ครม.ตั้งงบ 275 ล้านบาท หนุนไทยเจ้าภาพจัดประชุมบิมสเทค ครั้งที่ 6

ครม.ตั้งงบ 275 ล้านบาท หนุนไทยเจ้าภาพจัดประชุมบิมสเทค ครั้งที่ 6

ครม.ไฟเขียวกรอบงบประมาณ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมบิมสเทค ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้องในปี 2564 วงเงิน 275 ล้านบาท หนุนไทยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะยาว เสริมบทบาทไทยเชื่อมโยงภูมิภาคเเอเชีย

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อเร็วๆนี้ มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินและรายละเอียดคำของบประมาณประจำปี พ.ศ. 2564 จำนวน 275.02 ล้านบาท สำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมบิมสเทค (BIMSTEC) และการประชุมที่เกี่ยวข้องในปี 2565

โดยประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเป็นประธานบิมสเทค ดังนี้ 1. การใช้โอกาสการเป็นประธานบิมสเทคของไทยอย่างเต็มที่ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคม การเชื่อมโยงทางการค้าและการผลิตเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตระหว่างภูมิภาค ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพประชาชนไทยกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งผ่านการเผยแพร่แนวคิด Bio-Circular-Green Economy (BCG) Model

161235155231

2. การเล่นบทบาท “ผู้เชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกัน” มีความสำคัญต่อการต่างประเทศของไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งการบริหารจัดการประเด็นต่าง ๆ ในภูมิภาค เช่น ส่งเสริมให้อินเดียมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในภูมิภาคและส่งเสริมให้เมียนมามีปฏิสัมพันธ์และเข้าร่วมในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคอย่างมีเสรีภาพ  และ3. การเป็นเจ้าภาพการประชุมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุมระดับผู้นำ เป็นโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจและจ้างงาน เป็นต้น

สำหรับ ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลว่าด้วยความร่วมมือหลากหลายสาขาทางเศรษฐกิจและวิชาการ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) โดยกำหนดแผนให้ประเทศนํา (Lead Country)ทำงานด้านต่างๆประกอบด้วยสาขาการค้าและการลงทุน ประเทศบังกลาเทศ,สาขาเทคโนโลยี ประเทศอินเดีย,สาขาคมนาคมขนส่ง ประเทศบังกลาเทศ,สาขาพลังงาน ประเทศพม่า,สาขาการท่องเที่ยว ประเทศอินเดีย,สาขาประมง ประเทศไทย

ทั้งนี้ ประเทศในกลุ่ม BIMSTEC ที่มีสมาชิกใน 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล ศรีลังกา และไทยหลังจากวิกฤติโควิด-19 กลุ่มประเทศบิมสเตคจะมีแนวโน้มความต้องการสินค้าและบริการจากประเทศไทยมากขึ้น โดยจากการศึกษาพบว่าขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม บิมสเทค ยกเว้นประเทศไทย พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยการบริโภคภายในประเทศคิดเป็นสัดส่วนระหว่าง 55-70.8 % ของมูลค่าผลผลิตรวมภายในประเทศ