'โควิด' คลี่คลาย แต่เศรษฐกิจยัง 'วิกฤติ'

'โควิด' คลี่คลาย แต่เศรษฐกิจยัง 'วิกฤติ'

แม้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลาย แต่ยังไม่อาจไว้วางใจได้ เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยก็จะยังป่วยหนักอยู่ ล่าสุดแบงก์ชาติคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้รอบใหม่ ประเมินว่าจะหดตัวถึง 8.1%

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ในประเทศไทย แม้ว่าจะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศมาร่วม 1 เดือนเต็มแล้ว แต่สถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่อาจวางใจได้ เพราะตราบใดที่เชื้อตัวนี้ยังไม่หายไปจากโลก หรือยังไม่มีวัคซีนมาป้องกัน เศรษฐกิจไทยก็จะยัง “ป่วยหนัก” อยู่แบบนี้ โดยเฉพาะเวลานี้การระบาดในหลายประเทศทั่วโลกเริ่มกลับมาเป็นประเด็นที่ต้องกังวลกันอีกครั้ง

สาเหตุที่กล่าวเช่นนี้เพราะแต่ไหนแต่ไรมา เศรษฐกิจไทยพึ่งพาเศรษฐกิจจากภายนอกประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นภาค “การส่งออก” หรือ “การท่องเที่ยว” โดยทั้ง 2 ส่วนนี้ คิดเป็นสัดส่วนต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) สูงกว่า 70% ดังนั้นเมื่อต่างประเทศยังเผชิญวิกฤติโควิด กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงหยุดชะงัก การเดินทางระหว่างประเทศยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ภาคการส่งออกกับการท่องเที่ยวของไทยก็จะยังเป็นง่อยอยู่แบบนี้ สะท้อนผ่านตัวเลขการส่งออกและจำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา

กลางสัปดาห์ที่แล้ว “กระทรวงพาณิชย์” แถลงตัวเลขการส่งออกไทยเดือน พ.ค.2563 “หดตัว” ถึง 22.5% ซึ่งตัวเลขนี้ถ้าหัก “ทองคำ” ออกไป การส่งออกในเดือนดังกล่าวจะหดตัวสูงถึง 27.8% เป็นการหดตัวมากสุดในรอบเกือบ 11 ปี

และในวันเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” ประกาศตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ใหม่ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะหดตัวถึง 8.1% หากเป็นไปตามที่แบงก์ชาติประเมินไว้จริง เท่ากับว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะ “ติดลบ” หนักสุดเป็นประวัติการณ์ หนักกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งวิกฤติคราวนั้น “จีดีพี” ช่วงที่ติดลบหนักสุด คือ 7.6% ในปี 2541

วันนี้แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศจะเริ่มกลับมาเดินเครื่องได้บ้างแล้ว หลังรัฐบาลทยอยคลายล็อกดาวน์ แต่กำลังซื้อของผู้คนจำนวนไม่น้อยยังไม่กลับมาอย่างเต็มที่ โดยประเด็นที่ “นักเศรษฐศาสตร์” จับตาดูในเวลานี้ คือ ตัวเลขหนี้ที่ภาคธุรกิจและประชาชนรายย่อยขอรับการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินต่างๆ ว่า จะมีพัฒนาการไปอย่างไร เพราะปัจจุบันหนี้เหล่านี้มีมูลค่ารวมกันสูงกว่า 6.84 ล้านล้านบาท โดยเป็นหนี้ของประชาชนรายย่อยสูงถึง 3.87 ล้านล้านบาท

มีการประเมินกันว่าในจำนวนหนี้ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างเหล่านี้ หากมีปัญหาขึ้นมามากกว่า 30% ขึ้นไป อาจสั่นสะเทือนระบบสถาบันการเงินได้เช่นกัน นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้แบงก์ชาติ ต้องสั่งให้ธนาคารพาณิชย์ยกการ์ดสูงเข้าไว้ โดยขอให้งดการจ่ายปันผลระหว่างกาลและงดการซื้อหุ้นคืน ...

อย่างไรก็ตาม ในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ยังมั่นใจว่าด้วย “ศักยภาพ” ของ “แบงก์ชาติ” และฐานะเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ที่สะสมบุญเก่าไว้รวมกันเกือบ 3 ล้านล้านบาท น่าจะรับมือปัญหาหนี้เสียได้อย่างสบายๆ เพียงแต่ “กำลังซื้อ” ของผู้คนและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยอาจจะ “ซึมยาว” ดังนั้นการรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้จำเป็นต้องเตรียมแผนระยะยาว!