“อีอีซี”ดันลงทุน3แสนล้าน รุกเจรจาเป้าหมายรายบริษัท

“อีอีซี”ดันลงทุน3แสนล้าน รุกเจรจาเป้าหมายรายบริษัท

การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในช่วงที่ผ่านมาชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจและการระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะที่ปี 2564 ยังคงมีการระบาด แต่มีความพยายามที่จะเร่งดึงการลงทุนให้ถึง 3 แสนล้านบาท

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 1/2564 ว่า กบอ.รับทราบภาพรวมขอรับส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีรอบปี 2563 มีทั้งสิ้น 453 โครงการ มูลค่าลงทุนสูงถึง 2.08 แสนล้านบาท คิดเป็น 43% ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ เป็นการลงทุนจากต่างประเทศรวม 1.15 แสนล้านบาท คิดเป็น 55% ของมูลค่าขอรับส่งเสริมทั้งหมดใน อีอีซี

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในอีอีซีสูงสุด มูลค่า 50,455 ล้านบาท คิดเป็น 44% รองลงมาเป็นจีน 21,831 ล้านบาท ด้านความคืบหน้าการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนอีอีซีในปี 2563 จาก 453 โครงการ ได้อนุมัติคำขอแล้ว 292 โครงการ คิดเป็น 64% ออกบัตรส่งเสริมแล้ว 172 โครงการ คิดเป็น 59% และได้เริ่มโครงการแล้ว 79 โครงการ คิดเป็น 46% 

ส่วนปี 2564 ตั้งเป้ายอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีจากนักลงทุนไทยและต่างประเทศ ไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของอีอีซีในปีนี้ จะทุ่มเททุกอย่างในการดึงดูดการลงทุนจะปฏิบัติการเชิงรุกเร่งการลงทุนในไทยและในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยดำเนินการร่วมกันทั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หรือ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) 

“จะมีทีมทำงานใกล้ชิด รับฟังประเด็นปัญหาและแก้ไขให้ ออกไปพบนักลงทุน คัดเลือกกลุ่มนักลงทุนเป้าหมาย เพราะกระแสการเคลื่อนย้านทุนจะมาอาเซียน ซึ่งไทยมีศักยภาพดึงดูดการลงทุนจากจุดเด่นโครงสร้างพื้นฐานและโครงสร้างใหม่ที่กำลังลงทุน ทำให้ต่างชาติมั่นใจเข้ามาลงทุนในอีอีซี ที่มีความสะดวกและมีสิทธิประโยชน์น่าสนใจ”

รวมทั้ง สกพอ.และบีโอไอ จะผลักดันร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสนับสนุนเพื่อให้ไทยแข่งขันกับประเทศอื่นได้ หากทุกฝ่ายร่วมมือกันเต็มที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุน และเข้ามาลงทุนในไทนเป็นอันดับต้นของอาเซียน

161218654577

“ผม ทีมงาน สกพอ.และบีโอไอ ไปพบภาคเอกชนไทยขนาดใหญ่ 23 บริษัท ซึ่งพร้อมเป็นพันธมิตรที่ดีกับนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งการร่วมลงทุนกับนักลงทุนที่ยังไม่เคยลงทุนในไทย เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทุน ซึ่งรัฐบาลจะใช้ทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่ในการดึงดูดการลงทุน โดยวันนี้โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เดินหน้าเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 จะพิจารณาอนุมัติเร็วๆ นี้”

นอกจากนี้ จะเดินหน้าระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (อีเอฟซี) ช่วยเกษตรกรรายได้มั่นคง ผลไม้ไทยแข่งขันได้ทั่วโลก ซึ่งเป็นโครงการหลักของแผนพัฒนาภาคเกษตรในอีอีซี โดยลงนามเอ็มโอยูการจัดทำระบบห้องเย็น เกิดความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ 

1.สกพอ.วางกลไกบริหาร ประสานเอกชน ผู้นำท้องถิ่น สหกรณ์ พร้อมพัฒนาการแปรรูป ประมูลสินค้า และการส่งออก สร้างรายได้สูงสุดตรงสู่เกษตรกร 

2.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงทุนระบบห้องเย็นขนาด 4,000 ตัน ด้วยเทคโนโลยีคงคุณภาพผลไม้ให้เหมือนเก็บจากสวน ยืดอายุไม่ต้องรีบส่งขาย 

3.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดหาพื้นที่บริเวณสมาร์ทปาร์ค มาบตาพุด โดยระบบห้องเย็นจะนำร่องด้วยทุเรียนและผลไม้อื่น ต่อยอดไปอาหารทะเลที่รักษาความสดใหม่ให้เกษตรกรขายได้ตลอดปี มีรายได้มั่นคง ผลไม้ไทยแข่งขันได้ทั่วโลก พร้อมก้าวสู่ศูนย์กลางตลาดผลไม้โลก รวมทั้งได้ศึกษาตลาด วางระบบการค้า พัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่

การขับเคลื่อน อีเอฟซี จะยกระดับภาคเกษตรไทย โดยนำเทคโนโลยีทันสมัยช่วยสนับสนุน การค้า การขนส่ง การเพาะปลูก ผลผลิตตรงความต้องการของตลาด ผ่านการขับเคลื่อนใน 4 แนวทางหลัก 

1.ศึกษาความต้องการตลาด เน้นทุเรียน มังคุดและผลไม้ภาคตะวันออก สำรวจตลาดทั้งในและต่างประเทศ ถึงรสนิยมผู้บริโภค โดย สกพอ.เริ่มศึกษาจากผู้บริโภคชาวจีน

2.วางระบบการค้าสมัยใหม่ผ่าน e-commerce และ e-Auction พัฒนาและลงทุนบรรจุภัณฑ์ ขนส่งทางอากาศได้จำนวนมากและสะดวก เกษตรกรได้รับรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง 

3.ทำระบบห้องเย็นทันสมัยจึงรักษาคุณภาพผลไม้สดใหม่เหมือนเก็บจากสวนส่งขายได้ตลอดปี โดยเปิดดำเนินการระยะแรกภายใน 12 เดือน 

4.จัดระบบสมาชิก อบจ.ระยอง รวบรวมสมาชิกสวนทุเรียนเพื่อนำร่อง โดยสมาชิกที่ร่วมจะต้องใช้เทคโนโลยีพัฒนาผลผลิตที่ได้มาตรฐาน ตรงความต้องการตลาด

นอกจากนี้ มีแผนพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) แหลมฉบัง ก้าวสู่ศูนย์กลางขนส่งสินค้านานาชาติ ซึ่งได้ลงนามศึกษาการพัฒนาท่าเรือบกระหว่างการ ท่าเรือแห่งประเทศไทย  (กทท.) กับ บริษัทอมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ศึกษาแนวทางการลงทุนรูปแบบการให้บริการขนส่ง กำหนดแผนงานที่เหมาะสมการพัฒนาท่าเรือบก ในเขต Amata Smart & Eco City ในลาวไปท่าเรือแหลมฉบัง 

ทั้งนี้ เพื่อเชื่อมระบบขนส่งและโลจิสติกส์ไทยให้เป็นโครงข่ายการขนส่งสินค้าเปิดประตูการค้าให้ลาวที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และสนับสนุนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยพัฒนาท่าเรือบกให้เชื่อมโยงขนส่งสินค้าจากจีน ลาวและไทย ขับเคลื่อนท่าเรือแหลมฉบังก้าวสู่ศูนย์กลางการค้า การบริการและการลงทุน โดยความร่วมมือศึกษานี้จะเสร็จ ก.ค.นี้

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินได้เร่งรัดส่งมอบเปิดพื้นที่ก่อสร้างเสร็จตามแผนโดยการรื้อย้ายสาธารณูปโภค เพื่อเปิดพื้นที่ก่อสร้าง พร้อมส่งมอบพื้นที่ส่วนใหญ่ได้ภายใน มี.ค.นี้ และการส่งมอบพื้นที่เวนคืนอยู่ขั้นตอนการทำสัญญาซื้อขาย โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ส่งมอบอย่างช้า ก.ย.นี้