'TQR' พันธมิตร 'TQM' ผลักดันธุรกิจโต

'TQR' พันธมิตร 'TQM' ผลักดันธุรกิจโต

เร่งเครื่องธุรกิจ !! แสวงหาโอกาสเติบโตบนความเสี่ยง 'จุดขาย' น้องใหม่ไอพีโอ 'ที คิว อาร์' เข้าซื้อขาย 17 ก.พ.นี้ ราคา 5.10 บาท 'ชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์' ซีอีโอ ยื่นยันกำไรขยายตัวทุกปี แถมเป็นธุรกิจกำลังเป็นขาขึ้น...

คงปฏิเสธไม่ได้ภาวะทั่วโลกเกิดความไม่แน่นอน !! บ่งชี้ผ่านการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ทำให้ประชาชนเริ่มสนใจกระจายความเสี่ยงให้ตนเองและครอบครัว หนึ่งใน 'ดาวเด่น' ยกให้อุตสาหกรรมประกันภัยทั้งในและต่างประเทศมีอัตราการเติบโต 'ก้าวกระโดด' สะท้อนผ่านปี 2563 'ยอดขาย' ประกันโควิด-19 สูงถึง 4,000 ล้านบาท ในช่วง 2 เดือน คิดเป็น 7 ล้านกรมธรรม์ !! 

ปัจจัยบวกดังกล่าว...ส่งผลดีต่อหุ้นไอพีโอน้องใหม่ บมจ. ที คิว อาร์ หรือ TQR ประกอบธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ (Reinsurance Broker) โดยให้บริการจัดหาสัญญาประกันภัยต่ออย่างครบวงจร ที่กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 60 ล้านหุ้น เข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) ในวันที่ 17 ก.พ.นี้ ราคาหุ้นละ 5.10 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัท โดยระดับราคาดังกล่าวเทียบเท่ากับ Forward P/E ที่ 14 เท่า

เมื่อธุรกิจประกันภัยมีการเติบโตระดับสูง ! สะท้อนผ่านเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นโอกาสในการเติบโตในอนาคตสูง โดยประเมินอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมประกันเฉลี่ยต่อปีเป็นตัวเลขสองหลัก 

ฉะนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจประกันจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงของตนเองออกไปด้วย จึงเป็นที่มาของ 'ธุรกิจเป็นนายหน้าประกันภัยต่อ' (Reinsurance Broker) ที่เป็นตัวกลางในการให้บริการจัดหาสัญญาประกันภัยต่ออย่างครบวงจรโดยให้บริการตั้งแต่การให้คำปรึกษาแก่บริษัทประกันภัยเพื่อจัดหาสัญญาประกันภัยต่อแบบสัญญาและสัญญาประกันภัยต่อแบบเฉพาะราย 

การขยับตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในครานี้แน่นอนว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ 'อัญชลิน-นภัสนันท์ พรรณนิภา' ผู้ก่อตั้งและหุ้นใหญ่ บมจ.ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น หรือ TQM ถือหุ้นใหญ่ใน TQR สัดส่วน 44.35% (ตัวเลข ณ หลังเสนอขายหุ้น IPO) 

'ชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TQR เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า 'ครอบครัวพรรณนิภา' เข้ามาถือหุ้นตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งบริษัทในปี 2555 ตอนนั้นยอมรับไม่รู้ธุรกิจจะประสบความสำเร็จหรือไหม แต่เมื่อมีนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาร่วมลงทุนทำให้มีความอุ่นใจขึ้น ซึ่ง 1-2 ปีแรกธุรกิจขาดทุนสุทธิทำให้บริษัทลำบาก แต่ได้ครอบครัวพรรณนิภาเข้าใจและใส่เงินเพิ่มทุนเข้ามา 

ทั้ง 'อัญชลิน-นภัสนันท์' ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารงาน จะเจอทั้งสองคนปีละ 1 ครั้ง ในวันประชุมผู้ถือหุ้นเท่านั้น... โดยทั้งสองคนให้เหตุผลว่าไม่ถนัด เคยทำแต่ในแง่รีเทล (รายย่อย) ซึ่งธุรกิจ TQR มีความแตกต่างจากธุรกิจ TOM ดังนั้นให้บริหารธุรกิจไปเลยหากมีปัญหาค่อยมาคุยกัน 

'แต่ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ได้มีการใส่เงินเพิ่มทุนมาให้ เพื่อเสริมฐานเงินทุนในการขยายธุรกิจ ซึ่งในอนาคตบริษัทจะมีความสัมพันธ์ที่ดีเพิ่มมากขึ้นกับผู้ถือหุ้นใหญ่ ตลอดจนส่งเสริมธุรกิจซึ่งกันและกัน'

161302931450

ชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์

@ ทุกความเสี่ยงคือโอกาสเติบโตของ TQR ! 

ดังนั้น แผนระดมทุนคือ การเตรียมความพร้อมพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ สะท้อนผ่านนำเงินไปใช้ในการลงทุนพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพในการให้บริการ (Operational Efficiency Improvement Platform) การลงทุนพัฒนาแบบจำลองทางการเงิน (Financial Model) สำหรับธุรกิจการประกันภัย 

สอดรับการเติบโตระดับตัวเลข 'สองหลัก' มองว่าหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะมีความเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงในรูปแบบใหม่เพิ่มขึ้นอีกมากในธุรกิจประกัน เช่น ประกันการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศญี่ปุ่น มีการทำประกันภัยมูลค่า 2,000 ล้านยูโร ซึ่งประกันภัยดังกล่าวตลาดเมืองไทยยังไม่รู้จัก 

ดังนั้น ในแผนธุรกิจบริษัทยังร่วมวิเคราะห์และพัฒนาการประกันภัยรูปแบบใหม่ๆ ร่วมกับคู่ค้า ตลอดจน ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่จากต่างประเทศและนำมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับธุรกิจประกันภัยของประเทศไทย เช่น ผลิตภัณฑ์ประกันภัยกลุ่มงานอีเวนต์ (event cancellation) ที่ปัจจุบันเริ่มมีผู้ประกอบการรับจัดงานติดต่อบริษัทเข้าไปคุยบ้างแล้ว หรือ การประกันภัยไซเบอร์ (Cyber Insurance) เป็นต้น 

ขณะที่ผลประกอบการ 3 ปี ย้อนหลัง (2560-2562) บริษัทมีกำไรสุทธิ 23.62 ล้านบาท 32.88 ล้านบาท 44.04 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่งวด 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.2563) มีกำไรสุทธิ 68.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79.54% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 38.22 ล้านบาท สร้างสถิติสูงสุดใหม่นับตั้งแต่จัดตั้งบริษัทในปี 2555 

ณ ปัจจุบัน แบ่งประเภทธุรกิจเป็น 2 กลุ่มคือ 'ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อแบบทั่วไป' เป็นตัวกลางระหว่างบริษัทประกันภัยและบริษัทรับประกันภัยต่อ โดยดำเนินการจัดหาสัญญาประกันภัยต่อแบบสัญญา และสัญญาประกันภัยต่อแบบเฉพาะราย สำหรับประกันภัยทุกประเภท

'ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อแบบพัฒนาช่องทางและผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกัน' เป็นตัวกลางระหว่างบริษัทประกันภัยและบริษัทรับประกันภัยต่อ ในการจัดหาสัญญาประกันภัยต่อ ทั้งแบบสัญญาและสัญญาประกันภัยต่อแบบเฉพาะราย

'ปัจจัยหนุนการเพิ่มขึ้นของรายได้กลุ่มธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อแบบพัฒนาช่องทางและผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกัน'

ทั้งนี้ โครงสร้างรายได้มาจากรายได้หลักจากการให้บริการจัดหาสัญญาประกันภัยต่อ โดยบริษัทจะได้รับค่าตอบแทนในรูปแบบของค่านายหน้าประกันภัยต่อ จากบริษัทรับประกันภัยต่อ โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณกว่า 92% ของรายได้รวมทั้งหมด