วงการข้าว แนะกำหนดนโยบายแห่งชาติทางรอดข้าวและชาวนา

วงการข้าว แนะกำหนดนโยบายแห่งชาติทางรอดข้าวและชาวนา

ผู้ส่งออกข้าวโอดต้นทุนสูง คาดปีนี้ส่งออกไม่ถึง 6 ล้านตัน จี้รัฐกำหนดนโยบายแห่งชาติ ใช้เงินอุดหนุน 4 หมื่นล้านต่อปี ปรับทั้งระบบ ด้านโรงสีกำลังการผลิตสูงกว่าข้าว 4 เท่าตัวเสี่ยงขาดทุน ขณะชาวนา ให้รัฐหนุนปัจจัยการผลิตจัดโซนนิ่งดันขึ้น Niche Market

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวในการเสวนา เรื่อง ข้าวและชาวนาไทยจะปรับตัวอย่างไรให้เข้มแข็ง ว่า จากประสบการณ์ที่ทำเรื่องข้าวตั้งแต่ปี 2525 ได้เห็น วงการข้าวของไทยรุ่งเรืองที่สุดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นช่วงพีคของการส่งออก โดยไทยส่งออกได้มากถึงปีละ 10 ล้านตัน ในที่นี้ กรณีไทยส่งออกได้ 11 ล้านตัน เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นเพราะมีข้าวในคลังจำนวนมาก แต่หากคิดเฉพาะข้าวใหม่ สามารถส่งออกได้ มีเพียง 7-8 ล้านตัน เท่านั้น ซึ่งการส่งออกข้าวของไทยถดถอยอย่างต่อเนื่อง โดยมี อินเดียผงาดขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกตามด้วย เวียดนามที่แซงไทยขึ้น และคาดว่าในอนาคตไทยจะตกอันดับเป็นที่ 5 หากไม่มีปรับปรุงหรือพัฒนาทั้งระบบ

 

ทั้งนี้ในช่วง 20 ปีที่ไทยเป็นอันดับ1 เรื่องข้าว เนื่องจากไทยไม่มีคู่แข่ง เวียดนาม เพิ่งเสร็จจากสงคราม อินเดีย มีแค่พันธุ์บาสมาติ ต่อมาได้ปรับปรุงพันธุ์ที่หลากหลาย เช่นเดียวกับเวียดนามที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาสายพันธุ์ที่ตลาดต้องการ คือข้าวพื้นนุ่ม ขณะที่ไทยยังภูมิใจกับสายพันธุ์เดิมๆ ข้าวที่ผลิตได้ส่วนใหญ่เป็นข้าวแข็ง ซึ่งส่งออกได้เพียงตลาดข้าวนึ่ง แอฟริกาเท่านั้น อีกทั้งยังมีราคาสูงกว่าคู่แข่ง ด้วยต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า การแข่งขันรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกข้าวของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ปีที่ผ่านมาส่งออกได้ 5.72 ล้านตัน ตั้งเป้าส่งออกปีนี้ได้ 6 ล้านตัน คาดว่าเป็นไปได้ยาก เพราะเดือนม.ค. ที่ผ่านมา ส่งได้เพียง 4 แสนตันเท่านั้น

 

“ พันธุ์ข้าวของไทยไม่เป็นที่นิยมแล้ว ต้นทุนการผลิตเราสูงมากถึง 1 หมื่นบาทต่อไร่เวียดนาม 7,000 บาทต่อไร่ เมียนมา 6,000 บาทต่อไร่ แม้ไทยจะมีข้าวหอมมะลิ ราคา 1,000 ต่อตัน แต่การส่งออกทำได้เพียง 3 ล้านตันต่อปี ลดลงถึง 50 % ในขณะที่เวียดนามมี ST 24 คุณภาพใช้เคียง ราคา700 ดอลลาร์ต่อตัน ตอนนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขเรื่องสารตกค้างในดินอันเนื่องมาจากสงครามคาดว่าจะแล้วเสร็จ ใน 3 ปีนี้ จะสามารถเข้าขายในตลาดสหภาพยุโรป หรืออียูได้ ซึ่งได้เปรียบกรณีภาษี0 % จากไทยที่ต้องจ่าย 15 %เพราะไม่มีเอฟทีเอ”

  161484143665

สิ่งที่ไทยต้องเร่งดำเนินการ คือพัฒนาสายพันธุ์ที่ตลาดต้องการ ลดปัจจัยการผลิตเพื่อลดต้นทุน นโยบายรัฐสนับสนุนทั้งระบบ เกษตรกร โรงสี ผู้ส่งออก จากปัจจุบันที่เน้นเฉพาะโรงสี เพื่อให้ราคาดี รายได้เกษตรกรดี แต่โรงสีมีปัญหาคือกำลังการผลิตมากถึง 80 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี ผลผลิตข้าวมี เพียง30 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี ทำให้เกิดการแย่งซื้อ การส่งออก 200 ราย มีต้นทุนสู ด้านบรรจุภัณฑ์ ค่าแรงสูง ส่งออกทางถนน ที่แพงกว่าเวียดนามที่ส่งออกทางเรือ

 

“ การค้าเสรีที่มีอยู่ หากไม่มีข้อจำกัด จะทำให้ตลาดเสียหายได้ โรงสี ผู้ส่งออกต้องมีพอประมาณ การแข่งขันต้องอยู่ในกรอบที่ยุติธรรม ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ผมมี 5 ปีอาจต้องหยุดธุรกิจข้าว เพราะต้นทุนสูง กำไรน้อย อนาคตไทยอาจต้องปลูกเองกินเอง จุดสำคัญเพื่อให้ข้าวไทยรอดคือทุกฝ่ายต้องปรับตัว กำหนดเป็นนโยบายแห่งชาติ กระทรวงเกษตรฯ พาณิชย์และคมนาคม ต้องเข้ามาช่วยกันแก้ไขเชิงนโยบายระยะยาว งบประมาณมีอยู่แล้ว ที่อุดหนุนชาวนากันอยู่ปีละ 4 หมื่นล้าน มากพอที่จะนำมาใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ”

นายอัษฎางค์ สีหราช ประธานคณะกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ กล่าวว่า พันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกต้องมีความเหมาะสมกับพื้นที่ แต่ละแห่ง ดังนั้นเกษตรกรมีความพร้อมมากที่จะผลิตข้าวตามที่ตลาดต้องการ แต่ที่ผ่านมา เกษตรกร โรงสี ผู้ส่งออก ไม่เคยมานั่งคุยกัน ณ วันนี้ เมื่อผู้ส่งออกบอกว่าต้องการข้าวนิ่ม ก็มี กข 79, กข 87 ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง อายุปลูกสั้น ตอบโจทย์ทั้งฝั่งเกษตรกร และผู้ส่งออก แต่เกษตรกรต้องคุมต้นทุนให้ได้ 3,000 บาทต่อไร่ ด้วยการรวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ได้ผลผลิต ไร่ละ 1 ตัน ขายได้ในราคา กก.ละ 6-7 บาท มั่นใจว่าเกษตรกรอยู่ได้

 

 “แต่ทั้งนี้โรงสีและท่าข้าว อย่านำเข้าไปปนกัน อย่าโยนบาปให้ชาวนา เพราะชาวนาไม่สามารถปลูกข้าวปนกันได้แต่โรงสีเป็นฝ่ายนำข้าวไปกองรวมกันบรรทุกรถคันเดียวกัน ถ้าซื้อข้าวตามสายพันธุ์ ทำให้ตรงกัน ก็จะเป็นผลดีกับคุณภาพข้าวไทย”

 

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ตอนนี้การทำนาเป็นไปแบบลุ่มๆดอนๆ ตามสภาพน้ำที่มีอยู่ ไม่รู้ทิศทางว่าการส่งออก ต้องการข้าวแบบไหน ใช้บริโภคในประเทศและส่งออกเท่าไร ดังนั้นถ้ามีข้อมูลชัดกว่านี้ ชาวนาก็พร้อมจะผลิตให้ตรงกับความต้องการ เมื่อผู้ส่งออกบอกว่าทำไปก็ขาดทุน ทำให้ชาวนารู้สึกไม่ดี เพราะชาวนาเองก็มีกำไรสุทธิน้อยมาก หักลบกลบหนี้แล้ว ไม่สามารถคิดค่าแรงตัวเองได้

 

ต้องตำนิรัฐบาล ที่ ไม่ส่งเสริมปัจจัยการผลิต ปุ๋ยแพง สารเคมี ค่าเช่ารถ เช่านา แพงหมด ผลผลิตข้าวได้เพียง 80 ถังต่อไร่ ในปีนี้ดีที่โรงสีซื้อแพงและรัฐมีประกันราย แต่สิ่งที่ชาวนาต้องการคือข้อมูลจากผู้ส่งออก และเมล็ดพันธุ์ที่ดี กรมการข้าวรับรอง เพื่อที่จะสามารถขายข้าวได้

 

“นโยบายรัฐต้องยืนยาว ไม่ใช่ เปลี่ยนไป ใช้เงินทุ่ม ซึ่งทำให้ชาวนามีคุณภาพต่ำลง โดย ปีนี้ผลผลิตข้าวอาจทำได้ 25 ล้านตัน เพราะน้ำไม่ ทางชาวนาเสนอทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับหมด เพื่อหาแหล่งน้ำ แต่ไม่มีในทางปฏิบัติ ซึ่งภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับเกษตรกรแล้วผมจะผลิตข้าวให้โรงสี และส่งออกได้ อย่างมีคุณภาพ “

 

นายรังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า โรงสีจะถูกด่าเมื่อราคาข้าวตกต่ำ เมื่อข้าวแพง เกษตรกรจะชมรัฐบาลว่าเก่ง แต่ไม่ชมผู้ส่งออกที่ขายข้าวได้เยอะ สถานการณ์ข้าวของไทยในปัจจุบัน โรงสีเหมือนซื้ออนาคต เพราะกำลังการผลิต 70-75 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี มากกว่าผลผลิตข้าว ถึง 4 เท่าตัว ทำให้ต้องซื้อข้าวสดไว้ก่อน แล้วรอจำหน่าย แต่ราคาข้าวไม่ได้ปรับสูงขึ้นตามที่คาด และยังมีข้าวฤดูกาลใหม่ จ่อตลาดอยู่ ทำให้ต้องขายยอมขาดทุนบ้างก็ต้องยอม ซึ่งเป็นกลไกการตลาด

 

กรณีการกองรวมกัน เพื่อให้สะดวกต่อการคัด แยก อบ ด้วยเครื่องจักร ส่วนหนึ่งเพราะข้าวที่รับซื้อมาไม่สามารถแยกสายพันธุ์ได้ทางกายภาพ การเก็บข้าวจึงต้องคัดแยกตามขนาด และราคา ซึ่งต้องฝากไปยังกรมการข้าวให้พิจารณาการพัฒนาพันธุ์ข้าวด้วย

 

นายรณวริทธ์ ปริยฉัตรตระกูล คณะกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ  กล่าวว่า พื้นที่ทำนาของไทยมีประมาณ 61 ล้านไร่ เกษตรกร 24 ล้านคน แต่กรมข้าวมีเจ้าหน้าที่ 958 คน แบกรับภารกิจทั้งหมด ดังนั้นควรรวมเรื่องที่กระจายอยู่มารวมไว้ที่กรมการข้าวเพียงแห่งเดียว โดยต้องมีเจ้าหน้า 4-5 พันคนจึงจะสอดคล้องกับภารกิจ

 

 กรมการข้าวที่ตั้งมากว่า 10 ปี การเติบโต ปริมาณงานน่าจะตอบโจทย์ได้มากกว่านี้ ในขณะที่เกษตรกรที่อ้างว่า ทำนาแล้วขาดทุน ได้กำไรน้อย ไม่ควรเอาความจนมาเป็นข้อต่อรองเพราะรัฐบาลได้อุดหนุนอย่างเต็มที่แล้ว ประกันราคา เราชนะก็ได้ ศักดิ์ศรีของชาวนาควรทำคุณภาพข้าวออกมาดีจึงจะอยู่รอด อย่ามั่วรอขอ

 

ดังนั้นเพื่อให้คุณภาพข้าวดีขึ้น ควรทำไรซ์ โซนนิ่ง ข้าวหอมมะลิให้ปลูกได้ 3 จังหวัดภาคเหนือ และ อีสาน เท่านั้น การปลูกข้าวหอมมะลินอกเขตจะไม่ได้รับการรับรอง เพื่อไม่ให้เป็นคู่แข่ง ผลักดันให้เป็นสินค้า Niche Market ภาคกลางให้ปลูกข้าวพื้นนุ่ม อีสาน เหนือปลูกข้าวเหนียว กำหนดให้เป็น กข 6ที่ตลาดนิยม