‘หุ้นการบิน' ยังโคม่า เมิน ‘ซอฟท์โลน’ ปัจจัยเสี่ยงเพียบ

‘หุ้นการบิน' ยังโคม่า  เมิน ‘ซอฟท์โลน’ ปัจจัยเสี่ยงเพียบ

“ธุรกิจสายการบิน” ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้การเดินทางทั่วโลกแทบหยุดชะงัก หลายประเทศรวมทั้งไทยออกมาตรการเข้ม ล็อกดาวน์ปิดประเทศ

ห้ามเที่ยวบินพาณิชย์เข้าออก งดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติชั่วคราว ขณะที่การเดินทางในประเทศชะลอลงเช่นกัน โดยไทยปิดประเทศมาตั้งแต่เดือน เม.ย. ส่งผลให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น “ศูนย์” มาเกือบ 5 เดือนแล้ว ขณะที่ผ่านมาสายการบินต่างๆ ต้องปรับแผนการให้บริการ หยุดบินในเส้นทางบินระหว่างประเทศทั้งหมด ส่วนเส้นทางบินในประเทศปิดบริการไปเป็นเดือนในช่วงที่มีการระบาดหนักๆ

ทำให้ผลประกอบการขาดทุนกันถ้วนหน้า เพราะนอกจากรายได้ที่ดิ่งหนักจากจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายในแต่ละเดือนอีกไม่น้อย ไล่มาตั้งแต่เงินเดือนพนักงานซึ่งถือเป็นต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ไปจนถึงค่าเช่าเครื่องบิน ค่าซ่อมบำรุงรักษาเครื่องบิน ค่าธรรมเนียมขึ้นลงสนามบิน ค่าจอดเครื่องบิน ฯลฯ

แม้ทุกสายการบินจะพยายามรัดเข็มขัดกันอย่างเต็มที่ บางแห่งให้พนักงานหยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน มีการปรับลดพนักงาน หรือ เปิดโครงการสมัครใจลาออก แต่ก็ยังบาดเจ็บสาหัส อย่าง 4 สายการบินที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นไทย ขาดทุนอ่วมเข้าขั้นวิกฤต

นำโดย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI สายการบินประจำชาติซึ่งหยุดบินทั่วโลกมาตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. และอยู่ระหว่างยื่นขอฟื้นฟูกิจการ จากที่ขาดทุน 3 ปีติด มาปีนี้ยิ่งหนัก ครึ่งปีแรกขาดทุนไปแล้ว 28,016.45 ล้านบาท

สายการบินโลว์คอสต์ “ไทยแอร์เอเชีย” ของ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ขาดทุนมา 2 ไตรมาสติดรวม 1,812.80 ล้านบาท ขณะที่สายการบินพรีเมียม “บางกอกแอร์เวย์ส” ของ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ครึ่งปีแรกขาดทุน 3,313.40 ล้านบาท ส่วนบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ยังไม่ส่งงบการเงิน แต่ดูแล้วอาการคงไม่ต่างกัน เพราะแค่ไตรมาสแรกขาดทุนอ่วมถึง 2,330.05 ล้านบาท

ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการสายการบินในประเทศรวมตัวกัน เข้าขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยเฉพาะสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟท์โลน เพื่อเติมสภาพคล่อง ประคับประคองพนักงานและองค์กรให้อยู่รอดท่ามกลางวิกฤต หลังใช้เวลารอคอยนานกว่า 4 เดือน ดูเหมือนจะเป็นผล

โดยวันศุกร์ที่ผ่านมา (28 ส.ค.) ผู้บริหารสายการบินในประเทศ 7 สายการบิน ประกอบไปด้วย ไทยแอร์เอเชีย, ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์, ไทยสมายล์แอร์เวย์, ไทยไลอ้อนแอร์, ไทยเวียตเจ็ท, บางกอกแอร์เวย์ส และนกแอร์ ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่ทำเนียบรัฐบาล ปรากฏว่ามีข่าวดี หลังนายกฯ รับปากว่าจะช่วยจัดหาซอฟท์โลนวงเงินรวม 2.4 หมื่นล้านบาท ตามที่ผู้ประกอบการยื่นขอ โดยมอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลังไปประสานกับสถาบันการเงินของรัฐในการจัดหาแหล่งเงินกู้

เบื้องต้นน่าจะเป็นธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เพราะผู้ประกอบการได้หารือกับธนาคารมาก่อนแล้ว คาดว่าจะได้รับเงินกู้ภายในเดือน ต.ค. นี้ ถือเป็นการต่อลมหายใจให้กับธุรกิจ สามารถประคองการจ้างงานรวมกันกว่า 2 หมื่นคน ให้อยู่รอดไปถึงปีหน้ารอวันที่อุตสาหกรรมฟื้นตัว

ส่วนข้อเสนอเรื่องการลดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าจอดเครื่องบิน ค่า service charge และค่าธรรมเนียมผู้โดยสาร ซึ่งขอให้รัฐบาลขยายเวลาลดค่าธรรมเนียมไปถึงสิ้นปี 2564 แต่นายกฯ รับปากจะขยายให้จนถึงเดือน มี.ค. 2565 นอกจากนี้ ให้กระทรวงการคลังกลับไปพิจารณาต่ออายุการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินอีกด้วย

แม้จะเป็นข่าวดีแต่ราคาหุ้นสายการบินกลับไม่ตอบรับ เพราะธุรกิจยังเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ย สถานการณ์โรคระบาดยังไม่นิ่ง ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดการระบาดรอบใหม่หรือไม่ ส่วนเที่ยวบินในประเทศที่ทยอยกลับมาเปิดให้บริการยังไม่เต็ม 100% มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่รัฐจะให้สิทธิเงินคืนค่าตั๋วเครื่องบิน 2,000 บาท ดูไม่คึกคัก เวลานี้การฟื้นตัวของธุรกิจการบินคงขึ้นอยู่กับว่าเราจะกลับมาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เมื่อไหร่ 

แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะแย่ไปหมด ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น เชื่อว่าช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว ครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก แต่คงไม่ได้เปลี่ยนแบบ “หน้ามือเป็นหลังมือ” ทันที คงต้องค่อยๆ ใช้เวลาปรับตัว เช่นเดียวกับราคาหุ้น ที่การฟื้นตัวคงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป