'คนจน' ในประเทศส่อเพิ่ม หลังโควิดโจมตีเศรษฐกิจไทย

 'คนจน' ในประเทศส่อเพิ่ม หลังโควิดโจมตีเศรษฐกิจไทย

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เผยแพร่รายงานเรื่องการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2562 โดยเป็นข้อมูลที่ทำการสำรวจสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยระหว่างปี 2561 - 2562 

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เผยแพร่รายงานเรื่องการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2562 โดยเป็นข้อมูลที่ทำการสำรวจสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยระหว่างปี 2561 - 2562 

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในปี 2562 สถานการณ์ความยากจนในปี 2562 ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ในปี2563และต่อเนื่องจากนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญสถานการณ์ที่ไม่เหมือนเดิมหลัง“โควิด-19”จู่โจมเศรษฐกิจไทยอย่างหนัก 

ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่กำลังจะเปลี่ยนไปจากนี้พบว่า พื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยมีโครงสร้างหนึ่งที่เรียกว่า “คนจน” ซึ่งที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลง โดยสัดส่วนคนจนลดลงจาก 9.85% ในปี 2561 มาอยู่ที่ 6.24 % ในปี 2562 หรือมีคนจนจำนวน 4.3 ล้านคน ลดลงจาก 6.7 ล้านคน ในปีก่อนหน้า

ปัจจัยหลักที่ทำให้แนวโน้มคนจนลดลงคือ ผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ และผลของการขยายมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ของภาครัฐ เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ เป็นต้น 

160345988212

การดำเนินการตามนโยบายต่างๆ ส่งผลให้ภาพรวมคนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 9,847 บาทต่อคนต่อเดือนเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีรายได้ 9,614 บาทต่อคนต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้น2.42%  ขณะที่ครัวเรือนยากจนมีรายได้เพิ่มขึ้น จาก 2,823 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2560 เป็น 3,016 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้น 6.81%  

“การที่คนจนมีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ชี้ให้เห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าวผลประโยชน์ ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปี ตกกับคนยากจนมากขึ้น นอกจากนี้สัดส่วนคนจนปี 2562 ที่ 6.24% ทำให้ประเทศไทยบรรลุวัตถุประสงค์ตาม เป้าหมายในการแก้ปัญหาความยากจนตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12”

สาระสำคัญของแผนพัฒนาฯฉ.12 ว่าด้วยเป้าหมายให้สัดส่วน ประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนลดลงเหลือ 6.5% ณ สิ้นแผนพัฒนาฯในปี 2564  โดยการบรรลุผลการลดจำนวนความยากจนสะท้อนถึงการประสบความสำเร็จในการลดปัญหาความยกกจน และการให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจนของภาครัฐ

 อย่างไรก็ตาม แม้สัดส่วนคนจนในภาพรวมจะมีแนวโน้มลดลง แต่การรักษาระดับสัดส่วนคนจนให้อยู่ใน ระดับต่ำต่อไปจนสิ้นแผนพัฒนาฉบับที่ 12 ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เนื่องจากในปี 2563 ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการจ้างงานเป็นวงกว้าง และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องยาวนานจนทำให้สถานการณ์ความยากจนเลวร้ายยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้ ประเทศไทยไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการลดสัดส่วนประชากรยากจนให้ต่อเนื่องถึงระยะสิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้

เมื่อถามว่าใครคือคนจน สศช.ระบุว่าเส้นความยากจน (Poverty Line) ที่ใช้ในการเก็บข้อมูลล่าสุดใช้ระดับค่าใช้จ่ายมาตรฐานขั้นต่ำที่คนจะดำรงชีวิตอยู่ได้ (Minimum Requirement) ในสังคม โดยคนที่มีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพต่ำกว่าเส้นความยากจน จะถือว่าเป็นคนจน ทั้งนี้ในปี 2562 เส้นความยากจนอยู่ที่ 2,763 บาทต่อคนต่อเดือน เพิ่มจาก 2,710 บาทต่อคนต่อเดือน ใน ปี 2561 โดยสัดส่วนคนจนที่มีรายได้ต่ำที่สุดของประเทศมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนลงไปอีก 20% โดยกลุ่มคนดังกล่าวมีจำนวนมากถึง 1.28 ล้านคน 

ทั้งนี้ ด้านผลการสำรวจในระดับครัวเรือนพบว่ามีครัวเรือนยากจจนในปี 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.31 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นสัดส่วน 5.04% ของครัวเรือนทั้งหมด ลดลงเมื่อเทียบกับ 1.85 ล้านครัวเรือน หรือ 7.64 % ในปี 2561 ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์ความยากจนจะมีความผันผวนในบางช่วงเวลา แต่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องสะท้อนแนวโน้มที่ดีขึ้น ของสถานการณ์จนของประเทศไทย 

นอกจากนี้สิ่งที่รายงานของ สศช.พบยังระบุว่าแม้ว่าคนยากจนจะลดลงทั้งกลุ่มคนยากจนน้อย และคนยากจนมาก แต่คนเกือบจนกลับมีอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อพิจารณาคนเกือบจนหรือกลุ่มประชากรที่ไม่ใช่คนยากจนแต่มีรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ใกล้เคียงกับเส้นความยากจน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าประชากรในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นคนยากจนได้ง่าย หากมีปัญหามากระทบ เช่น การเจ็บป่วย การว่างงาน อุบัติภัย ฯลฯ

ทั้งนี้พบว่าในปี 2562 คนเกือบจนมีจำนวน ทั้งสิ้น 5.40 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน7.79% ของประชากรทั้งประเทศ แม้ว่าจะมีจำนวนลดลงจากปีก่อนที่มีจำนวน 5.55 ล้านคน แต่ยังต้องเฝ้าระวังและมีมาตรการดูแลช่วยเหลือต่อเนื่องเพื่อไม่ให้คนกลุ่มนี้ตกไปเป็นกลุ่มคนจน โดยเฉพาะมาตรการการส่งเสริมการมีงานทำ และช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยซึ่งต้องมีมาตรการช่วยเหลือต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมมากขึ้น และควรมีมาตรการในการช่วยเหลือให้ครัวเรือนที่ยากจนหรือมีความเสี่ยงที่ยากจนมีรายได้เพิ่มขึ้นและสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว