'พริมามารีน' 'งบฯสวยสวนโควิด ค่าระวางเรือฟื้น-รายได้ประจำหนุน

'พริมามารีน' 'งบฯสวยสวนโควิด  ค่าระวางเรือฟื้น-รายได้ประจำหนุน

ใกล้เข้ามาแล้วกับฤดูประกาศผลประกอบการประจำงวดไตรมาส 2 ปี 2563 ซึ่งถือเป็นไตรมาสที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะเป็นช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดหนัก กิจกรรมกิจการหลายอย่างต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว สร้างความเสียหายไปแทบทุกธุรกิจ

ดังนั้น หากนักลงทุนหวังจะเลือกหุ้นเก็งกำไรงบฯสวยคงเหนื่อยหน่อย เพราะดูแล้วแย่กันไปหมด แต่หากลองไล่สแกนดูให้ดี ยังพอมีหุ้นเด่นที่ขอเป็น “ชาวสวน” ผลประกอบการโตสวนวิกฤตอยู่บ้าง

โดย บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ PRM เป็นหนึ่งหุ้นที่หลายโบรกฯ เลือกขึ้นมาแนะนำ แม้ว่าการล็อกดาวน์ปิดประเทศจะเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือขนส่งสินค้า โดยเฉพาะในเส้นทางระหว่างประเทศ แต่กลับไม่ได้สร้างความเสียหายรุนแรงเท่ากับที่คาดการณ์กันไว้

เพราะปัจจุบันรายได้หลักของบริษัทอิงกับสัญญาระยะยาวมากขึ้น จึงช่วยลดความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบไปได้เยอะ โดยไตรมาส 1 ที่ผ่านมา มีรายได้จากกลุ่มธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมัยดิบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป (FSU) 715.40 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 47.50% ของรายได้รวมทั้งหมด เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 1 ปี 2562 ที่มีรายได้ 336.90 ล้านบาท หรือ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 28.30%

ตามด้วยธุรกิจเรือขนส่งฯ ในประเทศ มีรายได้รวม 593.20 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 39.40% เทียบกับช่วงไตรมาส 1 ปี 2562 อยู่ที่ 548.80 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 46.20% ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจสามารถสร้างรายได้ที่แน่นอนตามสัญญาระยะยาว

โดยบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า จากการพูดคุยกับผู้บริหารให้ข้อมูลว่าธุรกิจเรือ FSU ในไตรมาส 2 ปี 2563 ยังไปได้สวย หลังบริษัทได้ปรับขึ้นค่าบริการถึง 6 ลำ จากกองเรือทั้งหมด 8 ลำ ราว 20-25% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันในประเทศฟื้นตัวเร็วเกินคาดจากช่วงเดือน เม.ย. ที่ได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโควิด มาเดือน พ.ค.-มิ.ย. กลับสู่ภาวะปกติ หลังโรคระบาดในประเทศเริ่มคลี่คลาย

แนวโน้มไตรมาส 3 ปี 2563 ยังดูดีเพราะจะมีเรือใหม่เข้ามา 2 ลำ แบ่งเป็นเรือ FSU 1 ลำ และ เรือขนส่งน้ำมันในประเทศอีก 1 ลำ สามารถรับรู้รายได้ทันที นอกจากนี้ หากบริษัทตัดสินใจรุกตลาดขนส่งแอลเอ็นจี หลังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไฟเขียวให้โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่สามารถนำเข้าแอลเอ็นจีได้เอง จะเป็นอีกหนึ่งโอกาสครั้งสำคัญของบริษัทในฐานะเบอร์ 1 ในธุรกิจขนส่งน้ำมันในประเทศ

ส่วนการเดินเรือระหว่างประเทศเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นเช่นกัน หลังการระบาดในจีนซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าของโลกผ่อนคลาย นำมาสู่การปลดล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมการค้าการขายค่อยๆ ฟื้นตัว สะท้อนได้จากตัวดัชนีค่าระวางเรือ (Baltic Dry Index) ที่กลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้นอีกครั้ง หลังเป็นขาลงมาตั้งแต่ต้นปี

โดยการเคลื่อนไหวของดัชนีค่าระวางเรือรอบนี้เริ่มอ่อนตัวลงมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2562 จากระดับ 1,600 จุด มาหลุด 1,000 จุด เมื่อต้นปี 2563 และได้เห็นจุดต่ำสุดของปี 398 จุด เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา หลังจากนั้นกลับมาเป็นขาขึ้นโดยตลอด ล้อไปกับการระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มผ่อนคลาย ขณะนี้กำลังพยายามขึ้นทดสอบแนวต้านสำคัญที่ระดับ 2,000 จุด อีกครั้ง ซึ่งดูจากสถานการณ์แล้วมีโอกาสผ่านไปไม่ยาก 

การฟื้นตัวของค่าระวางเรือกลายเป็นปัจจัยบวกสำคัญให้กับกลุ่มเดินเรือ ราคาหุ้นเริ่มไต่ระดับตามๆ กันขึ้นมา นำทีมโดย PRM ที่สตอรี่ดูมีภาษีกว่าคู่แข่ง คาดว่าราคาหุ้นน่าจะผ่านจุดต่ำสุด 3.14 บาท เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ไปแล้ว โดยหากเทียบกับราคาปิดล่าสุด (10 ก.ค.) ที่ 8.80 บาท เท่ากับพุ่งขึ้นมาแล้วถึง 180% ภายในเวลาเพียงแค่ 4 เดือนเท่านั้น

ส่วนเพื่อนๆ ในกลุ่มฟื้นตัวตามๆ กันมา เช่น บริษัท อาม่า มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ AMA ปิดที่ 5.25 บาท เพิ่มขึ้น 116% จากจุดต่ำสุดของปี 2.42 บาท เมื่อวันที่ 30 มี.ค., บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA ราคาขึ้นมาแล้ว 65% จาก 1.88 บาท เมื่อ 25 มี.ค. มาปิดล่าสุดที่ 3.10 บาท

ถามว่าราคาขึ้นมาขนาดนี้จะไปต่อหรือไม่? น่าสนใจหรือเปล่า? ยังซื้อได้มั้ย? คงต้องเฟ้นกันหน่อย เพราะราคาขึ้นมาไม่น้อยแล้ว โอกาสที่จะไปต่ออย่างมั่นคงควรมีสตอรี่ที่ดีช่วยสนับสนุนด้วย