ค้าโลกคลายล็อกดาวน์ คืนชีพ 'หุ้นกลุ่มเดินเรือ' !

ค้าโลกคลายล็อกดาวน์ คืนชีพ 'หุ้นกลุ่มเดินเรือ' !

แม้โควิด-19 ไม่คลี่คลาย ยังพบการระบาดระลอก2ต่อเนื่อง ทว่า!การค้าโลกต้องเดินหน้า ฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลายประเทศจึงเริ่ม 'คลายล็อกดาวน์' ดันธุรกิจ 'กลุ่มเดินเรือ' ครึ่งปีหลัง ส่อเค้ากลับมาสดใส '4เอกชนเดินเรือ' ใส่เกียร์ธุรกิจ ขานรับค่าระวางเรือแล่นฉิว

เมื่อสถานการณ์การเติบโตเศรษฐกิจทั่วโลกเปราะบาง ! สะท้อนผ่านการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ที่ยังคงระบาด 'รุนแรง' ในหลายประเทศ หลังพบจำนวน 'ผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวัน' (New Case) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในปัจจุบันกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) กำลังเผชิญทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการ 'ปิดเมือง' (Lockdown) เป็นเวลา 1 เดือนกลับมาใช้อีกครั้ง...

ที่ผ่านมาจากการล็อกดาวน์ของหลายประเทศ หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบต้องยกให้ 'ธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือ' หลังจากหลายประเทศต้องชะลอ หรือยกเลิกการนำเข้าและส่งออกสินค้าจากต่างประเทศเป็นการชั่วคราว

แม้ว่าท่าเรือขนส่งสินค้าของหลายประเทศไม่ได้หยุดดำเนินการทั้งหมด แต่ก็ไม่สามารถดำเนินงานได้เต็มประสิทธิภาพเฉกเช่นเคย ส่งผลให้การขนส่งสินค้าทางเรือเกิดความล่าช้า เนื่องจากบางประเทศแรงงานลดลงเพื่อสกัดกั้นโควิด-19 ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งประเทศที่พึ่งพาส่งออกสัดส่วนใหญ่ในการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี

สะท้อนผ่าน สถานการณ์ส่งออกไทยครึ่งปีแรกของปี 2563 'หดตัวรุนแรง' โดยเฉพาะเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ตัวเลขส่งออกไทย 'ติดลบถึง 23.17%' ขณะที่คาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจไทย คาดว่าจีดีพี จะหดตัวลงไม่ต่ำกว่า 7.7% โดยประเมินกันว่าเศรษฐกิจประเทศไทย ได้รับผลกระทบหรือติดลบมากที่สุดในอาเซียน !

160466368427

ทว่า 'การค้าโลก' ไม่สามารถหยุดชะงักได้นานอีกต่อไป เนื่องจากจะส่งผลลบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกให้ถดถอยรุนแรง ! ดังนั้น หลายประเทศจึงจำเป็นต้องเลือกมาตรการ "ผ่อนคลายการล็อกดาวน์" เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าโลกกลับมาดำเนินการได้ต่อไป

6 เดือนก่อนหมดปี 2563 มาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ ทำให้เศรษฐกิจหลายประเทศเริ่มกลับมาเดินได้ ส่งผลให้ทิศทางเศรษฐกิจเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว สะท้อนผ่านหลายหน่วยงานที่ออกมาปรับประมาณการเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นไปทิศทางดีขึ้นหรือติดลบน้อยลง ! จากช่วงต้นปี 2563 อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และ ธนาคารโลก ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและสหรัฐ รวมถึงดัชนีทางเศรษฐกิจที่เริ่มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิต (PMI) อยู่ที่ระดับมากกว่า 50

มาวันนี้ดูเหมือนการ 'ส่งออก' เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว ! สอดรับกับ 'กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์' ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ที่คาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยปี 2563 จะติดลบลดลงอยู่ที่ 7% จากเดิมคาดการณ์ ติดลบ 8-10% เนื่องจากการส่งออกในครึ่งปีหลังโดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาส 3 ปี 2563 ตัวเลขติดลบลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ที่การส่งออกไทยติดลบมากที่สุดของปี 2563

'ตัวเลขส่งออกเดือนก.ย. ติดลบเพียง 3.86% ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าการค้าโลกเริ่มทำธุรกิจกันมากขึ้น ซึ่งไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดของการส่งออกมาแล้ว ขณะนี้อยู่ในช่วงของการฟื้นตัว' 

สอดคล้องกับ 'ดัชนีค่าระวางเรือ' หรือ Baltic Dry Index (BDI) กำลังเดินเข้าสู่ 'ขาขึ้น' โดยเคลื่อนไหวสูงสุดในเดือนก.ค. 2563 อยู่ที่ 1956 จุด ! ซึ่งปัจจุบันค่าระว่างเรือเคลื่อนไหวระหว่าง 1,200-1,900 จุด เทียบกับช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 ที่มีค่าเฉลี่ย 783 จุด ฉะนั้น ทำให้มองเห็นภาพการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานของกลุ่มขนส่งทางเรือในไตรมาส 3 ปี 2563 จะกลับมาขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ หากเทียบกับสถิติในอดีตที่ประเมินจุดคุ้มทุนของค่าระวางเรือเฉลี่ยประมาณ 2,000 จุด

เหตุผลหลักๆ คือ สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจีนที่กำลังเข้าสู่ภาวะปกติ ประกอบกับทางการของจีนเริ่มอนุญาตให้กลับมาทำกิจรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติอีกครั้งแล้ว ดังนั้น กลุ่มธุรกิจเดินเรือที่มีการขนส่งสินค้าไปจีนอย่างธุรกิจเรือเทกอง จึงได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวในส่วนนี้นั่นเองอย่างชัดเจน

สารพัด 'ปัจจัยบวก' กำลังเป็นโอกาสของ '4 หุ้นกลุ่มเดินเรือ' ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) อย่าง บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ หรือ TTA , บมจ. พรีเชียส ชิพปิ้ง หรือ PSL บมจ. อาร์ ซี แอล หรือ RCL และ บมจ. พริมา มารีน หรือ PRM ให้ผลดำเนินงานครึ่งปีหลัง 2563 พลิกกลับมา 'สดใส' ได้อีกครั้ง !

'Sentiment เชิงบวกจากดัชนีค่าระวางเรือ BDI ที่ไต่ระดับขึ้นมา รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากตัวเลข PMI ภาคการผลิตจีน , สหรัฐ และยุโรปที่ดีกว่าคาดทำให้ผลประกอบการครึ่งปีหลังกลุ่มเดินเรือมีโอกาสฟื้นตัวมากยิ่งขึ้น'

สะท้อนผ่านผลประกอบการของบริษัทที่ประกอบธุรกิจเดินเรือที่จดทะเบียนไทยในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) 3 ปีย้อนหลัง (2560-2562) โดยกำไรสุทธิหรือพลิกขาดทุนสุทธิ ของ หุ้น TTA  มีกำไรสุทธิ 588.36 ล้านบาท  210.02 ล้านบาท และ 562.59 ล้านบาท หุ้น PSL  ขาดทุนสุทธิ 129.48 ล้านบาท กำไรสุทธิ 456.20 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 228.49 ล้านบาท 

หุ้น RCL กำไรสุทธิ 533.26 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 357.74 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 491.75 ล้านบาท หุ้น PRM  กำไรสุทธิ 717.93 ล้านบาท 711.82 ล้านบาท และ 1,023.38 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่ผลประกอบการครึ่งปีแรก ปี2563 ธุรกิจได้รับผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประกาศตัวเลขอยู่ที่ หุ้น TTA พลิกขาดทุนสุทธิ 700.15 ล้านบาท หุ้น PSL ขาดทุนสุทธิ 1,300.17 ล้านบาท หุ้น RCL กำไรสุทธิ 227.33 ล้านบาท และ PRM กำไรสุทธิ 708.43 ล้านบาท

สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) พบว่า ตัวเลขของ 'มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด' (มาร์เก็ตแคป) ปี 2562-ปัจจุบัน ปรับลดลงมาต่อเนื่อง โดย TTA อยู่ที่ 8,091.74 ล้านบาท เหลือ 5,102.90 ล้านบาท PSL อยู่ที่ 11,850.62 ล้านบาท เหลือ 7,734.09 ล้านบาท ขณะที่ RCL  อยู่ที่ 2,933.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,759.81 ล้านบาท และ PRM อยู่ที่ 17,750.00 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,750.00 ล้านบาท ตามลำดับ  

160466316297

'คาลิด มอยนูดดิน ฮาชิม' กรรมการผู้จัดการ บมจ. พรีเชียส ชิพปิ้ง หรือ PSL กล่าวในงาน Opportunity Day เมื่อเร็วๆนี้ว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 คาดว่าภาพรวมธุรกิจจะฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ของระบาดโควิด-19 น่าจะคลี่คลาย โดยมองว่าอุตสาหกรรมเดินเรือในปี 2563 จะมีทิศทางที่ดีกว่าปี 2562 เนื่องจากความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.7% จากเดิม 1.1%

และกองเรือบางส่วนของอุตสาหกรรมจะมีการปลดระวางบางส่วน จากการเริ่มใช้มาตรการ IMO ที่ทำให้เรือเก่าไม่สามารถนำมาใช้งานได้ ซึ่งจะทำให้ค่าระวางเรือของอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นได้และเป็นประโยชน์แก่กองเรือบริษัทอีกด้วย

'เฉลิมชัย มหากิจศิริ' กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ หรือ TTA เปิดเผยว่า มีโอกาสที่บริษัทจะปรับลดเป้ารายได้ปี 2563 ลงจากเดิมโต 10-15% ซึ่งเป็นผลจากโควิด-19 แต่เชื่อว่าธุรกิจเดินเรือจะมีกำไรเพิ่มขึ้น ตามค่าระวางเรือที่ปรับขึ้นในเดือนมี.ค. 2563

'จิเทนเดอร์ พอล เวอร์มา' ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสและประธานเจ้าหน้าที่การเงิน TTA เปิดเผยในงาน Opportunity Day ว่า ในครึ่งปีหลังของปี 2563 บริษัทคาดว่าจะพลิกมามีกำไร จากแนวโน้มธุรกิจขนส่งทางเรือ และบริการนอกชายฝั่งที่คาดว่าจะฟื้นตัวดี แต่จากครึ่งปีแรกที่ขาดทุน 700 ล้านบาท ยังประเมินว่าผลการดำเนินงานทั้งปีจะออกมาเป็นขาดทุนสุทธิ

'ปีนี้จะพลิกกลับมาเป็นกำไรได้ในครึ่งปีหลัง แต่คงไม่ชดเชยขาดทุนในครึ่งปีแรก แต่ผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังน่าจะดีมาก ทั้งนี้ต้องดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ด้วย'

สำหรับแนวโน้มธุรกิจในครึ่งปีหลังของปี 2563 มองว่า กลุ่มที่จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ ยังอยู่ที่กลุ่มขนส่งทางเรือ และบริการนอกชายฝั่ง ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 60-70% เป็นผลจากการส่งออกสินแร่เหล็ก ทั้งจากบราซิล และออสเตรเลีย ขณะที่เศรษฐกิจจีน คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้

160466350686

เฉลิมชัย มหากิจศิริ

'บุญรักษ์ ลี้ประกอบบุญ' ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ. พริมา มารีน หรือ PRM เปิดเผยในงานบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Opportunity Day) ว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 บริษัทมีแผนจะใช้เงินลงทุน จำนวน 2,200 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการรับมอบเรือขนาด 3 ล้านลิตร ที่สั่งต่อประกอบไว้แล้วก่อนหน้านี้ มูลค่า 200 ล้านบาท เพื่อรองรับลูกค้าผู้ประกอบการน้ำมันรายใหญ่ของประเทศ ขณะเดียวกันยังคงมองหาการซื้อเรือประเภท FSU จำนวน 2 ลำ มูลค่า 2,000 ล้านบาท

ในช่วงที่เหลือของปีมีโอกาสที่บริษัทจะกลับรายการด้อยค่าเรือที่เตรียมขาย 1-2 ลำ ในไตรมาส 2 ของปี 2563 เนื่องจากแนวโน้มราคาเหล็กในขณะนี้มีโอกาสจะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาส 2 ปี 2563 บริษัทได้ตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าดังกล่าว จำนวน 20.5 ล้านบาท

'วิริทธิ์พล จุไรสินธุ์' ผู้อำนวยการสายงานการเงินและบัญชี PRM เปิดเผยว่า ผลประกอบการในปีนี้หลังจากที่บริษัทได้ปรับเพิ่มเป้าหมายรายได้เป็นเติบโต 15% จากเดิมที่คาดเติบโต 10-12% เนื่องจากธุรกิจเรือขนส่งและกักเก็บปิโตรเลียมทางทะเล หรือ FSU ที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งทุกอย่างยังคงเป็นไปตามแผนที่วางไว้

หุ้นเรือวิ่งฉิวตามค่าระวางพุ่ง !

'สยาม ติยานนท์' นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป บอกว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของกลุ่มขนส่งทางเรือไตรมาส 3 ปี 2563 คาดว่าจะธุรกิจจะพลิกกลับมาเป็นกำไรเนื่องจากค่าระวางเรืออยู่ในระดับสูงขึ้น ซึ่งเมื่อรายได้ที่เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย จึงเป็นเหตุผลให้กำไรฟื้นตัวขึ้นมาก

สำหรับทิศทางไตรมาส 4 ปี 2563 ยังดีต่อเนื่อง คาดยังได้รับผลดีจากค่าระวางเรือที่ปรับตัวขึ้นในไตมาส 3 ปี 2563 แม้ช่วงแรกอาจอ่อนลงจาก Golden Week ของจีน แต่มองหลังผ่านพ้นน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง อีกทั้ง IMF จะปรับคาดการณ์จีดีพีปีนี้ติดลบน้อยลง นั่นแสดงถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่จะดีขึ้น หนุนธุรกิจเดินเรือให้สดใส

160466336014

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่า แนวโน้มกลุ่มขนส่งทางเรือในไตรมาส 3 ปี 2563 คาดจะฟื้นตัวได้ชัดเจน จากดัชนี BDI เคลื่อนไหวระหว่าง 1,200 -1,900 จุด เทียบกับไตรมาส 2 ปี 2563 ที่เฉลี่ยเพียง 783 จุด ทำให้มองว่าผลการดำเนินงานจะฟื้นได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยประเมินระดับคุ้มทุนที่ BDI เฉลี่ย 2,000 จุด จากสถิติในอดีต

อย่างไรก็ตาม คาดว่ากลุ่มขนส่งทางเรือน่าจะเริ่มทยอยฟื้นตัวในไตรมาส 3 ปี 2563 เป็นต้นไป จากแนวโน้มธุรกิจขนส่งทางเรือ และบริการนอกชายฝั่งที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดี และในหลายประเทศเริ่มคลายล็อกดาวน์ให้ภาคธุรกิจเริ่มกลับมาเดินได้อีกครั้ง หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในบางประเทศเริ่มคลี่คลายบ้างแล้วโดยเฉพาะในเอเชีย อย่าง จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น และมองว่ายังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เป็นตัวช่วยอีกด้วย

'หลังจากคลายล็อกดาวน์ทั่วโลก รวมถึงประเทศจีนที่กลับมาเปิดประเทศ ทำให้ BDI กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง แม้จะยังอยู่ในระดับต่ำไม่ แต่ก็เพียงพอกับการออกจากจุดต่ำสุดของวิกฤติครั้งนี้ ดังนั้นมองว่าครึ่งปีหลังธุรกิจจะฟื้นตัว'