‘เอ็กซิมแบงก์'เผยลูกค้า‘ประกันส่งออก’พุ่ง70%

‘เอ็กซิมแบงก์'เผยลูกค้า‘ประกันส่งออก’พุ่ง70%

“เอ็กซิมแบงก์” ตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่ม 5.4 พันล้าน หลังหนี้เสียพุ่งแตะ 6.37% ขณะลูกค้าแห่ทำประกันส่งออกโต70% เหตุเริ่มไม่มั่นใจสถานการณ์คู่ค้า พร้อมประเมินสถานการณ์ลูกค้าเริ่มกลับมาดีขึ้นช่วงไตรมาส4 ล่าสุดดัน 3 ผลิตภัณฑ์สินเชื่อหนุนผู้ประกอบการ

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กล่าวว่า ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญไปจำนวน 5.4 พันล้านบาท ส่งผลให้ครึ่งแรกของปีธนาคารมีผลขาดทุนประมาณ 1.4 พันล้านบาท อย่างไรก็ดี ธนาคารมีผลกำไรก่อนการตั้งสำรองดังกล่าวจำนวน 1.1 พันล้านบาท

สำหรับแนวโน้มครึ่งปีหลัง2563 เขายอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะต้องตั้งสำรองฯ เพิ่มโดยขึ้นกับสถานการณ์ แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารประเมินว่าช่วงไตรมาส4 สถานการณ์ต่างๆ จะเริ่มดีขึ้น โดยลูกค้าธนาคารประมาณ 70-80% สามารถฟื้นตัวได้ ส่วนผลกำไรทั้งปี ก็น่าจะมีผลขาดทุน ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของสถาบันการเงินทั่วไป

ทั้งนี้ หนี้เสียของธนาคารในครึ่งแรกของปีนี้ได้ขยับขึ้นเป็น 6.37% จาก 4.6% เมื่อสิ้นปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นราว 30% ส่วนทั้งปี2563คาดว่า จะทรงตัวเท่ากับครึ่งปีแรก สำหรับภาพรวมสินเชื่อนั้น สินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.26 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9 หมื่นล้านบาท หรือ 18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านการทำประกันการส่งออกนั้น มีลูกค้าทำประกันการส่งออกคิดเป็นมูลค่า 9.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.7 หมื่นล้านบาท หรือ 70% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุเพราะผู้ประกอบการเริ่มไม่มั่นใจเกี่ยวกับการชำระสินค้าของผู้นำเข้า จึงทำประกันการส่งออกเพิ่มมากขึ้น

ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการส่งออกได้รับผลกระทบตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เริ่มจากสงครามการค้า มาถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ที่ผ่านมา เราต้องเข้าไปช่วยลูกค้ากว่า 4 พันราย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท หรือ 15% ของผู้ส่งออกในประเทศทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกแบงก์พาณิชย์ปฏิเสธสินเชื่อ

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ ธนาคารได้ออกแพ็คเกจสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือลูกค้า ประกอบด้วย 1.บริการประกันการส่งออกสำหรับผู้ประกอบการขนาดย่อมที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปีหรือจ้างงานไม่เกิน 50 คน ที่เพิ่งเริ่มต้นส่งออก ไม่เคยใช้บริการประกันการส่งออก และมีแผนจะส่งออกมูลค่าไม่สูงนัก สามารถขออนุมัติวงเงินผู้ซื้อกับธนาคารตั้งแต่มูลค่า 1-5 แสนบาท วงเงินรับประกันสูงสุด 2 ล้านบาทต่อรายผู้เอาประกัน

2.สินเชื่อเอ็กซิมเสริมทุนธุรกิจขนาดกลาง เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง วงเงินสูงสุด 80 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 3.75% ต่อปี

3.สินเชื่อเอ็กซิมเสริมไทยเก่ง ซึ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับผู้ส่งออกเอสเอ็มอี ใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1. กลุ่มเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ 2. กลุ่มอาหาร อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และ 3. กลุ่มเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติปรุงแต่งดูแลร่างกาย วงเงินสูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 4.75% ต่อปี และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 4% ต่อปี กรณีส่งออกไป CLMV