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และภาคธุรกิจในการผลักดันสมาร์ทซิตี้

ประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน) ผู้วางระบบ 5จี ในเมืองบ้านฉาง เปิดเผยว่า หลังจากภาครัฐนำร่องสมาร์ทซิตี้ระบบ 5จี แห่งแรกในไทยและอาเซียน ที่ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง แล้วหลังจากนี้จะเกิดสมาร์ทซิตี้ 5จี ในพื้นที่อื่นเร็วขึ้น 

ทั้งนี้ สมาร์ทซิตี้บ้านฉาง จะเป็นต้นแบบให้ทั้ง 68 เทศบาลในอีอีซีเข้ามาศึกษาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเป็นสมาร์ซิตี้ ซึ่งจะทำให้การเติบโตของสมาร์ทซิตี้ 5จี เกิดขึ้นได้เร็ว ถือว่าเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ประชาชนได้ประโยชน์แท้จริง

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลได้ผลักดันให้อีอีซีเป็นพื้นที่แรกที่จะวางเครือข่าย 5จี ให้ครอบคลุม 3 จังหวัด (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) เป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะระบบ 5จี ของสมาร์ทซิตี้ เหมาะกับพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมอัจฉริยะที่เป็นอุตสาหกรรมชั้นสูง โรงงานอุตสาหกรรมใหม่และเก่าล้วนต้องการเทคโนโลยี 5จี เพื่อนำเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้ในสายการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความแม่นยำ และลดต้นทุนการดำเนินงานระยะยาว 

รวมทั้งต่อยอดอุตสาหกรรมไฮเทคและสตาร์ทอัพ ที่ต้องการโครงสร้างพื้นฐาน 5จี ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ทำงานบนโครงสร้างพื้นฐาน 4จี ได้ยาก จึงทำให้อีอีซีโดดเด่นในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมไทยโนโลยีชั้นสูง

161618141364

“สมาร์ทซิตี้บ้านฉาง เป็นสมาร์ทซิตี้แห่งแรกของอาเซียนที่ใช้ระบบ 5จี เป็นรูปธรรม ต่างจากสมาร์ทซิตี้แห่งอื่นในอาเซียนที่ใช้ระบบ 4จี ซึ่งการที่ไทยนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงเป็นประเทศแรก และจะเร่งให้ครอบคลุมอีอีซีจะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติในการเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เพราะสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนให้ความสำคัญ คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งหากอีอีซี มีระบบ 5จี ครอบคลุมจะทำให้ต่างชาติตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยง่ายขึ้น”

รวมทั้งสมาร์ทซิตี้ยังติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศและน้ำเสีย ที่รายงานผลแบบเรียลไทม์ได้มีประสิทธิภาพ และเตือนภัยได้ทันทีหากเกิดสารพิษรั่วไหล และเก็บข้อมูลคุณภาพสิ่งแวดล้อมทุกด้านอย่างละเอียด สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อวางแผนการจัดการ และป้องกันภัยที่อาจจะเกิดขึ้น จึงทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความมั่นใจ และอยู่ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมได้ยั่งยืน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นสำหรับเมืองอุตสาหกรรมในอนาคตที่ตอบสนองต่อความต้องการทั้งนักลงทุนต่างชาติและคนในพื้นที่

สำหรับเมืองสมาร์ทซิตี้บ้านฉาง ประกอบด้วย 4 เทศบาล ได้นำร่องติดตั้งเสาสัญญาณ 5จี ติดตั้งกล้องซีซีทีวีคุณภาพสูง ระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศแล้ว 5 ต้น มีต้นทุนต้นละประมาณ 8 แสนบาท และจะทยอยติดตั้งให้ครอบคลุม 20 ตารางกิโลเมตร ติดตั้งเสา 160 ต้น ภายใน 3 เดือน ใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท สร้างประโยชน์ให้ประชาชนในพื้นที่กว่า 1 หมื่นคน

ส่วนจุดเด่นสมาร์ทซิตี้ บ้านฉาง จะช่วยยกระดับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชนในพื้นที่ มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ อุตสาหกรรมการให้บริการ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างระบบเก็บรวบรวมข้อมูล ระบบประมวลผลและบริหารจัดการข้อมูลเมืองอัจฉริยะในเขตอำเภอบ้านฉาง ระบบมาตรฐานรับรองความปลอดภัยของแหล่งท่องเที่ยวด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เทคโนโลยีการตรวจจับใบหน้าและทะเบียนรถด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์

โดยผลที่จะได้รับ ได้แก่ การเป็นต้นแบบของการนำเทคโนโลยี 5จี มาสร้างสมาร์ทซิตี้ สร้างระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอัจฉริยะ ต้นแบบของการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐหรือเอกชน และเกิดระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกลุ่มข้อมูลแบบเรียลไทม์ รวมทั้งเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลขององค์กรท้องถิ่น ด้วยระบบการเชื่อมต่อความเร็วสูง 5จี และเสาไฟอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยี IoT Sensors เพิ่มศักยภาพการให้บริการประชาชนของรัฐและพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัย (AI CCTV) เทคโนโลยีด้านสาธารณสุข และเทคโนโลยีการวิเคราะห์คุณภาพอากาศ

ณัฐวุฒิ ศาสตราวาหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย 2 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที กล่าวว่า บริษัทได้วางท่อ เสา สายส่งสัญญาณ ระบบไฟเบอร์ออพติกสำหรับโครงข่าย 5จี ในสมาร์ทซิตี้บ้านฉาง รองรับการให้บริการผ่านคลื่นสัญญาณย่าน High Band ความถี่ 26 GHz ที่ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ล่าสุดจาก กสทช. ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานบริการโทรคมนาคมที่ภาคเอกชนใช้ร่วมกันได้ เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนระหว่างภาครัฐกับเอกชน โดยใช้ทรัพย์สินรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่เป็นการผูกขาดทางธุรกิจ

ทั้งนี้ เทศบาลตำบลบ้านฉาง เป็นการนำร่องเมืองอัจฉริยะแห่งแรกของไทย ซึ่งใช้ประโยชน์จากการพัฒนา 5จี ให้ครอบคลุมพื้นที่ในการให้บริการมากที่สุด เพื่อให้ประชาชนใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงระดับความเร็วและแรงกว่าระบบ 4จี เดิมมากกว่า 100 เท่า ทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนและประชาชนเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกันได้สูงสุด โดยนำเทคโนโลยี 5G Core ของ Mavenir Systems (Thailand) ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์เครือข่ายคลาวด์เนทีฟแบบครบวงจรรายเดียวในอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ เอ็นที ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน คือ บริษัท 5จี แคททะลิซท์ เทคโนโลยีส์ จำกัด บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จํากัด ร่วมกันจัดหาเทคโนโลยีจากทั่วโลกและหลากหลายเพื่อออกแบบ 5จี โซลูชั่นส์ที่ตอบโจทย์ระบบการบริหารจัดการเมืองใช้งานของเมือง เช่น การให้ข้อมูลกิจกรรมในเมือง การจัดระเบียบการขนส่งและการจราจร ข้อมูลรถโดยสารสาธารณะ พื้นที่สาธารณะ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและระบบไฟทางอัตโนมัติ ระบบกำจัดน้ำเสีย