Have Fund : ‘หุ้นญี่ปุ่น’อีกทางเลือกลงทุน

Have Fund : ‘หุ้นญี่ปุ่น’อีกทางเลือกลงทุน

ช่วงที่ผ่าน เชื่อว่าสายตาผู้ลงทุนทั่วโลกน่าจะจับจ้องไปที่หุ้นในสหรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งราคาหุ้นพุ่งทะยานต่อเนื่องสวนทางกับเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ในช่วง 1 – 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

เมื่อตลาดหุ้นสหรัฐปรับฐาน นักลงทุนบางกลุ่มจึงเริ่มมองหาจุดหมายการลงทุนใหม่ ซึ่ง "ญี่ปุ่น" ก็ดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในนั้น ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในญี่ปุ่นเริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยสูงสุดเกือบ 2,000 คน เมื่อต้นเดือน ส.ค. ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 300 – 500 คน ขณะที่ดัชนี Nikkei 225 ในปีนี้จากที่เคยติดลบ 30% ปัจจุบันลดช่วงลบลงมาเหลือเพียง 1%

สำหรับกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ผลการดำเนินของก็ค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งกองทุนหุ้นญี่ปุ่นดูเหมือนจะโดดเด่นขึ้นมาด้วยผลตอบแทนราว 4-5% อย่างกองทุนเปิดกรุงศรีเจแปนอิควิตี้อินเด็กซ์เฮดจ์เอฟเอ็กซ์ หรือ KF-HJPINDX ซึ่งเป็นกองทุนแบบ Feeder Fund มีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ ชื่อ Nikkei 225 Exchange Traded Fund ขณะที่นโยบายการลงทุนของกองทุนหลักจะมุ่งให้ผลประกอบการเคลื่อนไหวตามดัชนีชีวัด

ปัจจุบัน KF-HJPINDX ลงทุนในกองทุนหลักด้วยสัดส่วน 94.85% จากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 150.15 ล้านบาท ส่วนพอร์ตลงทุนของกองทุนหลักจะเน้นกระจายการลงทุนอยู่ในหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า 18.40% ค้าปลีก 12.50% สื่อสาร 10.50% เวชภัณฑ์ 10.20% และเคมิคอล 8%

โดยหลักทรัพย์ที่ลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ Fast Retailing สัดส่วน 10.14% Softbank Group 5.31% Tokyo Electron 3.91% Fanuc Corporation 3.23% และ Daikin Industries 2.97%

สำหรับผลการดำเนินงานของกองทุนนี้ที่ผ่านมาโดยเฉลี่ย 3 ปี เพิ่มขึ้น 6.02% ขณะที่หนึ่งปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 5.89% ส่วน 6 เดือนล่าสุดเพิ่มขึ้น 14.40% และหากพิจารณานับแต่จัดตั้งกองทุนในเดือน มี.ค. 2560 ผลตอบแทนอยู่ที่ 21.67% อย่างไรก็ตามหากพิจารณาผลตอบแทนนับแต่ต้นปียังคงติดลบ 4.51% ในขณะที่ผลตอบแทนของกองทุนหลักโดยเฉลี่ยนับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 6.71%

ในแง่ความเสี่ยงของกองทุน KF-HJPINDX จัดอยู่ในระดับ 6 จากทั้งหมด 9 ระดับ โดยกองทุนเคยมีผลขาดทุนสูงสุด 31.58% ขณะที่ความผันผวนของผลการดำเนินงาน (Standard deviation) อยู่ที่ 18.07% ต่อปี ด้านความเสี่ยงจากความผันผวนจากค่าเงิน กองทุนมีนโยบายที่จะป้องกันความเสี่ยงบางส่วนของเงินลงทุน 

ส่วนจุดเด่นของกองทุน KF-HJPINDX คือ ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดที่ 1.04% ต่อปี ถือว่าไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับกองทุนอื่นที่เน้นลงทุนต่างประเทศ โดยกองทุนมีค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุน 0.50% ขณะเดียวกันกองทุนยังได้รับการจัดอันดับจาก Morningstar ในระดับสูงสุดที่ 5 ดาว

อย่างไรก็ตาม กองทุน KF-HJPINDX เน้นการลงทุนอยู่ในเฉพาะญี่ปุ่นเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างกระจุกตัว จึงควรกระจายการลงทุนไปยังกองทุนที่เน้นลงทุนในประเทศอื่น หรือในสินทรัพย์อื่นเพิ่มเติม เพื่อกระจายความเสี่ยงของการลงทุน

ทั้งนี้ หากพิจารณาโดยภาพรวมของโอกาสการลงทุนในญี่ปุ่นขณะนี้ โดยเฉพาะในระยะสั้นน่าจะมีโอกาสที่จะเห็นการฟื้นตัวต่อเนื่อง จากดีมานด์ที่ค้างอยู่จะเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น หลังจากที่การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง 

ขณะเดียวกันด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 233 ล้านล้านเยน ก็น่าจะเป็นแรงหนุนอีกทางหนึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องติดตามคือ การแข็งค่าของเงินเยนซึ่งเป็นผลจากความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐ อาจจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจบางส่วน